วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัญหาข้อกฎหมายที่ตัดสิทธิการฟ้องคดีของโจทก์
เหล่านี้คือปัญหาข้อกฎหมายที่ทำให้โจทก์ตกม้าตายได้ง่ายๆ บางครั้งก็แค่ต้องฟ้องใหม่ บางครั้งนี่ถึงกับหมดสิทธิฟ้องอีกต่อไป
1. อำนาจฟ้อง ตามหลักแห่งกฎหมายแล้ว บุคคลผู้จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ต้องเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิ หรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล และหลักที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ผู้ที่สามารถจะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ นอกจากต้องใช้สิทธทางศาลแล้ว ยังต้องมีความสามารถด้วย ซึ่งหากผู้ฟ้องขาดข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อไป ถือได้ว่าอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องบกพร่อง ซึ่งความบกพร่องนี้แบ่งออกได้สองประเภท
1.1 อำนาจฟ้องไม่สมบูรณ์ คือ ผู้ฟ้องมีสิทธิฟ้องได้ แต่บกพร่องด้านความสามารถบางประการ ได้แก่
(ก) ความสามารถไม่บริบูรณ์ เช่น กรณีผู้เยาว์(เด็กที่ไม่ถึง 20 และยังไม่ได้แต่งงาน) คนไร้ความสามารถ(พวกวิกลจริต ถ้าจะปรับให้เข้าใจง่าย คือพวกบ้าแล้วถูกศาลสั่งว่าบ้าจริง) ฟ้องคดีเอง กรณีนี้กฎหมายถือว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถดำเนินคดีเองได้ ต้องมีผู้แทนในการดำเนินคดี ได้แก่ ผู้แทนโดยชอบธรรม(พ่อแม่)หรือผู้ปกครอง(ผู้ดูแลแทนพ่อแม่ตามกฎหมาย)ของผู้เยาว์ หรือผู้อนุบาล(ศาลสั่งเท่านั้น)ของคนไร้ความสามารถ
กรณีนี้ศาลจะให้บุคคลผู้ทำการแทนเข้ามาดำเนินคดีให้แก่ผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถเสียก่อนจึงจะดำเนินคดีต่อไปได้
อ่อ....กรณีผู้แทนโดยชอบธรรม บิดาหรือพ่อต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนะคะ คือต้องจดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก หรือต้องรับรองเด็กเป็นบุตร หรือศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่เข้าสามกรณีนี้ถือว่าเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาจสั่งให้ดำเนินการให้ตัวเองเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมายหรือให้แม่เข้ามาทำคดีแทน แล้วแต่กรณี
สุดท้าย...จนกว่าจะมีการอุ้มบุญกันอย่างเอิกเกริกจนไม่แน่ใจว่าใครเป็นแม่เด็กแน่ แม่น่ะ....เป็นแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายเสมอ
(ข) มีการมอบอำนาจกันไม่ถูกต้อง หรือ หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานไม่ได้ คือ ตัวคนจะฟ้องหรือคนมอบอำนาจน่ะ มีสิทธิฟ้องคดี แต่การมอบอำนาจอาจจะไม่ได้มอบกันอย่างถูกต้อง เช่น ไม่ได้ลงชื่อคนมอบอำนาจ มอบอำนาจไม่ครบ มอบแค่นี้แต่ฟ้องเกินที่มอบ หรืออีกกรณีเช่นที่ยกในบทความที่แล้วคือ หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนและ/หรือปิดครบถ้วนแล้วไม่ได้ขีดฆ่า พอรับฟังไม่ได้จึงถือว่าไม่มีการมอบอำนาจกัน
พอเกิดกรณีนี้ขึ้นมาศาลก็อาจจะจำหน่ายคดี แต่โดยมากจะไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่เพราะถือว่า ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นอันเป็นข้อพิพาทแห่งคดี ก็....ฟ้องใหม่ คราวนี้มอบกันให้ถูกละกัน
อ่อ เว้นอยู่อย่างเดียว กว่าศาลจะตัดสินดันครบกำหนดอายุความ กฎหมายท่านก็ต่อเวลาให้อีกหกสิบวัน แต่กลับโอ้เอ้จนเกินเวลา อันนั้นก็....ช่วยไม่ได้แฮะ
(ค) บุตรไม่มีสิทธิฟ้องบิดามารดาของตน ค่ะ แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่าบางครั้งบุตรก็จำเป็นต้องฟ้องบิดามารดาของตนในฐานะส่วนตัวเสียด้วยสิ ทำไงล่ะ
ทางแก้คือ ให้ญาติอื่นทำการแทนบุตร หรือให้อัยการฟ้องแทนก็ได้
บุตรจะอายุเท่าไหร่ก็ไม่มีสิทธิฟ้องบิดามารดานะคะ ห้ามกันตลอดชีวิตเลยล่ะ
อันนี้ไม่อยู่ในเรื่องนี้หรอก แค่เห็นว่า เออ มันก็เป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งที่พอมีทางออกอยู่นะ
ข้อบกพร่องในกรณีนี้โดยมากจะไม่ตัดสิทธิโจทก์เด็ดขาด แต่ถ่วงให้เสียเวลาในการดำเนินคดีได้หากเกิดขึ้น ดังนั้นแล้ว ตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนจะดีกว่า
1.2 กรณีที่อำนาจฟ้องไม่บริบูรณ์ ตามหลักการฟ้องคดี บุคคลจะยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาลได้จะต้องมีความจำเป็นหรือถูกโต้แย้งสิทธิอันกฎหมายยอมรับ กรณีตามข้อนี้เป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องมาจาก (1)โจทก์ไม่มีเหตุให้เรียกร้องสิทธิต่อศาล หรือ สิทธิที่โจทก์จะใช้ไม่ได้นับการรับรองตามกฎหมาย แยกพิจารณาได้ดังนี้
1.2.1 โจทก์ยังไม่มีเหตุให้เรียกร้องสิทธิต่อศาล อันเนื่องมากจาก
(ก) กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดี แต่โจทก์มิได้กระทำ เช่น
- ตามกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ที่ในการเช่ามีกำหนดเวลาจ่ายค่าเช่า หากผู้เช่าไม่ได้ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิเลิกสัญญาได้ แต่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน เมื่อผู้เช่าไม่ชำระจึงจะมีสิทธิเลิกสัญญาได้
ถ้าผู้เช่าไม่ชำระปุ๊บ บอกเลิกทันที แล้วฟ้องขับไล่เลย อย่างนี้ไม่ได้ ถือว่ายังไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
- ตามกฎหมายว่าด้วยการจำนอง ก่อนบังคับจำนอง เจ้าหนี้ผู้จะบังคับจำนองต้องบอกกล่าวแก่ผู้จำนองทรัพย์ก่อนว่าให้ชำระหนี้ในระยะเวลาอันสมควรซึ่งไม่น้อยกว่าหกสิบวัน จึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง
เช่นเดียวกัน ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้ปุ๊บ ฟ้องทันที กรณีนี้ก็ถือว่ายังไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยังไม่ปฏิบัติตามหลักที่กฎหมายกำหนด
กรณีนี้หากโจทก์กลับไปปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดแล้วมาฟ้องใหม่ได้ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
(ข) โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนฟ้อง เช่น
ตามกฎหมายว่าด้วยการยืมใช้คงรูป (คือยืมของที่ยืมเสร็จคืนกันด้วยของชิ้นเดิม) หากผู้ยืมใช้ทรัพย์ตามปกติหรือใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งแก่ผู้ให้ยืมแล้วเกิดความเสียหายขึ้น อันมิใช่ความผิดของตน ผู้ยืมย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม ผลของการไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมคือ ผู้ยืมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อความเสียหายแก่ทรัพย์ที่ตนยืม เพราะเมื่อไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ ย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิเพื่อรับการชดใช้จากบุคคลอื่นเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ยืมรถพี่สาวบอกว่าจะขับไปส่งลูกที่โรงเรียน หลังจากส่งลูกขณะที่ขับรถมาคืน มีคนขับรถมาชน ดังนี้ ตัวน้องไม่มีสิทธฟ้องผู้ชน หากน้องไปฟ้อง ศาลจะยกฟ้องโดยเหตุว่าน้องไม่ใช่ผู้ถูกทำละเมิด ไม่มีอำนาจฟ้อง
กรณีนี้ ทางแก้คือให้ผู้มีสิทธิตัวจริงดำเนินคดีไป
แม้จะจั่วหัวว่าอำนาจฟ้อง แต่ตามกรณีนี้โดยทั่วไปจะไม่ถือว่าคดีเสร็จเด็ดขาด เพราะยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เมื่อแก้ไขให้ถูกต้องแล้วก็สามารถดำเนินคดีใหม่ได้
อย่างไรก็ดี ข้อนับจากนี้จะเป็นการตัดอำนาจฟ้องอย่างเด็ดขาด ได้แก่
2. อายุความ ดังได้เคยกล่าวถึงแล้วในเรื่องอายุความและข้อควรระวังในการฟ้องคดีว่า แม้อายุความจะไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยอันศาลสามารถยกขึ้นตัดฟ้องโจทก์ได้เอง แต่เมื่อใดก็ตามที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเวลาอันกฎหมายให้สิทธิในการเรียกร้องไปแล้ว จึงค่อยมาฟ้องในภายหลัง หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงในข้อนี้และกล่าวอ้างขึ้นในคำให้การของตน ศาลจะยกฟ้องทันที ซึ่งมีผลคือตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องและเรียกร้องอย่างถาวร
3. ฟ้องซ้อน หมายถึง การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีเรื่องหนึ่งไว้ยังศาลใดศาลหนึ่งแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องคดีอันมีมูลแห่งคดีเดียวกันและจำเลยเดียวกันในศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลักการพื้นฐานในการพิจารณาว่าเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่คือ
1) โจทก์คนเดียวกัน ฝ่ายเดียวกัน(โจทก์ร่วม) หรือถือว่าถูกผูกพันอย่างเดียวกัน เช่น อัยการกับผู้เสียหายกรณีฟ้องจำเลยความผิดฐานเดียวกัน เจ้าของรวมในทรัพย์ ทายาทกับผู้จัดการมรดก เป็นต้น
2) จำเลยคนเดียวกัน
3) คดีสองคดีมีประเด็นแห่งคดี คือเหตุแห่งการฟ้อง ข้อหา ตลอดจนคำขอบังคับอันเดียวกัน
4) คดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีหลังอีก
หากเข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ถือได้ว่าเป็นฟ้องซ้อน จำเลยยกขึ้นอ้างได้เลย หรือศาลยกขึ้นพิจารณาเองก็ได้ ผลคือยกฟ้องสถานเดียว ต่อให้ศาลดำเนินคดีไปโดยผิดหลงก็ถือว่าไม่เคยมีการพิจารณาเลย เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เริ่มฟ้องแล้วนั่นเอง
และแน่นอนว่า ฟ้องใหม่ไม่ได้ด้วย
4. ฟ้องซ้ำ มีหลักการคือ เมื่อคดีใดคดีหนึ่งได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ห้ามมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ถึงที่สุดไปนั้น
กรณีฟ้องซ้ำก็มีสองคดีเช่นกัน แต่ต่างจากฟ้องซ้อนคือ คดีใดคดีหนึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นหลักแห่งคดีไปแล้ว หากมีการฟ้องกันอีกในประเด็นเดียวกับที่ได้วินิจฉัยไปแล้วจากคู่ความเดียวกัน ถือเป็นฟ้องซ้ำ
ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ ฟ้องซ้ำเป็นการห้ามทั้งฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย และห้ามศาลด้วย
สมมติว่า ก กับ ข ขับรถชนกัน หาก ก ฟ้อง ข เรียกค่าเสียหาย ข ต้องฟ้องแย้งกลับไปเลยในคดีเดียวกัน หากประสงค์จะอ้างว่าตนไม่ได้ประมาท ก ต่างหากที่ต้องรับผิด ข รอจนคดีที่ ก ฟ้องตัวเองถึงที่สุดไปแล้วค่อยมาฟ้องใหม่ว่า เหตุละเมิดดังกล่าวน่ะ ตนไม่ได้ประมาท ไม่ได้ ถือว่าประเด็นได้วินิจฉัยไปแล้ว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลเผลอรับก็ถือว่าศาลดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ต้องยกฟ้อง
เช่นเดียวกับฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง หรือหากคู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างแล้วศาลเห็นจริง ก็สามารถยกฟ้องได้ทันที
ฟ้องใหม่ไม่ได้เช่นกัน
5. การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ มีหลักการคือ เมื่อศาลใดมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
หลักการของการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้นเป็นหลักการเดียวกับการฟ้องซ้ำ เพียงแต่ว่า การวินิจฉัยชี้ขาดในฟ้องซ้ำนั้นเป็นการทำให้คดีเสร็จไปทั้งคดี ในขณะที่การชี้ขาดในการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเป็นเพียงประเด็นบางข้อแห่งคดี ยังไม่ทำให้คดีล่วงพ้นไปจากศาล หากแต่กฎหมายไม่ต้องการให้กระทำการใดใดซ้ำไปซ้ำมาในประเด็นแห่งคดีซึ่งมีคู่ความเดียวกันแม้ว่าคดีจะยังไม่เสร็จไปก็ตาม จึงบัญญัติห้ามไว้ดังกล่าว
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอาจเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ก็ได้ แต่การฟ้องซ้ำจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเสมอ
ต้องห้ามเช่นเดียวกันกับฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน
6. อากรแสตมป์ ดังที่เคยกล่าวในตอนที่แล้วว่า พยานเอกสารต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนและขีดฆ่าให้เรียบร้อย มิฉะนั้นไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยถือว่าไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร
เอกสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ได้แก่ สัญญา หนังสือมอบอำนาจ เช็ค letter of credit ฯลฯ
สัญญา คือ เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อแสดงว่าคู่สัญญาได้ทำขึ้นแล้ว โดยต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
กรณีที่นิติกรรมนั้นต้องทำเป็นหนังสืออยู่แล้ว ไม่มีปัญหา อย่างไรหนังสือนั้นก็เป็นสัญญาแน่ๆ แต่ที่อยากกล่าวถึงคือ กรณีที่นิติกรรมกำหนดว่า นิตกรรมบางอย่างเพียงมีหลักฐานก็สมบูรณ์ หรือไม่ต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ ตรงนี้อาจก่อให้เกิดความสับสน เช่น การกู้ยืม การซื้อขายสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้)
หากสงสัยว่าหนังสือในมือท่านคือสัญญาหรือแค่หลักฐานการทำสัญญา โปรดย้อนกลับไปนึกว่า แรกเริ่มเลยนั้น ได้ตกลงกันหรือไม่ว่า หากไม่มีหนังสือฉบับนี้ สัญญาไม่เกิด หากใช่ เพื่อความปลอดภัย จงปิดอากรแสตมป์เสีย
หรือหากยากไป จงกลับไปดูย่อหน้าที่สามของข้อนี้ หากหนังสือในมือท่านมีการลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายล่ะก็ ปิดอากรเสียด้วย
เพื่อความปลอดภัย ก่อนฟ้องก็ยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่หน้าศาลปิดอากรไปเสียเลยทุกฉบับ และเมื่อได้รับการยื่นยันแล้วว่าต้องปิดอากรแน่ ก็ขีดฆ่าเสียด้วย
ย้ำนะ !! หากเป็นโจทก์ ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าก่อนนำไปยื่นเป็นพยานทุกครั้ง !!!
ส่วน....ถ้าเป็นจำเลย แล้วอยากชนะโดย technical knockout หากเห็นว่าโจทก์ไม่ปิดอากรแสตมป์ หรือปิดแต่ไม่ขีดฆ่า จงเงียบเสีย แล้วค่อยยกตอนศาลพิพากษา หรือยกขึ้นอุทธรณ์ รับรอง ชนะ !
(แต่ พูดตรงๆ ไม่ปลื้มวิธีนี้ แลดูขี้โกงมากเลย แต่ต้องยอมรับว่ากฎหมายเปิดช่องให้เล่นได้จริง)
สาเหตุที่แนะนำในวรรค เอ่อ ย่อหน้าก่อนหน้านี้ได้ เพราะปัญหาเรื่องปิดอากรแสตมป์ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สามารถยกขึ้นเวลาใดในชั้นศาลใดก็ได้
บทความต่อไปกล่าวถึงฝ่ายจำเลยในคดีแพ่งบ้างดีไหมนะ...
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น