วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559
รู้กฎหมายแล้วต้องฉลาด
ต่อไปนี้คือกลเม็ดเคล็ดลับที่เด็กนิติได้รับการถ่ายทอดกันมา ไม่ว่าจะโดยตรงหรือจากฎีกา พร้อมคำกำชับว่า "เรียนกฎหมายแล้วต้องฉลาด นะ ลูก นะ"
1. สิ่งที่เซ่อซ่าที่สุดที่คุณไม่ควรจะทำคือ การเซ็นชื่อลงกระดาษเปล่า แล้วมอบให้ผู้อื่นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามมอบให้พร้อมกับเอกสารสำคัญ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือโฉนดที่ดิน โดยไม่ได้ระบุให้ละเอียดว่าจะใช้ทำอะไร เพราะนั่นเป็นการที่คุณบอกคนทั่วไปว่า "เชิญเลยจ๊ะ เชิญเอาเอกสารนี้ไปใช้เพื่อโกงฉันได้เลย"
สาเหตุก็เพราะผู้รับสามารถนำกระดาษเปล่านั้นที่ลงชื่อคุณไปกรอกอะไรก็ได้ จะกรอกว่า คุณยืมเงินเขาเท่านั้นเท่านี้ คุณอนุญาตให้เขาขายทรัพย์สินของคุณได้ โน่นนี่นั่น
ที่เจ็บคืออะไรทราบไหมคะ คือ หากเจ้าคนกลางเอาเอกสารนี้ไป แล้วกรอกว่าคุณอนุญาตให้เขาขายทรัพย์สินให้คนภายนอก หรือคนอื่น ซึ่งเจ้า "คนอื่น" เนี่ย ไม่รู้เลยว่าขายได้เพราะความสะเพร่าของคุณ หากคุณฟ้องเรียกคืน คุณแพ้ เพราะศาลถือว่า คุณประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อฝ่ายที่สามไม่รู้ เขาถือว่าฝ่ายที่สามสุจริต เขาคุ้มครองฝ่ายที่สามค่ะ
เพราะฉะนั้น อย่าทำ!
2. "อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน" คำนี้ยังใช้ได้เสมอ เด็กนิติทั่วไปที่เรียนวิชากฎหมายค้ำประกันจะได้รับการสั่งสอนว่า "หากไม่จำเป็น อย่าไปค้ำประกันให้ใครเป็นอันขาด" เพราะมันเป็นการ "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ" ที่สุดอย่างหนึ่ง
คิดดูเถิด คนยืมเงินก็ไม่ใช่เรา เงินเราก็ไม่ได้เอาไปใช้ เราดันต้องมาร่วมรับผิดด้วยเวลาลูกหนี้หรือคนยืมเงินไม่จ่ายหนี้ ดีไม่ดี เราจะถูกฟ้องล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ ทั้งๆที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสัญญานี้เลยสักนิดเดียว
มันใช่เรื่องมั้ย???
ถ้าเลี่ยงได้ก็หาทางช่วยอีกฝ่ายด้วยวิธีอื่นดีกว่านะ
3. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1366 ได้วางหลักไว้ว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ของตนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ และข้อดีของกฎหมายข้อนี้ก็คือ มันไม่มีอายุความ
ดังนี้ หากทรัพย์ หรือภาษาทั่วไปคือ "ของ" ของคุณ ไปอยู่กับคนอื่น โดยที่คุณไม่ได้ยกให้เขาด้วยความเต็มใจแล้วล่ะก็ คุณมีสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายเรื่องทรัพย์จะไม่มีอายุความเสียสิทธิ แต่ทรัพย์มีอายุความได้สิทธินะคะ หมายความว่า หากใครก็ตามที่ครอบครองทรัพย์ของคนอื่นไว้แบบเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ ครองไว้ 5 ปี ได้กรรมสิทธิ์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ครองไว้ 10 ปีได้กรรมสิทธิ์
อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ ถ้าจู่ๆมีคนมาครองครองของๆคุณไว้ แล้วคุณปล่อยเวลาไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไร
ถ้าเป็นพวกทรัพย์เคลื่อนที่ได้หลาย เช่น แก้วแหวน เสื้อผ้า นาฬิกา เวลาผ่านไปเกิน 5 ปี
ถ้าเป็นพวกทรัพย์อยู่ถาวรทั้งหลาย เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด เวลาผ่านไปเกิน 10 ปี
อีกฝ่ายอ้างได้ว่าเขาได้ความเป็นเจ้าของตามผลของกฎหมายแล้ว.....นะจ๊ะ
เว้นแต่เขาได้ทรัพย์ไปโดยกระทำความผิดอาญาต่อคุณ เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ยักยอก ไรงี้ อายุความ 10 ปี จะไม่เริ่มนับตั้งแต่ครอบครอง แต่เริ่มนับตั้งแต่อายุความในการดำเนินคดีความผิดดังกล่าวพ้นไปก่อน
คำแนะนำแรกคืออย่าพยายามให้ใครมาแสดงความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์เรา หรือถ้ามันเกิดขึ้นแล้วล่ะก็
จงรีบฟ้อง/ติดตาม เอาคืน ให้เร็วที่สุด
4. ให้คนอื่นยืมเงินแต่ไม่มีหลักฐานเหรอ?
เขียนจดหมายไปถามเขาสิ ให้มีเนื้อความว่า เงินที่ยืมไปเมื่อไหร่จะคืน บลาๆๆ ถ้าอีกฝ่ายตอบกลับมาว่า เงินที่ยืมไปนั้น.... พร้อมกับลงชื่อ (ปกติจดหมายมันต้องลงชื่ออยู่แล้วถูกป่าว) นั่นไง หลักฐาน เชิญค่ะ
เพราะกู้ยืมเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพื่อใช้ในการฟ้องคดี และคำว่า "หลักฐาน" ที่ว่านี้ ก็มีเนื้อความสำคัญเพียงสองอย่างเท่านั้น หนึ่งคือมีการยืมเงินกัน สองคือลายมือชื่อ(ลายเซ็นน่ะแหละ)ผู้กู้
แค่นั้น จบ ฟ้องได้แล้วจ้า
แถม ถ้าทำเป็นสัญญาเลยว่ามีการกู้เงินกันเท่านั้นเท่านี้ แล้วลงชื่อสองฝ่ายเลยล่ะก็ ก่อนฟ้อง ต้องติดอากรแสตมป์ ด้วยนะคะ ไม่งั้นศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานนะ
ต่อให้กู้จริง ไม่ติดอากร เจ้าหนี้จบเห่สถานเดียวค่ะ
5. ก่อนจะแสดงความคิดเห็น หรือกล่าวพาดพิงใคร แล้วเล็งเห็นได้ว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นไปในทางลบแล้วล่ะก็ ให้หาก่อนว่าตัวเองมีข้อต่อสู้ข้อใดข้อหนึ่งข้างล่างนี่แล้วหรือยัง
5.1 ฉันติชมด้วยความสุจริต ในฐานะเป็นประชาชน นะ - โดยมาก จะอ้างข้อนี้ได้มักเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ เช่น การปฏิบัติงานของราชการ หรือการกระทำใดที่กระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม เวลาใครแหวกลับมาจะได้อ้างไปว่า "ติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะประชาชน" ไง
5.2 ฉันพูดในฐานะที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย นะ - ตรงตามตัว คือ เรามีส่วนได้เสียในเรื่องที่แสดงความเห็นนั้น ส่วนได้เสียในที่นี้คือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเองกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ หรือเป็นผู้เสียประโยชน์ ก็ตาม
ถ้าใครเคยอ่านบลอกอีกบลอกนึงของเรา จะเห็นบางบทความที่เราเขียนเตือนนั่นนี่ ว่าจะซื้อของนี้ๆๆ ให้ระวังด้วย เพราะเราเคยได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดนั้นมาแล้ว จึงไม่อยากให้ใครเจอแบบเราอีก และเราอาจจะวิจารณ์บางสิ่งอย่างกับร้านค้าด้วย แล้วลงท้ายว่า "ฉันติชมเพราะมีส่วนได้เสีย ได้รับยกเว้นความผิดตามกฎหมาย(โว้ย)"
ถามว่าเรามีส่วนได้เสียยังไง ว่ากันตามตรงคือ เราเป็นผู้เสียหายจากความเสียหายที่เราอ้างถึงเหล่านี้ไงล่ะ เราจึงมาเตือนในฐานะที่เราเคยเจ็บใจกับมันมาก่อน เราย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ถ้าหาเหตุผลเหล่านี้ไม่ได้ จงอย่าแสดงความคิดเห็นให้มันสุดโต่งเกินไปนัก อีกฝ่ายเจ็บใจ เรามีสิทธิโดนลากเข้าตะรางในข้อหาหมิ่นประมาทได้
ปล อันนี้คือตัวอย่างที่กล่าวถึงค่ะ https://alwaysfay.blogspot.com/2016/01/blog-post_23.html
6. แค้นใครมากจนอยากทำร้ายเหรอ?
เตรียมเงินในกระเป๋าไว้สักห้าร้อย(หรือพันนึงก็ได้กันเหนียว) แล้วไปหาคนๆนั้น แล้วอยากทำอะไรก็ทำ จากนั้นก็ไปจ่ายค่าปรับ จบ
แต่!! หลักมีอยู่ว่า ห้ามทำร้ายจนเลือดออก หรือ ให้อาการหนักกว่าเลือดออกนะ ไม่ได้เป็นอันขาด!!!
เพราะตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วเนี่ย ถ้าเราทำร้ายแบบไม่แรง เช่น ฟกช้ำดำเขียว หรือ แดง อะไรงี้ กฎหมายเขาถือว่าเป็นความผิดอันเป็นอันตรายแก่กาย ตามมาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ แค่จ่ายค่าปรับก็ปิดคดีได้
แต่ หากกระทบกระทั่งกันจนถึงเลือดตกยางออกขึ้นมาเนี่ย มันจะไม่ใช่แค่ มาตรา 391 แต่มันจะกระโดดไปเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 หรือถ้าสาหัสก็ 297 ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ลหุโทษแล้ว ยังเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ด้วยล่ะ
งานนี้ ขึ้นศาลสถานเดียว เคราะห์หนักก็ติดคุกล่ะทีนี้
อย่างไรก็ดี หากเลือกได้ อย่าทำร้ายกันเลยหนา ไม่เห็นแก่ตัวเองและคู่กรณีก็เห็นแก่คนอื่นๆบ้าง ครอบครัวเรา ครอบครัวอีกฝ่าย หรือแม้แต่
ธ ผู้เป็นที่รักยิ่งซึ่งมองลงมาจากบนฟ้า..
บ้างเถอะ
อะไรอีกล่ะ นึกไม่ออกล่ะวุ้ย เอาเป็นว่า นึกออกจะมาเพิ่มให้ทีหลังเน่อ ตอนนี้เชิญเอาหลักพวกนี้ไปประยุกต์ใช้กันได้ตามศรัทธา
รู้กฎหมายแล้วต้องฉลาด
อย่าลืมนะ!!!
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)