วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การฟ้องคดีแพ่ง (3) : ฟ้องใคร
ก่อนเข้าหัวข้อ ทวนความจำสักเล็กน้อย คดีซึ่งยื่นต่อศาลแพ่งได้นั้นมีสองประเภทด้วยกัน หนึ่งคือ คดีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่า คดีมีข้อพิพาท (1) และคดีอีกประเภทหนึ่งคือในกรณีที่บุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาล หรือคดีไม่มีข้อพิพาท
เมื่อกล่าวว่า "จะฟ้องใคร" แสดงให้เห็นได้ว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีมีข้อพิพาท หาไม่แล้วคงไม่ต้องลากใครเข้ามาให้วุ่นวายเป็นแน่
กลับเข้าสู่คำถามที่ว่า "จะฟ้องใคร"
คำตอบคือ : ฟ้องคน
อ้าว ไม่ได้กวนนะ ต้องฟ้อง "คน" จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญาก็ตาม ดูนิยามศัพท์ได้ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(หรือ ปวิพ) มาตรา ๑ อนุ (๑๑) คู่ความ หมายถึง บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล...
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(หรือ ปวิอ) มาตรา ๑ อนุ (๓) จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
เห็นไหม ไม่ว่าจะแพ่งหรืออาญา ผู้จะถูกฟ้องได้ ต้องเป็น บุคคล เท่านั้น
ลืมคดีต่างประเทศที่ศาลตัดสินประหารชีวิตหรือจำคุกสุนัขไปได้เลย ศาลไทยไม่รับค่ะ ศาลรับจัดการเฉพาะคนเท่านั้น
ต่อมา มาขยายความคำว่า "คน" กันเสียหน่อย
ตามกฎหมายแล้ว "คน" มีสองประเภท หนึ่งคือบุคคลธรรมดา และสองคือ นิติบุคคล
"คนธรรมดา" ในที่นี้ ก็คือ คน ผู้มี สภาพบุคคล ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(หรือ ปพพ)ได้บัญญัติไว้ว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย..."
สรุปว่าคนซึ่งได้รับการยอมรับตามกฎหมายก็คือคนธรรมดาอย่างเราๆท่านนี้แล
ส่วน "นิติบุคคล" นั้น คือ "บุคคล" ที่ไม่ใช่ "คน" จริงๆ แต่กฎหมายให้การยอมรับว่าเป็น "บุคคล" เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าคนธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งเฉพาะคนธรรมดาเท่านั้นที่มีได้(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗) เช่น แต่งงาน มีบุตร ทั้งในคดีอาญา ก็จะลงโทษด้วยวิธี "จำคุก" หรือ "ประหารชีวิต" แบบที่ลงกับคนธรรมดาไม่ได้เช่นกัน
นิติบุคคลเป็นบุคคตามกฎหมาย จึงต้องก่อตั้งด้วยกฎหมายเท่านั้น นิติบุคคลที่มีอยู่ทั่วไปก็เช่น บริษัททั้งหลาย มูลนิธิ วัด หน่วยงานของรัฐหลายๆแห่ง ฯลฯ
ประเด็นต่อเนื่องจากหลักที่ว่าผู้ที่ถูกฟ้องต้องเป็นคนและมีสภาพบุคคล
1. บุคคลที่จะถูกฟ้องต้องมีสภาพบุคคล กล่าวโดยเข้าใจง่ายคือ "ต้องยังไม่ตาย" เพราะหากผู้ถูกฟ้องตายเสียก่อนฟ้องคดี แล้วผู้ฟ้องคดียังระบุบุคคลดังกล่าวเป็น "จำเลย" อยู่แล้วล่ะก็...
ศาลจะสั่งไม่รับฟ้อง หรือจำหน่ายคดี หรือหากรับฟ้องโดยผิดหลง เมื่อพบต่อมาก็จำหน่ายคดี หรือสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องได้เลยเช่นกัน
แล้วถามว่า หากว่าที่จำเลยของท่านสิ้นชีวิตเสียแล้วก่อนจะฟ้อง จะทำอย่างไรนั้น ต้องพิจารณาว่า ฟ้องเรื่องอะไร
1.1 หากเป็นฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สิน ใช้ค่าเสียหาย หรือสิทธิใดใดที่ไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของคนที่ตาย กรณีนี้ต้องฟ้องทายาทผู้ตายค่ะ โดยระบุชื่อแล้วระบุไปว่าเป็นทายาทของผู้ที่เราต้องการจะฟ้อง ด้วยผู้ตายนั้นต้องรับผิดต่อเราดังนี้.... และความรับผิดดังกล่าวนั้นตกทอดไปยังทายาทด้วย.....
แต่พึงระลึกไว้ด้วยว่า กฎหมายคุ้มครองทายาทผู้ตายด้วยเช่นกัน ด้วยหลักกฎหมายที่ว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพยมรดกที่ตกทอดได้แก่ตน(ตามมาตรา ๑๖๐๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) นั่นหมายความว่า หากผู้ตายไม่มีทรัพย์สินใดใดเลย...
ก็พึงเตรียมใจไว้ว่า แม้จะชนะคดี ท่านอาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ได้
แต่ฟ้องได้นะคะ ศาลรับฟ้องค่ะ ถือว่ามีตัวจำเลยแล้ว
1.2 หากเป็นกรณีฟ้องเกี่ยวกับสิทธิเฉพาะตัวหรือหน้าที่เฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น ฟ้องหย่า ฟ้องให้จดทะเบียนสมรส
แนะนำว่าควรปลง เพราะตายแล้วสิทธิและหน้าที่เหล่านั้นหมดไปด้วยเช่นกัน หรือหากฟ้องหย่า การตายของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการสมรสอยู่ในตัวแล้ว ตามมาตรา ๑๕๐๑ แห่งปพพ
2. อาจมีผู้สงสัยว่า ฟ้องสิ่งไม่มีชีวิตก็ไม่ได้ ฟ้องสิ่งที่ไม่ใช่คนก็ไม่ได้ แล้วถ้าความเสียหายเกิดขึ้นโดยสิ่งที่ไม่มีสภาพบุคคลล่ะ เช่น ถูกสุนัขกัด มีของหล่นใส่
คำตอบคือ ฟ้องเจ้าของสิคะ บรรยายไปในฟ้องว่าความเสียหายเกิดเพราะเหตุนี้ๆๆสิ่งนี้ๆๆ แล้วระบุว่า สิ่งของนั้น สัตว์ตัวนี้ มีบุคคลคนนี้เป็นเจ้าของ ขอให้บุคคลคนนี้รับผิดเนื่องจากไม่ดูแลให้ดี บลาๆๆ
แล้ว.....ถ้าไม่มีเจ้าของล่ะ
โชคดีเหลือเกินนะ คือ ถ้าตามกฎหมายแพ่งเนี่ย คุณฟ้องไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีเจ้าของไง คนจะรับผิดก็ไม่มี กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำของสิ่งหรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของเป็นความผิดเสียด้วยสิ เพราะมันไม่ใช่คน จึงถือว่าขาดองค์ประกอบความผิด
แต่....บางทีคุณอาจสามารถแจ้งตามกฎหมายอื่นได้ เป็นต้นว่า หากเป็นสุนัขจรจัด ก็ไปแจ้งกทม อะไรแบบนี้ หรือหากทรัพย์ที่ก่อความเสียหายเป็นทรัพย์ของทางราชการ คุณก็ต้องฟ้องหน่วยราชการนั้น
นึกไม่ออกแล้วแฮะ นึกอะไรขึ้นได้จะมาเพิ่มแล้วกัน แต่ที่แน่ๆ
โปรดเช็คสถานะของผู้ที่คุณจะฟ้องก่อนฟ้องทุกครั้งนะคะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น