วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559
การดำเนินคดีแพ่ง : เมื่อท่านถูกฟ้องคดี
กล่าวถึงฟากโจทก์ไปแล้ว มากล่าวถึงฟากจำเลยกันบ้าง..
เมื่อเคราะห์หามยามไม่ค่อยจะดีมาถึง จะมีพนักงานไปรษณีย์หรือพนักงานศาลมากดกริ่งหน้าบ้านท่าน พร้อมเอกสารชุดหนึ่ง มีใจความว่า
"มีผู้ฟ้องท่านเป็นจำเลยในคดีแพ่งค่ะ"
ช็อค ! โอเค อนุญาตให้ช็อคได้ แต่อย่าตกใจนาน เรามีเรื่องให้ดำเนินการกันอีกมาก เริ่มกันเลย
1. ลำดับแรก ตรวจดูสำเนาคำฟ้องและเอกสารประกอบเสียก่อน(โดยมากจะเป็นสำเนาพยานเอกสารต่างๆที่สำคัญ) เพื่อดูว่าใครฟ้องเรา ฟ้องเรื่องอะไร มีเหตุผลใดประกอบบ้าง เพื่อที่ว่าเราจะได้หยิบประเด็นที่เขาว่ามานั้นน่ะ มาทำคำให้การตอบกลับไป
หากไม่มั่นใจจะวิ่งไปหาทนายที่ใดก็ได้ แต่หากคิดว่าอยากเตรียมตัวเองไว้ก่อนบ้าง ขอเชิญอ่านข้อต่อไป
2. ทำคำให้การ คำให้การคือกระบวนพิจารณาใดๆซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง ซึ่งในที่นี้ก็คือ เอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเราต้องทำเพื่อโต้แย้งคำฟ้องที่มีผู้ฟ้องเรามา
แล้วต้องทำอย่างไร? ประการแรก ควรทำเป็นหนังสือ แม้จะมีบางคดีที่สามารถโต้แย้งด้วยวาจาได้ก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการสู้คดี ควรทำเป็นหนังสือจะดีกว่า จะได้มีหลักฐานเก็บไว้ด้วย ก่อนอื่น คำให้การต้องใช้แบบฟอร์มของศาล จะดาวโหลดจากอินเตอร์เนตหรือไปขอที่ศาลก็ได้ เมื่อได้เอกสารมาแล้ว มาเริ่มกรอกกันเลย ในส่วนชื่อที่อยู่หรือข้อมูลส่วนตัวคงไม่ต้องแนะนำกระมัง คงจะกรอกกันได้โดยสวัสดิภาพ
มาว่ากันต่อเรื่องเนื้อหาของคำให้การกันบ้าง มีหลักกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งเขียนไว้ว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้อหาของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" ซึ่งหมายถึง ให้เรากล่าวไปในคำให้การว่า สำหรับข้อหาซึ่งมีผู้ฟ้องมานั้น เรายอมรับหรือไม่ว่ามันจริง เพราะเหตุใด แล้วมีข้อโต้แย้งใดใดหรือไม่ มีอะไรบ้าง หรือเราจะปฏิเสธก็ได้ว่าสิ่งที่เขาฟ้องมานั้นไม่จริง พร้อมเหตุผลว่าทำไมไม่จริง
อาจไม่จำเป็นต้องสำนวนเป๊ะแบบกฎหมาย แต่อ่านแล้วต้องรู้เรื่องว่า เขียนว่าอะไร เถียงว่าอะไร เหตุผลคืออะไร
เช่น เขาฟ้องเรามาว่า เราติดหนี้เขา 300,000 บาทนะ ชำระเงินต้นบวกดอกเบี้ยมาเสียดีดี
...........เราอาจตอบไปว่า เออ เราเป็นหนี้จริง เราจะชำระให้
...........หรือเราอาจตอบว่า เรากู้จริง แต่เราจ่ายไปครึ่งหนึ่งแล้วนะ ดูเอกสารสิ...
...........หรือเราอาจเถียงว่า ฉันไม่ได้กู้ แกปลอมลายเซนฉันลงในสัญญา บลาๆๆ
ก็ว่ากันไป
นอกจากจะยอมรับหรือปฏิเสธแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิเราฟ้องกลับโจทก์ด้วย ว่าในมูลเหตุที่แกฟ้องฉันมาเนี่ยนะ แกเองก็ต้องรับผิดต่อฉันเช่นกัน จะมาเรียกร้องฝ่ายเดียวไม่ได้นะเฟ้ย ประเด็นสำคัญของหลักนี้มีอยู่ว่า สิ่งที่จะฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาชี้ขาดไปได้ในคราวเดียวกัน หาไม่แล้ว หากฟ้องไปศาลจะบังคับให้เราไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่ง
เช่น โจทก์ฟ้องมาว่า แกซื้อของไม่จ่ายเงิน จ่ายเงินมาเดี๋ยวนี้ เราอาจเถียงไปว่า แล้วที่ฉันให้แกเอาของกลับไปเปลี่ยนอะไหล่แกยังไม่ทำเลย เงินยังไม่ให้เว้ย เป็นต้น แบบนี้ฟ้องกลับได้
แต่ถ้าจะฟ้องกลับว่า แล้วที่วันก่อนรถแกขับมาชนรั้วบ้านฉันน่ะ จ่ายค่าเสียหายมา อันนี้ไม่ได้ ถือว่าไม่เกี่ยวกัน ไปฟ้องใหม่เถอะ
ทั้งคำให้การและฟ้องแย้ง หากมีเอกสารอะไรก็เตรียมไว้ด้วยเน่อ จะได้ยื่นพร้อมคำให้การไปเลย มารอยื่นทีหลัง ประเดี๋ยวศาลตรวจเอกสารแล้วหาอะไรไม่เจอจะยุ่ง play safe ไว้ก่อนดีกว่า
สิ่งที่พึงจำอีกอย่างหนึ่งคือ คำให้การต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหมายสำเนาคำฟ้อง หรือหากกรณีพิเศษที่ปิดหมายโดยคำสั่งศาล ก็มีเวลา 30 วัน ทางที่ดีควรทำให้เสร็จภายในกำหนดดีกว่า และวิธียื่นคือ ให้ไปยื่นที่ศาลโดยตรง ห้ามส่งไปรษณีย์ ดูว่าคำฟ้องมาจากศาลไหนเป็นผู้ส่งก็ไปส่งศาลนั้น
เพราะหากเราไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลจะถือว่าเราขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีด้วยเหตุขาดนัดยื่นคำให้การได้ จะแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชกเลยนะ
เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้ โดยหากขอก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การ ต้องอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การได้ ส่วนหากขอหลังสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การให้อ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การได้
หลักสำคัญคือ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และต้องไม่ได้เกิดเพราะความผิด ความไม่ใส่ใจ หรือความหลงลืมของฝ่ายผู้ยื่นเอง มิฉะนั้นศาลจะไม่อนุญาต
3. เมื่อยื่นคำให้การแล้ว หากในคำให้การเรามีฟ้องแย้งด้วย และศาลเห็นว่าฟ้องแย้งเราชอบด้วยกฎหมายสามารถกระทำได้ ศาลจะให้สำเนาคำให้การและฟ้องแย้งส่งให้แก่โจทก์
แนะนำว่าก่อนยื่นฟ้องให้สำเนาหรือซีร็อกเผื่อไปก่อนเลย จะได้ไม่ต้องไปเตรียมต่อหน้าศาลให้วุ่นวาย
ลำดับแรก จงไปเสียค่านำหมายให้เจ้าหน้าที่ศาลซะ เขาไม่ทำให้จะเสียหายมากกว่าค่าส่งหมาย เว้นแต่ศาลสั่งให้เราส่งด้วยตัวเอง
หลังจากนั้น จนกว่าจะแน่ใจว่าเอกสารไปถึงมือโจทก์ ควรไปเยี่ยมศาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานศาลส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งของเราแก่โจทก์หรือยัง ถ้าส่งไม่ได้เราจะได้เตรียมแถลงเพื่อให้ศาลสั่งอย่างอื่นต่อไป
ถ้าไม่ทำแล้วเจ้าพนักงานส่งไม่ได้ ศาลจะถือว่าเราเพิกเฉยไม่ดำเนินการในส่วนฟ้องแย้ง และจำหน่ายฟ้องแย้งของเราเสียจากสารบบความ
เมื่อส่งสำเนาแก่โจทก์แล้ว ศาลจะให้เวลาโจทก์ในการยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง 15-30 วัน แล้วแต่ว่าส่งในรูปแบบไหน เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้กลับไปตรวจว่าโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหรือยัง
หากครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วโจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ให้เรามีคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ(แก้ฟ้องแย้ง)ของโจทก์
คดีหลักจะชนะรึเปล่าไม่รู้ แต่คดีรองนี่ หากเป็นแบบนี้ก็มีโอกาสชนะสูงล่ะ
แต่ถ้าไม่ยื่นขอ....ศาลอาจจำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการขาดนัด
เกือบลืม ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลด้วย อัตราเดียวกับที่เคยเขียนในส่วนโจทก์ คือ ไม่มีทุนทรัพย์ - 200 บาท, ทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสน - ไม่เกิน 2000 บาท, ไม่เกินห้าสิบล้าน - 2% แต่ไม่เกินสองแสน
เมื่อสิ้นกระบวนการนี้จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาต่อไป
4. จากนั้น ศาลอาจนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีกี่ประเด็น และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบในประเด็นใดบ้าง โดยหากศาลกำหนดวันนัดชี้สองสถานศาลจะแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
วันชี้สองสถาน เช่นเดียวกับที่แนะนะฝ่ายโจทก์คือ ควรมาศาล เพราะจะได้ทราบว่าใครจะต้องนำสืบเรื่องใด ฝ่ายใดเป็นผู้นำสืบก่อน ทั้งยังได้ทราบว่าวันใดใครสืบอะไรบ้าง จะได้มาฟังมาค้านให้ถูกวัน
นอกจากนี้ การมาศาลวันนัดชี้สองสถานยังให้ประโยชน์ในกรณีที่ หากศาลกำหนดประเด็นเราไม่ครบถ้วน เราจะได้ใช้สิทธิโต้แย้งไว้ได้ หากศาลไม่เห็นด้วยอีก เราก็โต้แย้งอีกเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้ หากไม่มีศาลจะแทบไม่มีสิทธิในส่วนนี้เลย เพราะกฎหมายจะถือว่าเราทราบแล้วและไม่คัดค้าน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ หรือเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น เราจึงจะมีสิทธิโต้แย้งได้
มีสิทธิเสียเปรียบได้นะ
5. เมื่อกำหนดวันพิจารณาและสืบพยานแล้ว ไม่ว่าวันนัดสืบพยานนัดแรกนั้นฝ่ายที่ต้องสืบจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลย(คือฝ่ายเรา)ก็ตาม ต้องมาศาล มิเช่นนั้นจะถือว่าขาดนัดพิจารณา
หากโจทก์ก็ขาดนัดพิจารณาด้วย ศาลจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ก็รอดไปเปลาะนึงแต่ไม่เด็ดขาด เพราะการจำหน่ายคดีไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่ ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความ
หากเราขาดนัดพิจารณาอยู่ฝ่ายเดียว ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วตัดสินชี้ขาด ซึ่งโดยมากน่ะ หากอีกฝ่ายเล่นเกมเป็น เขาจะสืบให้เสร็จภายในวันเดียวโดยสืบให้ตัวเองมีทางชนะ แล้วให้ศาลพิพากษาเลย
จำเลยแพ้แน่
ถ้าเรามาแต่โจทก์ขาดนัด ศาลอาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่ฝ่ายจำเลยขอให้พิจารณาคดีต่อ
จงทำแบบย่อหน้าที่แล้ว คือขอให้พิจารณาคดีต่อ เช่น ขอสืบพยาน ขอให้ยกฟ้อง แล้วนำสืบให้ตัวเองมีทางชนะให้เสร็จภายในวันเดียว แล้วให้ศาลพิพากษาเลย
โอกาสชนะมาถึงแล้ว
อ่อ กรณีฝ่ายโจทก์ขาดนัด หากเราฟ้องแย้งไว้ด้วยก็ดำเนินคดีไปรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ถือว่าเราเป็นฝ่ายโจทก์ในฟ้องแย้ง และโจทก์ฟ้องแย้งเป็นจำเลย ก็เท่านั้น
6. เมื่อสองฝ่ายมาศาลนัดแรกครบถ้วน การพิจารณาก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนแต่ละฝ่ายแถลงหมดพยาน หรือศาลเห็นว่าพอพิพากษาได้แล้ว สั่งงดสืบพยานและฟังคำพิพากษา
ถ้าโจทก์ชนะ เราก็ต้องจ่ายหรือทำอะไรสักอย่างตามที่โจทก์ขอ เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีต่อไป
หากเราไม่พอใจ ก็อุทธรณ์ได้ หลักเดียวกับโจทก์คือดูทุนทรัพย์เป็นหลัก ถ้าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน 50,000 ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ถ้าเป็นคดีฟ้องขับไล่ หากค่าเช่าไม่เกิน 4,000 ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีไม่มีทุนทรัพย์ประเภทอื่นๆ อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้เสมอ
ถ้าเราชนะ เราก็หลุดพ้น แต่เชื่อเถอะว่าโจทก์อุทธรณ์แน่ อย่างไรก็ดี ชั้นอุทธรณ์เราจะไม่ถูกบังคับให้ยื่นคำให้การแล้ว รอฟังผลไปอย่างเดียวแล้วกัน
ขอให้โชคดี...
วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัญหาข้อกฎหมายที่ตัดสิทธิการฟ้องคดีของโจทก์
เหล่านี้คือปัญหาข้อกฎหมายที่ทำให้โจทก์ตกม้าตายได้ง่ายๆ บางครั้งก็แค่ต้องฟ้องใหม่ บางครั้งนี่ถึงกับหมดสิทธิฟ้องอีกต่อไป
1. อำนาจฟ้อง ตามหลักแห่งกฎหมายแล้ว บุคคลผู้จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ต้องเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิ หรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล และหลักที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ผู้ที่สามารถจะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ นอกจากต้องใช้สิทธทางศาลแล้ว ยังต้องมีความสามารถด้วย ซึ่งหากผู้ฟ้องขาดข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อไป ถือได้ว่าอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องบกพร่อง ซึ่งความบกพร่องนี้แบ่งออกได้สองประเภท
1.1 อำนาจฟ้องไม่สมบูรณ์ คือ ผู้ฟ้องมีสิทธิฟ้องได้ แต่บกพร่องด้านความสามารถบางประการ ได้แก่
(ก) ความสามารถไม่บริบูรณ์ เช่น กรณีผู้เยาว์(เด็กที่ไม่ถึง 20 และยังไม่ได้แต่งงาน) คนไร้ความสามารถ(พวกวิกลจริต ถ้าจะปรับให้เข้าใจง่าย คือพวกบ้าแล้วถูกศาลสั่งว่าบ้าจริง) ฟ้องคดีเอง กรณีนี้กฎหมายถือว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถดำเนินคดีเองได้ ต้องมีผู้แทนในการดำเนินคดี ได้แก่ ผู้แทนโดยชอบธรรม(พ่อแม่)หรือผู้ปกครอง(ผู้ดูแลแทนพ่อแม่ตามกฎหมาย)ของผู้เยาว์ หรือผู้อนุบาล(ศาลสั่งเท่านั้น)ของคนไร้ความสามารถ
กรณีนี้ศาลจะให้บุคคลผู้ทำการแทนเข้ามาดำเนินคดีให้แก่ผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถเสียก่อนจึงจะดำเนินคดีต่อไปได้
อ่อ....กรณีผู้แทนโดยชอบธรรม บิดาหรือพ่อต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนะคะ คือต้องจดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก หรือต้องรับรองเด็กเป็นบุตร หรือศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่เข้าสามกรณีนี้ถือว่าเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาจสั่งให้ดำเนินการให้ตัวเองเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมายหรือให้แม่เข้ามาทำคดีแทน แล้วแต่กรณี
สุดท้าย...จนกว่าจะมีการอุ้มบุญกันอย่างเอิกเกริกจนไม่แน่ใจว่าใครเป็นแม่เด็กแน่ แม่น่ะ....เป็นแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายเสมอ
(ข) มีการมอบอำนาจกันไม่ถูกต้อง หรือ หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานไม่ได้ คือ ตัวคนจะฟ้องหรือคนมอบอำนาจน่ะ มีสิทธิฟ้องคดี แต่การมอบอำนาจอาจจะไม่ได้มอบกันอย่างถูกต้อง เช่น ไม่ได้ลงชื่อคนมอบอำนาจ มอบอำนาจไม่ครบ มอบแค่นี้แต่ฟ้องเกินที่มอบ หรืออีกกรณีเช่นที่ยกในบทความที่แล้วคือ หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนและ/หรือปิดครบถ้วนแล้วไม่ได้ขีดฆ่า พอรับฟังไม่ได้จึงถือว่าไม่มีการมอบอำนาจกัน
พอเกิดกรณีนี้ขึ้นมาศาลก็อาจจะจำหน่ายคดี แต่โดยมากจะไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่เพราะถือว่า ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นอันเป็นข้อพิพาทแห่งคดี ก็....ฟ้องใหม่ คราวนี้มอบกันให้ถูกละกัน
อ่อ เว้นอยู่อย่างเดียว กว่าศาลจะตัดสินดันครบกำหนดอายุความ กฎหมายท่านก็ต่อเวลาให้อีกหกสิบวัน แต่กลับโอ้เอ้จนเกินเวลา อันนั้นก็....ช่วยไม่ได้แฮะ
(ค) บุตรไม่มีสิทธิฟ้องบิดามารดาของตน ค่ะ แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่าบางครั้งบุตรก็จำเป็นต้องฟ้องบิดามารดาของตนในฐานะส่วนตัวเสียด้วยสิ ทำไงล่ะ
ทางแก้คือ ให้ญาติอื่นทำการแทนบุตร หรือให้อัยการฟ้องแทนก็ได้
บุตรจะอายุเท่าไหร่ก็ไม่มีสิทธิฟ้องบิดามารดานะคะ ห้ามกันตลอดชีวิตเลยล่ะ
อันนี้ไม่อยู่ในเรื่องนี้หรอก แค่เห็นว่า เออ มันก็เป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งที่พอมีทางออกอยู่นะ
ข้อบกพร่องในกรณีนี้โดยมากจะไม่ตัดสิทธิโจทก์เด็ดขาด แต่ถ่วงให้เสียเวลาในการดำเนินคดีได้หากเกิดขึ้น ดังนั้นแล้ว ตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนจะดีกว่า
1.2 กรณีที่อำนาจฟ้องไม่บริบูรณ์ ตามหลักการฟ้องคดี บุคคลจะยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาลได้จะต้องมีความจำเป็นหรือถูกโต้แย้งสิทธิอันกฎหมายยอมรับ กรณีตามข้อนี้เป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องมาจาก (1)โจทก์ไม่มีเหตุให้เรียกร้องสิทธิต่อศาล หรือ สิทธิที่โจทก์จะใช้ไม่ได้นับการรับรองตามกฎหมาย แยกพิจารณาได้ดังนี้
1.2.1 โจทก์ยังไม่มีเหตุให้เรียกร้องสิทธิต่อศาล อันเนื่องมากจาก
(ก) กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดี แต่โจทก์มิได้กระทำ เช่น
- ตามกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ที่ในการเช่ามีกำหนดเวลาจ่ายค่าเช่า หากผู้เช่าไม่ได้ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิเลิกสัญญาได้ แต่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน เมื่อผู้เช่าไม่ชำระจึงจะมีสิทธิเลิกสัญญาได้
ถ้าผู้เช่าไม่ชำระปุ๊บ บอกเลิกทันที แล้วฟ้องขับไล่เลย อย่างนี้ไม่ได้ ถือว่ายังไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
- ตามกฎหมายว่าด้วยการจำนอง ก่อนบังคับจำนอง เจ้าหนี้ผู้จะบังคับจำนองต้องบอกกล่าวแก่ผู้จำนองทรัพย์ก่อนว่าให้ชำระหนี้ในระยะเวลาอันสมควรซึ่งไม่น้อยกว่าหกสิบวัน จึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง
เช่นเดียวกัน ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้ปุ๊บ ฟ้องทันที กรณีนี้ก็ถือว่ายังไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยังไม่ปฏิบัติตามหลักที่กฎหมายกำหนด
กรณีนี้หากโจทก์กลับไปปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดแล้วมาฟ้องใหม่ได้ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
(ข) โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนฟ้อง เช่น
ตามกฎหมายว่าด้วยการยืมใช้คงรูป (คือยืมของที่ยืมเสร็จคืนกันด้วยของชิ้นเดิม) หากผู้ยืมใช้ทรัพย์ตามปกติหรือใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งแก่ผู้ให้ยืมแล้วเกิดความเสียหายขึ้น อันมิใช่ความผิดของตน ผู้ยืมย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม ผลของการไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมคือ ผู้ยืมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อความเสียหายแก่ทรัพย์ที่ตนยืม เพราะเมื่อไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ ย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิเพื่อรับการชดใช้จากบุคคลอื่นเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ยืมรถพี่สาวบอกว่าจะขับไปส่งลูกที่โรงเรียน หลังจากส่งลูกขณะที่ขับรถมาคืน มีคนขับรถมาชน ดังนี้ ตัวน้องไม่มีสิทธฟ้องผู้ชน หากน้องไปฟ้อง ศาลจะยกฟ้องโดยเหตุว่าน้องไม่ใช่ผู้ถูกทำละเมิด ไม่มีอำนาจฟ้อง
กรณีนี้ ทางแก้คือให้ผู้มีสิทธิตัวจริงดำเนินคดีไป
แม้จะจั่วหัวว่าอำนาจฟ้อง แต่ตามกรณีนี้โดยทั่วไปจะไม่ถือว่าคดีเสร็จเด็ดขาด เพราะยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เมื่อแก้ไขให้ถูกต้องแล้วก็สามารถดำเนินคดีใหม่ได้
อย่างไรก็ดี ข้อนับจากนี้จะเป็นการตัดอำนาจฟ้องอย่างเด็ดขาด ได้แก่
2. อายุความ ดังได้เคยกล่าวถึงแล้วในเรื่องอายุความและข้อควรระวังในการฟ้องคดีว่า แม้อายุความจะไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยอันศาลสามารถยกขึ้นตัดฟ้องโจทก์ได้เอง แต่เมื่อใดก็ตามที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเวลาอันกฎหมายให้สิทธิในการเรียกร้องไปแล้ว จึงค่อยมาฟ้องในภายหลัง หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงในข้อนี้และกล่าวอ้างขึ้นในคำให้การของตน ศาลจะยกฟ้องทันที ซึ่งมีผลคือตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องและเรียกร้องอย่างถาวร
3. ฟ้องซ้อน หมายถึง การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีเรื่องหนึ่งไว้ยังศาลใดศาลหนึ่งแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องคดีอันมีมูลแห่งคดีเดียวกันและจำเลยเดียวกันในศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลักการพื้นฐานในการพิจารณาว่าเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่คือ
1) โจทก์คนเดียวกัน ฝ่ายเดียวกัน(โจทก์ร่วม) หรือถือว่าถูกผูกพันอย่างเดียวกัน เช่น อัยการกับผู้เสียหายกรณีฟ้องจำเลยความผิดฐานเดียวกัน เจ้าของรวมในทรัพย์ ทายาทกับผู้จัดการมรดก เป็นต้น
2) จำเลยคนเดียวกัน
3) คดีสองคดีมีประเด็นแห่งคดี คือเหตุแห่งการฟ้อง ข้อหา ตลอดจนคำขอบังคับอันเดียวกัน
4) คดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีหลังอีก
หากเข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ถือได้ว่าเป็นฟ้องซ้อน จำเลยยกขึ้นอ้างได้เลย หรือศาลยกขึ้นพิจารณาเองก็ได้ ผลคือยกฟ้องสถานเดียว ต่อให้ศาลดำเนินคดีไปโดยผิดหลงก็ถือว่าไม่เคยมีการพิจารณาเลย เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เริ่มฟ้องแล้วนั่นเอง
และแน่นอนว่า ฟ้องใหม่ไม่ได้ด้วย
4. ฟ้องซ้ำ มีหลักการคือ เมื่อคดีใดคดีหนึ่งได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ห้ามมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ถึงที่สุดไปนั้น
กรณีฟ้องซ้ำก็มีสองคดีเช่นกัน แต่ต่างจากฟ้องซ้อนคือ คดีใดคดีหนึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นหลักแห่งคดีไปแล้ว หากมีการฟ้องกันอีกในประเด็นเดียวกับที่ได้วินิจฉัยไปแล้วจากคู่ความเดียวกัน ถือเป็นฟ้องซ้ำ
ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ ฟ้องซ้ำเป็นการห้ามทั้งฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย และห้ามศาลด้วย
สมมติว่า ก กับ ข ขับรถชนกัน หาก ก ฟ้อง ข เรียกค่าเสียหาย ข ต้องฟ้องแย้งกลับไปเลยในคดีเดียวกัน หากประสงค์จะอ้างว่าตนไม่ได้ประมาท ก ต่างหากที่ต้องรับผิด ข รอจนคดีที่ ก ฟ้องตัวเองถึงที่สุดไปแล้วค่อยมาฟ้องใหม่ว่า เหตุละเมิดดังกล่าวน่ะ ตนไม่ได้ประมาท ไม่ได้ ถือว่าประเด็นได้วินิจฉัยไปแล้ว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลเผลอรับก็ถือว่าศาลดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ต้องยกฟ้อง
เช่นเดียวกับฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง หรือหากคู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างแล้วศาลเห็นจริง ก็สามารถยกฟ้องได้ทันที
ฟ้องใหม่ไม่ได้เช่นกัน
5. การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ มีหลักการคือ เมื่อศาลใดมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
หลักการของการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้นเป็นหลักการเดียวกับการฟ้องซ้ำ เพียงแต่ว่า การวินิจฉัยชี้ขาดในฟ้องซ้ำนั้นเป็นการทำให้คดีเสร็จไปทั้งคดี ในขณะที่การชี้ขาดในการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเป็นเพียงประเด็นบางข้อแห่งคดี ยังไม่ทำให้คดีล่วงพ้นไปจากศาล หากแต่กฎหมายไม่ต้องการให้กระทำการใดใดซ้ำไปซ้ำมาในประเด็นแห่งคดีซึ่งมีคู่ความเดียวกันแม้ว่าคดีจะยังไม่เสร็จไปก็ตาม จึงบัญญัติห้ามไว้ดังกล่าว
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอาจเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ก็ได้ แต่การฟ้องซ้ำจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเสมอ
ต้องห้ามเช่นเดียวกันกับฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน
6. อากรแสตมป์ ดังที่เคยกล่าวในตอนที่แล้วว่า พยานเอกสารต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนและขีดฆ่าให้เรียบร้อย มิฉะนั้นไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยถือว่าไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร
เอกสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ได้แก่ สัญญา หนังสือมอบอำนาจ เช็ค letter of credit ฯลฯ
สัญญา คือ เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อแสดงว่าคู่สัญญาได้ทำขึ้นแล้ว โดยต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
กรณีที่นิติกรรมนั้นต้องทำเป็นหนังสืออยู่แล้ว ไม่มีปัญหา อย่างไรหนังสือนั้นก็เป็นสัญญาแน่ๆ แต่ที่อยากกล่าวถึงคือ กรณีที่นิติกรรมกำหนดว่า นิตกรรมบางอย่างเพียงมีหลักฐานก็สมบูรณ์ หรือไม่ต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ ตรงนี้อาจก่อให้เกิดความสับสน เช่น การกู้ยืม การซื้อขายสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้)
หากสงสัยว่าหนังสือในมือท่านคือสัญญาหรือแค่หลักฐานการทำสัญญา โปรดย้อนกลับไปนึกว่า แรกเริ่มเลยนั้น ได้ตกลงกันหรือไม่ว่า หากไม่มีหนังสือฉบับนี้ สัญญาไม่เกิด หากใช่ เพื่อความปลอดภัย จงปิดอากรแสตมป์เสีย
หรือหากยากไป จงกลับไปดูย่อหน้าที่สามของข้อนี้ หากหนังสือในมือท่านมีการลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายล่ะก็ ปิดอากรเสียด้วย
เพื่อความปลอดภัย ก่อนฟ้องก็ยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่หน้าศาลปิดอากรไปเสียเลยทุกฉบับ และเมื่อได้รับการยื่นยันแล้วว่าต้องปิดอากรแน่ ก็ขีดฆ่าเสียด้วย
ย้ำนะ !! หากเป็นโจทก์ ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าก่อนนำไปยื่นเป็นพยานทุกครั้ง !!!
ส่วน....ถ้าเป็นจำเลย แล้วอยากชนะโดย technical knockout หากเห็นว่าโจทก์ไม่ปิดอากรแสตมป์ หรือปิดแต่ไม่ขีดฆ่า จงเงียบเสีย แล้วค่อยยกตอนศาลพิพากษา หรือยกขึ้นอุทธรณ์ รับรอง ชนะ !
(แต่ พูดตรงๆ ไม่ปลื้มวิธีนี้ แลดูขี้โกงมากเลย แต่ต้องยอมรับว่ากฎหมายเปิดช่องให้เล่นได้จริง)
สาเหตุที่แนะนำในวรรค เอ่อ ย่อหน้าก่อนหน้านี้ได้ เพราะปัญหาเรื่องปิดอากรแสตมป์ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สามารถยกขึ้นเวลาใดในชั้นศาลใดก็ได้
บทความต่อไปกล่าวถึงฝ่ายจำเลยในคดีแพ่งบ้างดีไหมนะ...
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)