วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อายุความตามกฎหมายแพ่ง(update!)



    เนื่องด้วยบทความถัดไปตั้งใจว่าจะกล่าวถึงอายุความด้วย  จึงคิดว่าควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับอายุความไว้บ้างคงจะดี


 
      อายุความคืออะไร?

   ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  อายุความ  หมายถึง  ระยะเวลาที่กฎหมายบังคับให้ใช้สิทธิเรียกร้อง  บังคับฟ้อง  หรือร้องทุกข์

   หรืออีกนัยหนึ่ง  กฎหมายกำหนดว่า  เมื่อเกิดสิทธิเรียกร้องใดใดขึ้นก็ตาม  บุคคลผู้มีสิทธิจะต้องใช้สิทธิของตนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เท่านั้น  หาไม่แล้ว  สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ  ไม่สามารถใช้สิทธิได้อีกต่อไป(ตามปพพ  มาตรา ๑๙๓/๙)

   อีกมาตราหนึ่งที่สนับสนุนหลักการดังกล่าวก็คือ  ปพพมาตรา ๑๙๓/๑๐  ซึ่งบัญญัติว่า  สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ  ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฎิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

   ยิ่งไปกว่านั้นนะ  อายุความยังเป็นกำหนดเวลาตามกฎหมายซึ่งไม่สามารถย่น  ขยาย  หรืองดการบังคับใช้ได้อีกด้วย  ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๑๑

   ดูเหมือนกฎหมายจะไม่สนับสนุนหลักการ  "แค้นนี้  20ปีก็ยังไม่สาย"  แบบหนังจีน  ขืนรอไปถึง 20 ปี  รับรอง  สายแน่  ในสายตาของกฎหมาย

   สรุปก็คือ  ในทุกๆกรณีของการใช้สิทธิเรียกร้องต้องคำนึงถึงอายุความเสมอ  หากฟ้องขาดอายุความ  ผู้เรียกร้องอาจไม่ได้รับการชำระหนี้ของตนก็เป็นได้

 
 
       อายุความเริ่มนับเมื่อใด

    ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๑๒  "อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด  ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น"

    และตามปพพมาตรา ๑๙๓/๑๓  "สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน  ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป..."

    กล่าวคือ  อายุความเริ่มนับแต่เมื่อสามารถบังคับเอาแก่สิทธิเรียกร้องต่างๆได้  ซึ่งหลักในการคำนวณประการแรกต้องพิจารณาว่ามูลเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่  หากมีกำหนดเวลาแน่นอน  อายุความเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้วไม่มีการชำระหนี้  แต่หากไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน  อายุความจะเริ่มนับเมื่อเวลาที่ได้ทวงถามหรืออาจทวงถามได้  ตัวอย่างเช่น


   ถ้า  ก  ให้  ข  ยืมเงิน  กำหนดไว้ว่า ข  จะคืนเงินวันที่  31  มค  59  ต่อมาวันที่  31  มค  59  ก  ไปทวงเงินจำนวนที่ ข ยืมไป  หาก  ข  ไม่ชำระ  ถือได้ว่า ข ผู้เป็นลูกหนี้ผิดนัด  สิทธิของ ก ในการฟ้องร้องบังคับสิทธิจึงเริ่มตั้งแต่วันที่  1 กพ 59  เป็นต้นไป  ต้องถือว่าอายุความในการเรียกร้องสิทธิของ ก เริ่มนับเมื่อ
1 กพ 59

  แต่  จากตัวอย่างเดิม  ถ้าการยืมเงินนั้น  ข  บอก  ก  ว่า  มีเมื่อไหร่ก็จะคืนเมื่อนั้น  ดังนี้  ถือว่าการกู้ยืมดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา  ซึ่งกฎหมายวางหลักไว้ว่า  หากเป็นหนี้ไม่กำหนดเวลาแล้วไซร้  เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน(ปพพมาตรา ๒๐๓)  ดังนี้  เมื่อตามกฎหมาย  ก  สามารถเรียกให้  ข  คืนเงินได้ทันทีตั้งแต่ส่งเงินให้  ข  ยืมไป  การนับอายุความในกรณีดังกล่าวจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินกัน
    ทำสัญญากันวันไหน  อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น


  ส่วนข้อความตอนท้ายของมาตรา ๑๙๓/๑๒  นั้น  ตัวอย่างเช่น  ดำกับแดงมีบ้านติดกัน  ดำชอบนำรถมาจอดขวางหน้าบ้านแดง  แดงจึงตกลงกับดำในวันที่  23.12.2558 ว่าห้ามดำนำรถมาจอดหน้าบ้านตน  มิฉะนั้นจะฟ้องร้อง  ต่อมาวันที่ 25.12.2558  ดำนำรถมาจอดหน้าบ้านแดงอีก  ถือว่าดำผิดข้อตกลงในวันที่ 25.12.2558  อายุความในการฟ้องคดีของแดงในเหตุดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 26.12.2558  เป็นต้นไป

   สารภาพว่าเรื่องการนับระยะเวลานี่  ผู้เขียนก็ยังสับสนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน  แต่ตามที่เข้าใจโดยทั่วไปคือ  เมื่อเกิดการรบกวนสิทธิหรือเกิดสิทธิในการฟ้องร้องเมื่อใด  อายุความจะเริ่มนับในวัดถัดจากวันที่เกิดสิทธิเป็นต้นไป  เว้นแต่กรณีหนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่อายุความเริ่มนับทันทีตั้งแต่วันทำสัญญา

   เอาเป็นว่า....ถ้าอ่านเพิ่มแล้วพบว่าไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบภายหลังนะคะ



       อายุความมีกำหนดเท่าใดบ้าง

      มีสองหลักค่ะ  หลักทั่วไปกับหลักเฉพาะ

 
    หลักทั่วไปของอายุความแพ่งเป็นไปตามปพพมาตรา ๑๙๓/๓๐  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

    สัญญาที่มีอายุความสิบปีได้แก่  สัญญากู้ยืมเงิน  กรณีกำหนดให้ใช้เงินคืนเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดชำระ/ถึงวันที่ตกลงกันให้ชำระ  หรือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี  กรณีเหล่านี้มีอายุความ 10 ปี  นับแต่ครบกำหนดชำระแล้วไม่มีการชำระหนี้


         ส่วนอายุความอื่นๆนั้น  โดยทั่วไปก็จะมีกำหนด  1ปี  2ปี  5ปี  หรือ  10ปี  ตามแต่กฎหมายกำหนด


อายุความหนึ่งปี  ได้แก่  ละเมิดตามปพพมาตรา ๔๒๐  ฟ้องคดีมรดก,  หนี้ใดใดที่มีต่อเจ้ามรดก  หรือฟ้องเรียกข้อกำหนดตามพินัยกรรมตามปพพมาตรา ๑๗๕๔,  คดีที่ผู้ทรงหรือผู้มีสิทธิในตั๋วเงิน(เช่น เช็ค)ฟ้องผู้ออกตั๋วหรือผู้สลักหลัง  ตามปพพมาตรา ๑๐๐๒

อายุความสองปี  ได้แก่  ฟ้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามปพพมาตรา ๘๘๒,  ฟ้องเรียกตามสัญญาจ้างทำของ  เช่น  จ้างร่างสัญญา  จ้างสอน  ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๓๔

อายุความห้าปี  ได้แก่  สัญญากู้ยืมกรณีผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ  หรือเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระ  ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๓๓

อายุความสิบปี  ได้แก่  อายุความในการบังคับคดีตามคำพิพากษา  ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

เป็นต้น



       การสะดุดหยุดลงของอายุความ

  อายุความสะดุดหยุดลง  คือ  การที่อายุความที่มีหยุดลงและเริ่มนับใหม่  เพราะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้อายุความเดิมที่มีมา  ไม่อาจนับได้อีกต่อไป  เมื่อใดก็ตามที่อายุความเริ่มนับอีกครั้งต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่สะดุดหยุดลงนั้น


  งงมั้ย  งั้นลองอ่านตัวอย่างตามนี้

  สมมติว่าระยะเวลาตั้งแต่ช่วงหนึ่งถึงอีกช่วงหนึ่งคือห้องๆหนึ่ง  ซึ่งมีประตูสองด้าน

  อายุความคือคนๆหนึ่ง  ซึ่งจะต้องเดินจากประตูด้านหนึ่ง  ไปอีกด้านหนึ่ง  ในระหว่างที่นายอายุความยังเดินไม่พ้นประตูอีกด้านหนึ่ง  คู่กรณีในแต่ละสัญญานั้นก็มีสิทธิทำอะไรก็ได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

  เมื่ออายุความเดินก้าวพ้นประตูอีกบานไปแล้ว  สิทธิทุกอย่างถือว่าไม่มีสิทธิกันอีกต่อไป

  อายุความสะดุดหยุดลงคือ  จู่ๆมีเหตุให้นายอายุความซึ่งกำลังเดินไปเรื่อยๆเนี่ย  หยุดเดิน  และจะหยุดอยู่แบบนั้นจนกว่าเหตุจะถูกทำให้สิ้นไป  และเมื่อนายอายุความเริ่มเดินอีกครั้ง  จะเดินสองถึงสามแบบด้วยกัน  แล้วแต่กรณี

    -  บางกรณี  อายุความจะกลับไปที่จุดเริ่มต้น  แล้วเริ่มเดินใหม่

    -  บางกรณี  อายุความจะเดินต่อจากจุดเดิมเลย  เผลอๆก้าวเดียวก็ถึงประตูเลยด้วย

    -  และ  บางกรณี  จะเกิดทางออกขึ้นใหม่อีกทางหนึ่งให้อายุความเดิน

    (เฮ่ย  คิดทั้งคืนเลยนะเนี่ย  คนอ่านจะเข้าใจมั้ยเนี่ย???)


    ซึ่งเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอยู่ในปพพมาตรา ๑๙๓/๑๔  มีดังต่อไปนี้

      (ก)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยการทำหนังสือรับสภาพหนี้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดใดให้เห็นว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

      (ข)  เจ้าหนี้ฟ้องคดี

      (ค)  เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

      (ง)  เจ้าหนี้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ

      (จ)  เจ้าหนี้กระทำการอื่นใดอันมีผลเท่ากับฟ้องคดี


    ตามกฎหมายแล้ว  การกระทำตามข้อ (ก)  นั้นจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่เลย(ทางเลือกแรกของนายอายุความในตัวอย่างข้างต้น)  ส่วนเหตุ (ข) - (ง)  นั้น  จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีซึ่งต้องอ้างสิทธิของตนแก่ศาลหรือหน่วยงานทางยุติธรรม  หากศาลรับเรื่องและดำเนินการต่อไป  ก็จะมีผลเช่นเดียวกับ (ก)  แต่หากถูกปฏิเสธหรือยกฟ้อง  ตามมาตรา ๑๙๓/๑๗ และ ๑๙๓/๑๘  ให้ถือว่า  อายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง  หรือก็คือทางเลือกที่สองของตัวอย่างที่ยกไป

    ส่วนกรณี  (ข) - (ง)  หากศาลไม่รับฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล(๑)  หรือยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่(๒)  และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วระหว่างการพิจารณา  หรือกำลังจะครบกำหนดภายใน 60 วันนับแต่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด
    อันที่จริง  ผลของย่อหน้านี้ก็คือถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงน่ะแหละ  ก็คืออายุความเดินต่อจากจุดเดิม  เพียงแต่เห็นว่าเป็นเหตุซึ่งตัวผู้ฟ้องไม่ถูกตัดสิทธิให้ฟ้องใหม่  เมื่ออายุความจะหมดหรือหมดแล้วจึงต่อเวลาให้  ซึ่งเทียบตัวอย่างที่ให้ก็จะเป็นทางเลือกที่สาม



   เหตุอื่นๆซึ่งทำให้อายุความครบกำหนดช้ากว่ากำหนด

1.  มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางมิให้เจ้าหนี้กระทำการตามมาตรา ๑๙๓/๑๔  อายุความยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุสุดวิสัยนั้นได้สิ้นสุดลง (มาตรา ๑๙๓/๑๙)

2.  ผู้เยาว์/บุคคลวิกลจริต  ถ้าอายุความเรียกร้องสิทธิใดจะครบกำหนดในวันที่ยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือระหว่างที่ยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล  อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่บุคคลนั้นมีความสามารถเต็มภูมิหรือมีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล  เว้นแต่อายุความดังกล่าวมีกำหนดสั้นกว่าหนึ่งปีก็ให้นำระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้บังคับ (มาตรา ๑๙๓/๒๐)

3.  หลักเดียวกับข้อสอง  แต่เป็นกรณีผู้ไร้ความสามารถ(ผู้เยาว์/คนไร้ความสามารถ/คนเสมือนไร้ความสามารถ)  ฟ้องผู้ดูแล(ผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้อนุบาล/ผู้พิทักษ์)  ตามมาตรา ๑๙๓/๒๑

4.  สิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา  อายุความไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่การสมรสสิ้นสุดลง

5.  สิทธิเรียกร้องอันเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้ตาย  อายุความไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันตาย







       ข้อควรระวัง  

 1.  แม้การฟ้องเมื่อขาดอายุความแล้วอาจทำให้ผู้มีสิทธิเรียกร้องไม่สามารถได้รับชำระหนี้ของตนได้  แต่ตามหลักแห่งกฎหมายแพ่งแล้ว  อายุความไม่ถือเป็นหลักกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย  ดังนั้นแล้ว  แม้เจ้าหนี้จะฟ้องร้องตามสิทธิของตนเมื่อขาดอายุความแล้วก็ตาม  หากลูกหนี้หรือผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยกประเด็นอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะนำเหตุขาดอายุความมายกฟ้องเองไม่ได้  ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๒๙
 
     แต่หากลูกหนี้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา  ศาลต้องยกฟ้อง  ถือว่าเหตุแห่งการเรียกร้องสิทธิได้สิ้นไปแล้ว

     ใครจะค้าความกันก็เลือกทนายดีดีนะคะ....


 2.  การเรียกร้องบางอย่างไม่มีอายุความ  เช่น  เจ้าของทรัพย์เรียกทรัพย์คืนจากบุคคลอื่น  กรณีนี้ไม่มีอายุความ  เพราะกฎหมายถือว่ากรรมสิทธิ์ย่อมติดอยู่กับตัวทรัพย์ตลอดไป

     แต่....แม้การปล่อยเวลาล่วงเลยของท่านจะไม่ถูกห้ามโดยกฎหมาย  แต่ท่านอาจถูกตัดสิทธิได้โดยหลักอายุความได้สิทธิ  หรือว่าด้วยเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามปพพมาตรา ๑๓๘๒  ซึ่งบัญญัติว่า

     "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นโดยสงบ  เปิดเผย  และเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"

     สรุปก็คือ  ทรัพย์สินทั่วไป  หากปล่อยคนอื่นครอบครองไปห้าปี  หรือปล่อยให้ใครอยู่ในที่ดินหรือบ้านเกินสิบปี...  ความเป็นเจ้าของที่ท่านมีอยู่จะโอนไปยังผู้ครอบครองทันที

     ช้า....อด  นะคะ


 3.  ข้อเรียกร้องแห่งสิทธิหลายกรณีมีอายุความมากกว่าหนึ่งช่วงระยะเวลา  จะมีรูปแบบประมาณว่า  "อายุความ....  นับแต่...  แต่ไม่เกิน  .....  นับแต่ ...."

   เช่น  ละเมิด  1 ปี  นับแต่รู้(เหตุและรู้ตัวคนต้องรับผิด)  แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด(ไม่เป๊ะตามตัวบท  แต่เป็นหลักในปพพมาตรา ๔๔๘)

   ตัวอย่างเช่น  หากเราถูกรถชน  แล้วเราไม่ทราบว่าใครเป็นคนชน  เราจะยังฟ้องคดีไม่ได้ถูกมั้ย  เพราะเราหาตัวคนรับผิดไม่ได้  ทีนี้  หากสองปีผ่านไปเราเพิ่งทราบว่าใครชนเรา  เราก็ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่เราทราบตัวคนชน  กรณีนี้เรายังมีสิทธิฟ้องเพราะยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ
   ถ้าลงรายละเอียดเป็นวันที่  สมมติถูกชน  20 ธันวา 2556  ทราบว่าใครชน  20 ธันวา 2558  ต้องฟ้องคดีภายใน 20 ธันวา 2559
  ถ้าฟ้องเกิน 20 ธันวา 2559 ขาดอายุความ

  แต่....ถ้ารู้ตัวคนชน 21 ธันวา 2566 อันนี้คือขาดอายุความละ  เกิน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ  ไม่มีสิทธิฟ้องอีกต่อไป  เป็นต้น
 
       
 4.  ดูเหมือนว่า  อายุความจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้  เช่นว่า  เมื่อยังไม่ครบกำหนดจะยังไม่ชำระหนี้ก็ได้  หรือเมื่อขาดอายุความแล้วจะฟ้องลูกหนี้ไม่ได้  เพราะเหตุนั้น  กฎหมายจึงอนุญาตให้ลูกหนี้  สละประโยชน์แห่งอายุความได้  เช่น  การชำระหนี้ก่อนครบกำหนด  หรือการรับสภาพหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว  แต่การสละประโยชน์แห่งอายุความนี้ย่อมเป็นผลร้ายต่อตัวผู้สละแต่เพียงผู้เดียว  กรณีที่มีลูกหนี้หลายคน  ลูกหนี้คนอื่นย่อมไม่ได้รับผลร้ายดังกล่าวไปด้วย


 5.  หากหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว  หนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วย  เรียกไม่ได้เช่นกัน

      เว้นแต่!!  จำนอง  จำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  หรือบุริมสิทธิอื่นเหนือทรัพย์ของลูกหนี้  ยังสามารถบังคับเอาตามสัญญาเหล่านี้ได้  แต่จะเรียกดอกเบี้ยย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้

     ถ้าท่านเป็นเจ้าหนี้  โปรดเรียกหลักประกันโดยการจำนองหรือจำนำ

     แต่ถ้าท่านเป็นลูกหนี้  ไม่จำเป็นก็อย่าเอาทรัพย์ไปจำนองหรือจำนำ

     มันเป็นสัญญา อกาลิโก!!!
 
   

 ปล  ต้องขอโทษด้วยนะคะที่ฉบับแรกนั้นเนื้อหาไม่ครบถ้วน  ตอนนี้อ่านใหม่และปรับปรุงให้แล้วค่ะ

 

4 ความคิดเห็น: