วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

คดีผู้บริโภค




     ประมาณแปดปีที่แล้ว(ปี 2551)ได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับสินค้าและบริการได้รับความคุ้มครอง  ซึ่งทางภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวกับกฎหมายก็ได้มีการตอบรับกฎหมายนี้ด้วย  เช่น  บรรจุเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัย(มหาฯลัยผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น)

     นอกจากในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว  ทางอัยการและผู้พิพากษาก็ให้การตอบรับเช่นกัน  ในปัจจุบันนี้  วิชานี้ได้กลายเป็นวิชาเลือกหนึ่งในการสอบคัดเลือกเป็นผู้ช่วยอัยการและผู้ช่วยผู้พิพากษาด้วย

     ด้วยเหตุนี้  ผู้เขียนจึงนั่งสรุปหลักวิชานี้ขึ้นมาตอนเตรียมสอบอัยการ  และคิดว่าอาจเป็นประโยชน์อยู่บ้างหากจะนำมาเผยแพร่ในบล็อกด้วย  เหมือนเช่นเคย  เรื่องนี้เขียนขึ้นจากโน้ตย่ออ่านเองนะคะ  โปรดอย่าคาดหวังว่ามันจะสมบูรณ์แบบอะไร  ผู้เขียนก็สรุปได้เท่าที่ตัวเองเข้าใจน่ะแหละ



          วิ.คุ้มครองผู้บริโภค

     ขอบเขต  :  ครอบคลุมข้อพิพาทเกี่ยวกับสินค้าและบริการ  ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ  กับ  ผู้บริโภค

     วันบังคับใช้  :  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่  23 สิงหาคม 2551



              ผู้บริโภค (end-users)

     1. คือ  ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการไปเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว  ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  end-users

     2. คำว่า  "ซื้อ"  รวมถึงการได้รับแจกด้วย  คือเป็นการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเสียค่าตอบแทนหรือไม่

     3.  "ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ"  หมายถึง  เพื่อใช้เอง  ไม่ใช่การทำตัวเป็นคนกลางนำสินค้าหรือบริการนั้นไปให้ผู้อื่นใช้อีกทอดหนึ่ง

     4.  รวมสัญญาประกันภัย  ถือว่าบริษัทประกันภัยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ  และผู้ซื้อประกันภัยเป็นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

     5.  ความคุ้มครองครอบไปถึงผู้บริโภคจากพระราชบัญญัติสินค้าไม่ปลอดภัยด้วย



              ผู้ประกอบธุรกิจ (Business Operators)

     1. คือ  ผู้ขาย  หรือผู้ให้บริการใดๆในทางการค้า  เป็นปกติธุระ  เช่น  ผู้ผลิต  ผู้ผลิตเพื่อขาย  ผู้นำเข้า  ผู้ขาย  ผู้ใช้ชื่อทางการค้าแก่สินค้าหรือบริการนั้นๆ

     2. ต้องมีอาชีพหรือประกอบกิจการนั้นเป็นปกติ  ถ้าทำชั่วคราว  หรือทำไม่กี่ครั้ง  ไม่ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ

     3. รวมการให้บริการทางการแพทย์ด้วย



              คดีผู้บริโภคคือ  

     1. คดีแพ่งที่พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าและบริการ  เช่น  ไปนวดหน้าแล้วสิวเห่อกว่าเดิม  แบบนี้ผู้รับบริการฟ้องผู้นวดหน้าได้ตามกฎหมายนี้  
    
     2. คดีแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย  เช่น  ซื้ออาหารมารับประทานแล้วท้องเสีย  หากพิสูจน์ได้ว่าเกิดเพราะอาหารดังกล่าว  ผู้ซื้อก็สามารถฟ้องผู้ขายตามกฎหมายนี้ได้  

     3. คดีอันเกี่ยวพันกับคดีตามข้อ 1 หรือ 2  เช่นตามตัวอย่างข้างต้น  ถ้าตัวผู้ประกอบการมีการทำประกันสินค้าไว้  และผู้ซื้อรู้  ผู้ซื้อฟ้องผู้รับประกันสินค้าดังกล่าวในคดีนี้ด้วยได้เลย

     4. คดีซึ่งเป็นคดีผู้บริโภคตามความหมายนี้เช่นกันซึ่งดูผิวเผินอาจนึกไม่ถึงนั่นคือ  คดีซึ่งผู้ให้บริการสินเชื่อหรือบัตรเครดิตฟ้องลูกหนี้บัตรเครดิต(ซึ่งก็คือลูกค้าตัวเอง)ให้ชำระเงินที่ค้างจ่าย  นี่ถือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสินค้าและบริการเช่นกัน
     ........เยอะด้วยนะ  จะบอกให้  คดีพวกนี้น่ะ  

     5. ข้อพิพาทดังกล่าวต้องปรากฎว่า  ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภค  และอีกฝ่ายเป็นผู้ประกอบการ  ถ้าสืบไปๆแล้วพบว่า  เป็นผู้บริโภคทั้งคู่  เป็นผู้ประกอบการทั้งคู่  อะไรแบบนี้  ไม่ถือเป็นคดีผู้บริโภค

     6. ต้องเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องหรือเกิดจากตัวสินค้าและบริการโดยตรง  ไม่ใช่เกิดจากเหตุละเมิดอย่างอื่น  เช่น  ซื้อรถมาแล้วจู่ๆรถเสียเอง  อันนี้เอากลับไปเคลมได้  หรือฟ้องได้
          แต่ถ้าเสียเพราะมีคนมาชน  แบบนี้ต้องฟ้องคนชนนะค้าาา  ไม่เป็นคดีผู้บริโภค



            ลักษณะพิเศษของการดำเนินคดีผู้บริโภค

     โดยหลักแล้ว  คดีผู้บริโภคนั้นคือคดีแพ่งนี่แหละ  แต่มีลักษณะพิเศษดังต่อไปนี้ 

     1. ลักษณะคดี  คดีผู้บริโภคเป็นคดีระบบไต่สวนที่ผู้พิพากษามีอำนาจดำเนินการหาความจริงได้เต็มที่

     2. การฟ้อง  สามารถยื่นฟ้องด้วยวาจาหรือจะฟ้องเป็นหนังสือก็ได้

     3. ว่าด้วยเรื่องเขตอำนาจ  หากเป็นกรณีผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคแล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจสามารถฟ้องได้ที่เดียวเท่านั้นคือ  ภูมิลำเนาของผู้บริโภค  จะฟ้องศาลในเขตอำนาจอื่นไม่ได้  
         ส่วนกรณีผู้บริโภคฟ้องผู้ผลิตนั้นใช้หลักตาม ปวิพ มาตรา ๔ ปกติ

     4. ว่าด้วยเรื่องค่าธรรมเนียม  ผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการดำเนินคดี  แต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมที่ต้องรับผิดในชั้นที่สุด
          เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้บริโภคไม่สุจริต  เรียกร้องมากเกินไป  ประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในศาล  หรือกรณีอื่นๆตามที่เห็นสมควร

     5. การพิจารณา  ให้ศาลกำหนดวันนัดไม่เกิน 30 วันนับแต่รับฟ้อง  โดยเริ่มคดีจากการนัดมาไกล่เกลี่ยก่อน(และถือว่าวันนี้คือวันสืบพยานวันแรกที่คู่ความต้องมาศาล)  ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็จบ  ถ้าไม่จบจะให้จำเลยให้การ  และเริ่มสืบพยานต่อไป

     6. ในส่วนของพยาน  กฎหมายผู้บริโภคให้ถือว่าใบปลิว  โบรชัว  หรือสิ่งต่างๆที่มีคำโฆษณาของสินค้าหรือบริการนั้นๆเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ผู้บริโภคสามารถนำมาอ้างได้หากที่โฆษณากับที่ได้รับไม่ตรงกัน
          จะซื้ออะไรก็เก็บแผ่นปลิวดีดีนะ  หลักฐานในการดำเนินคดีชั้นเลิศนะน่ะ

     7. เมื่อใดก็ตามที่มีการเริ่มเจรจากันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ  ให้อายุความในการดำเนินคดีสะดุดหยุดอยู่จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีการบอกเลิกการเจรจา
         อายุสะดุดหยุดอยู่นั้นคล้ายกับการกด pause ในเครื่องเล่นต่างๆค่ะ  ไม่เหมือนสะดุดหยุดลงที่ต้องเริ่มนับใหม่  เอ้อ  ต้องบอกว่า  สะดุดหยุดลงนั้นเหมือนกดปุ่ม restart สินะ อิอิ (เผื่อใครไม่อยากกลับไปอ่านเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงใหม่  เราจะย่อให้เข้าใจง่าย 555)   

     8. อายุความ  ในกรณีฟ้องว่าสินค้าหรือบริการที่รับนั้นเป็นพิษต่อร่างกาย  ให้ฟ้องภายในสามปีนับแต่อาการนั้นแสดงผล  แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่รู้ถึงความเสียหาย
         คือให้ดูกันยาวๆนั่นเองว่าไอ้ที่กินเข้าไปน่ะ  ค้างและทำอันตรายได้เมื่อไหร่แค่ไหน....

     9. หากผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิด  ศาลสามารถพิพากษาให้ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนต้องร่วมรับผิดกับตัวผู้ประกอบธุรกิจ(ซึ่งหลายครั้งเป็นพวกบริษัทหรือที่เรียกว่า นิติบุคคล)ได้  หากปรากฎว่านิติบุคคลดังกล่าวจัดตั้ง  ดำเนินการไม่สุจริตมาแต่ต้น  หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปเป็นประโยชน์แก่บุคคลใดจนไม่พอชำระหนี้

     10. ในการรับผิด  โทษที่เพิ่มเข้ามาซึ่งพิเศษกว่าคดีแพ่งทั่วไป

     10.1 ศาลมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการให้แก้ไข  ซ่อมแซม  ตัวสินค้าได้  แต่หากแก้ไม่ได้หรือแก้ไปก็เป็นอันตราย  ศาลมีอำนาจสั่งให้เปลี่ยนสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้
     10.2 ศาลมีอำนาจสั่งให้เรียกสินค้ากลับคืน  ห้ามผลิตสินค้าเพื่อนำเข้าหรือจำหน่าย  และสั่งให้ประกาศเตือนอันตรายแก่ผู้บริโภคได้

     10.3 ศาลมีอำนาจเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages)  จากผู้ประกอบการได้หากพบว่าผู้ประกอบการไม่สุจริตหรือมีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  โดยถืออัตราดังนี้

               หากค่าเสียหายไม่เกิน 5 หมื่นบาท  :  เรียกได้ไม่เกิน 5 เท่าของความเสียหายที่แท้จริง
               หากค่าเสียหายเกิน 5 หมื่นบาท  :  เรียกได้ไม่เกิน 2 เท่าของความเสียหายที่แท้จริง



  นี่คือหลักคร่าวๆของคดีผู้บริโภคที่ทำให้คดีผู้บริโภคแตกต่างจากคดีทั่วไปค่ะ  หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ สวัสดีค่ะ