วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ข้อควรระวังอื่นในการฟ้องคดีแพ่ง (update!)



    มา  ว่ากันตั้งแต่ขณะเริ่มฟ้องจนจบไปเลย



   ข้อพิจารณาก่อนหรือขณะฟ้องคดี

1.  ฟ้องของท่านขาดอายุความหรือไม่  :  แม้ในคดีแพ่งอายุความจะไม่ใช่ปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แต่มันเป็นข้อต่อสู้ที่ดีซึ่งหากฝ่ายตรงข้ามยกขึ้นมาแล้วศาลเห็นจริง  ศาลยกฟ้องทันที  เพราะฉะนั้น  เป็นไปได้ควรฟ้องภายในอายุความจะดีกว่า


2,  ฟ้องต้องใช้แบบฟอร์มของศาลเท่านั้น  จะใช้กระดาษแบบอื่นมิได้  และต้องนำไปยื่นด้วยตัวเองแก่ศาลในเขตอำนาจเท่านั้น  จะส่งไปรษณีย์ไม่ได้


3.  การยื่นฟ้องคดีต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม

   3.1  ค่าฤชาธรรมเนียม  ได้แก่  ค่าธรรมเนียมศาล  ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล  ค่าป่วยการ  ค่าพาหนะเดินทาง  ค่าเช่าที่พักของพยาน  ล่าม  ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าพนักงานศาล  ค่าทนายความ  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี  และอื่นๆเท่าที่จำเป็น  (ปวิพมาตรา ๑๔๙  วรรคหนึ่ง)

  3.2  อัตราค่าธรรมเนียม  มีดังนี้

 -    กรณีคดีไม่มีทุนทรัพย์  เรื่องละ  200  บาท

 -    คดีมีทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน  50  ล้านบาท  เสียในอัตราร้อยละ 2  แต่ไม่เกิน  200,000  บาท

 -     ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท  เสียในอัตราร้อยละ  0.1

 -    คดีมโนสาเร่  เสียตามอัตราในสองข้อแรก  แต่ไม่เกินสองพันบาท

 3.3  การวางเงิน  ต้องวางเงินสดหรือเช็คซึ่งธนาคารรับรองเท่านั้น

 3.4  ค่าฤชาธรรมเนียมศาลในส่วนของ  ค่าขึ้นศาล  นั้น  หากผู้ฟ้องไม่มีเงินพอชำระ  สามารถยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมได้  ซึ่งในคำร้องต้องกล่าวอ้างว่า

        1)  คำฟ้องมีเหตุผลเพียงพอให้รับไว้พิจารณา
        2)  ผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมได้  หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร


4.  เอกสารหลักฐานสำคัญบางอย่างซึ่งต้องใช้ในการพิจารณาคดี  เช่น  สัญญา  หนังสือมอบอำนาจ  ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วน  และขีดฆ่าให้เรียบร้อย  มิฉะนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้
    -  ถ้าเป็นสัญญาแล้วไม่ปิดอากรและขีดฆ่าให้ถูกต้อง  ศาลยกฟ้องเลย  ถือว่าไม่มีหลักฐาน  กรณีนี้ฟ้องใหม่ไม่ได้เลยด้วย  (เป็น  technical  knockout  ที่เจ็บปวดมาก  ต่อให้จำเลยผิดจริงก็ไม่สามารถฟ้องได้ถ้าปิดอากรไม่สมบูรณ์หรือไม่ขีดฆ่า  ต้องระวัง)
   -  ถ้าเป็นพวกหนังสือมอบอำนาจฟ้อง  ถือว่าการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง  ซึ่งศาลอาจสั่งแก้ใหม่หรือจำหน่ายคดีก็ได้  ถ้าเป็นกรณีหลังก็ต้องเสียเวลาฟ้องใหม่  ทำให้ถูกแต่ต้นดีกว่า




   เมื่อยื่นฟ้องคดีแล้วก่อนคู่ความอีกฝ่ายเข้ามาในคดี

1.  ต้องเสียค่านำส่งสำเนาคำฟ้องและสำเนาเอกสารให้จำเลย  บางครั้งศาลอาจให้ส่งเอง  แต่ทั่วไปคือให้เสียค่านำส่งแล้วให้เจ้าพนักงานศาลไปส่ง


2.  เมื่อเสียค่านำส่งแล้ว  ต้องกลับมาตามเรื่องว่าส่งได้หรือไม่  ถ้าส่งได้ให้รออีก 15 วัน  ซึ่งเป็นกำหนดเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ  หากส่งไม่ได้ต้องแถลงต่อศาลว่าจะทำอย่างไรต่อไป

     หากปล่อยล่วงเลยไม่เอาใจใส่  แล้วเจ้าพนักงานเกิดส่งหมายไม่ได้  ศาลจะถือว่าเราทิ้งฟ้อง  อาจสั่งจำหน่ายคดีได้  จริงอยู่ว่าการจำหน่ายคดีไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่  แต่กรณีที่ฟ้องช่วงใกล้ขาดอายุความ  การฟ้องครั้งที่สองอาจเสี่ยงต่อการขาดอายุความได้

    ในการตามเรื่อง....ทางปฏิบัติคือทุกๆ  7  วัน

    กรณีที่การส่งหมายได้กระทำโดยปิดหมาย  คือไม่สามารถส่งให้แก่ตัวผู้ถูกฟ้องหรือคนรับแทนได้  จึงใช้วิธีปิด  หรือติดในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเห็นได้ง่ายและหายได้ยาก  ระยะเวลาในการยื่นคำให้การจะเพิ่มไปอีก 15 วัน  หรือก็คือเมื่อได้ความว่าส่งโดยปิดหมาย  ให้รอเวลาไปอีก 30  วัน  จึงค่อยกลับมาตรวจสอบการยื่นคำให้การของจำเลย




    หลังแจ้งให้คู่ความอีกฝ่ายทราบแล้ว

1.  เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว

     1.1  เมื่อรับสำเนาคำให้การจำเลยมาแล้ว  ต้องตรวจสอบว่าจำเลยได้ให้การฟ้องแย้ง  คือจำเลยฟ้องเรากลับในประเด็นใดหรือไม่เพียงใด  หากจำเลยฟ้องแย้ง  เราต้องทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน  นับแต่ได้รับสำเนาคำให้การกรณีปกติ  หรือ 30 วันกรณีศาลมาปิดหมายที่บ้านหรือที่ทำงานเรา  (จริงๆแล้วระยะเวลาจะเป็นเท่าใดศาลจะสั่งไว้ในสำเนาอยู่แล้ว  ก็ยื่นคำให้การภายในกำหนดนั้น)
            หากเราไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง  หรือยื่นเกินกำหนดโดยไม่ได้ขออนุญาตศาล  ในทางกฎหมายจะถือว่าเราขาดนัดยื่นคำให้การในส่วนฟ้องแย้ง  ซึ่งจำเลยสามารถร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้จำเลยชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การในส่วนฟ้องแย้งได้  ซึ่งจะหนักหนาสาหัสเท่าใดต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป
            แต่หากอยากมีโอกาสชนะในทุกประเด็น  แนะนำว่าควรยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งจะดีกว่า

     1.2  ในบางคดี  ศาลจะนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาท  ในวันนัดชี้สองสถาน  ควรมาศาล  เพราะจะได้ทราบว่ามีประเด็นใดที่ฝ่ายใดต้องนำสืบบ้าง  ฝ่ายใดต้องเป็นฝ่ายสืบก่อน  และหากศาลกำหนดประเด็นของเราขาดไป  เราจะได้ทักท้วงได้  การทักท้วงคือเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องให้ทักท้วงด้วยวาจาทันที  หรือยื่นคำร้องทักท้วงภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการชี้สองสถาน  เมื่อศาลสั่ง  หากไม่พอใจต้องทักท้วงไว้อีกรอบ  จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อไป
           หากไม่มาวันชี้สองสถาน  กฎหมายวางหลักให้ถือว่าทราบแล้ว  และขาดโอกาสทักท้วงด้วย  เว้นแต่เป็นปัญหาความสงบหรือศาลกำหนดประเด็นเกินไป
            กรณีหนึ่งที่ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบคือ  กรณีที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกิน  เช่น  เราอ้างเหตุสองประเด็น  อีกฝ่ายอ้างอีกสองประเด็น  โดยทั่วไปศาลไม่ควรกำหนดเกินสี่ประเด็น  แต่ศาลเกิดกำหนดว่าประเด็นที่ต้องอ้างหลักฐานมีหกประเด็น  อันนี้ถือว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ  เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้บุคคลเป็นความกันมากกว่าที่ควรจะเป็น  ผลคือ  แม้ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อไปได้
            แต่หากไม่อยากเสี่ยง  ศาลสั่งอะไรที่รู้สึกว่า  ไม่ใช่ละ  ท้วงไว้ก่อนปลอดภัยสุด

    1.3  วันนัดสืบพยานนัดแรก  หรือวันแรก  ต้องมาศาล(จะตัวคนฟ้องมาเอง  หรือทนายมา  หรือผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีมา  หรือมาทุกคนก็ได้)  หากไม่มาถือว่าขาดนัดพิจารณา  ถ้าทั้งโจทก์ทั้งจำเลยไม่มาศาล  ศาลจะจำหน่ายคดี  ถ้าจำเลยมาศาลก็เสื่ยงต่อการที่จำเลยดำเนินคดีไปฝ่ายเดียวและทำให้เราถูกยกฟ้อง  ซึ่งหากถูกยกฟ้องจะฟ้องใหม่ไม่ได้อีกแล้ว
           เว้นแต่กรณีส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น  ไม่ถือว่าการไม่มาศาลเป็นการขาดนัดพิจารณา
           เว้นแต่(อีกรอบ)  เราได้ขอเลื่อนคดีไปแล้วและศาลอนุญาต  จึงจะไม่ถือว่าเป็นการขาดนัด

    1.4  ในกรณีที่ขาดนัดพิจารณาไปแล้ว  และมาศาลหลังจากนั้น  แต่ก่อนศาลมีคำพิพากษา  หากต้องการต่อสู้คดีให้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรก(คือพอมาถึงให้แจ้งทันทีหรือแจ้งทันทีที่มีโอกาส)ว่าตนประสงค์จะสู้คดี  และการขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุสมควร(อ้างเพียงเหตุใดเหตุหนึ่งก็พอ)
           เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดไม่เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร  ศาลจะสั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่...........อย่าขาดนัด(พิจารณา)อีกล่ะ  ขาดมากกว่าหนึ่งครั้งนี่  โอกาสชนะเข้าใกล้ศูนย์มากเลยนะ
           สุดท้าย  ไม่ว่ากรณีใด  ห้ามมิให้ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากเหตุขาดนัด  แต่กรณีที่จำหน่ายคดีสามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ

  1.5  หากทุกอย่างปกติดี  ไม่มีการขาดนัด  ต่างฝ่ายต่างก็จะมีภาระการพิสูจน์ของตนเองไป  ศาลจะฟังจนได้ข้อยุติ  และมีคำพิพากษา


2.  เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำให้การ

   2.1  ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด  หากไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว  ศาลอาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้  (ต้องเสียเวลาฟ้องใหม่นะ)

   2.2  หลังจากนั้นศาลจะทำการไต่สวนและให้ฝ่ายโจทก์สืบพยานหลักฐานไปฝ่ายเดียว  วันนัดสืบพยานหลักฐาน  ต้องมาศาล  และต้องนำพยานมาสืบด้วย  ไม่เช่นนั้นศาลจะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ  คดีโจทก์ไม่มีมูล  ยกฟ้อง  (ฟ้องใหม่ไม่ได้)

   2.3  เมื่อสืบพยานไปและศาลเห็นว่าคดีมีมูล(คือพอฟังได้)และไม่ขัดต่อกฎหมาย  ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี




     หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว

   หากมองเฉพาะฝ่ายโจทก์  คำพิพากษาจะแบ่งเป็นสามประเภทหลัก  คือ  ศาลให้ตามที่ขอทั้งหมด  ศาลให้ตามที่ขอบางส่วน  และให้โจทก์แพ้คดี

   หากเป็นกรณีแรก  โจทก์จะต้องดำเนินการในการบังคับคดีต่อไป  ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเรื่องการบังคับคดีภายหลัง  หลักคือ  หลังศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี  ศาลจะพิพากษาให้จำเลยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือ  กระทำการ  งดเว้นกระทำการ  หรือส่งมอบทรัพย์สิน  โดยศาลจะออกเป็นคำบังคับคดี(โจทก์ต้องตรวจสอบด้วยนะว่าศาลออกคำบังคับหรือยัง)  ให้จำเลย  หากต่อมาจำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลออก  "หมายบังคับคดี"  บังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
   การบังคับคดีหรือการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นมีอายุความ 10 ปี  หากเกินนี้  ต่อให้ชนะก็ทำอะไรไม่ได้นะคะ  (เว้นแต่จำนอง  จำนำ  ยังบังคับได้  แต่เรียกดอกเบี้ยย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี)

  หากเป็นกรณีหลัง  โดยส่วนใหญ่  โจทก์มักจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป  หลักทั่วไปคืออุทธรณ์ได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ทราบ  โดยจะอุทธรณ์ได้นั้น  หากเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ทุนทรัพย์ต้องถึงตามหลักเกณฑ์ด้วย  กล่าวคือ
     ก)  กรณีคดีมีทุนทรัพย์  มูลค่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องต้องเกิน 50,000 บาท
     ข)  กรณีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์(บ้านและ/หรือที่ดิน)  อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้  ราคาค่าเช่าที่คำนวณได้จริงต้องเกิน 4,000 บาท
     ค)  ส่วนคดีไม่มีทุนทรัพย์  อุทธรณ์ได้เสมอ



   ข้อควรระวัง  

1.  เมื่อก่อนคู่ความสามารถอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามปวิพมาตรา ๒๒๓ ทวิ  แต่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับแก้ไขใหม่ได้ยกเลิกมาตรานี้แล้ว  เพราะฉะนั้น....ไม่ได้แล้ว

2.  เช่นเดียวกัน  แต่ก่อน  หากคู่ความไม่พอใจคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สามารถฎีกาไปยังศาลฎีกาได้  แต่ปัจจุบันกฎหมายแก้ไขใหม่ได้บัญญัติให้  คดีแพ่งทุกคดีถึงที่สุดที่ศาลอุทธรณ์  หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องขออนุญาตศาลฎีกาเท่านั้น   การฎีกาในบ้านเราได้เปลี่ยนจากระบบสิทธิเป็นระบบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว...



 เอ้ออออ  ส่วนรายละเอียดในการอุทธรณ์และการบังคับคดี  เอาไว้เรียนถึง  อ่านถึง  และเข้าใจมากขึ้นแล้วจะมาลงในบลอกภายหลังนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น