วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การฟ้องคดีแพ่ง(1) : ฟ้องทำไม



          หลักเกณฑ์ในการฟ้องคดีแพ่ง


     ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา  ๕๕  บัญญัติว่า  "เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น  เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง  หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล  บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้  ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้"
   
     จากหลักการตามมาตรา ๕๕  สรุปได้ว่า  บุคคลอาจใช้สิทธิทางศาลได้ด้วยสองกรณี


     1.  เมื่อเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง  โดยในกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิทางศาลเพื่อโต้แย้งบุคคลอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีข้อโต้แย้งต่อกันตามกฎหมายแพ่ง  อันเรียกว่า  คดีมีข้อพิพาท  ซึ่งตามหลักแห่งกฎหมายแพ่งแล้ว  บุคคลจะมีสิทธิหรือหน้าที่ต่อกันได้นั้น  มีที่มาจากสามสาเหตุด้วยกัน  คือ  นิติกรรม  นิติเหตุ  และด้วยผลของกฎหมาย

       1.1  นิติกรรม  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๑๔๙  ได้วางหลักว่า  นิติกรรมคือ  การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร  มุ่งโดยตรงต่อการก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  หรือระงับซึ่งสิทธิของบุคคล

               กล่าวอีกนัยหนึ่ง  นิติกรรมตามกฎหมายแพ่งคือ  การใดๆก็ตามที่ยังให้สิทธิของบุคคลเกิดการเคลื่อนไหว  เช่น  การซื้อขาย  ผู้ซื้อย่อมได้ซึ่ง(กรรม)สิทธิ์ในทรัพย์ที่ตนซื้อ  ส่วนผู้ขายก็ได้สิทธิที่จะรับชำระราคาค่าสินค้านั้น  เป็นต้น

               ในทางกลับกัน  เมื่อฝ่ายหนึ่งมี  "สิทธิ"  ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  อีกฝ่ายซึ่งร่วมตกลงกัน  หรือในทางกฎหมายเรียกว่า  เป็นคู่สัญญากัน  ย่อมจะมี  "หน้าที่"  ในสิ่งนั้นเสมอ

                ดังตัวอย่างข้างต้น  การซื้อขาย  เมื่อผู้ซื้อมี  "สิทธิ"  ในตัวสินค้า  ผู้ขายย่อมมี  "หน้าที่"  ในการมอบสินค้า  หรือส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ
                ในทางกลับกัน  เมื่อผู้ขายมี  "สิทธิ"  ในการรับเงินค่าสินค้า  ผู้ซื้อ  ซึ่งได้ตัวสินค้าไป  ย่อมมี  "หน้าที่"  ในการชำระราคาให้แก่ผู้ขายด้วย

               และด้วยความที่  "นิติกรรม"  ก่อให้เกิด  "สิทธิ"  และ  "หน้าที่"  ต่อกันนี้เอง  เมื่อบุคคลฝ่ายเดียวหรือสองฝ่าย(ส่วนใหญ่หากเป็นคดีมีข้อพิพาทมักจะมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งฝ่าย)  ก่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น  ย่อมมีความเป็นไปได้ที่บุคคลเหล่านั้นจะเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้นจาก  "สิทธิ"  และ  "หน้าที่"  ที่ตนมี

               นิติกรรมจึงเป็นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้ฟ้องร้องกันได้ในที่สุด


      1.2  นิติเหตุ  คือ  เหตุซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นที่มาของสิทธิและหน้าที่ของบุคคล  โดยปกติแล้วเหตุเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะ  "ก่อ"  เหตุขึ้น  แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว  กฎหมายยอมรับว่าให้มีผลใดๆในสิทธิและหน้าที่ของบุคคลได้

            นิติเหตุในทางกฎหมายแพ่งมีอยู่สามประการด้วยกัน  คือ  ละเมิด  ลาภมิควรได้  และจัดการงานนอกสั่ง

            ละเมิด  คือ  การที่บุคคลใดทำให้บุคคลอื่นเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  ชื่อเสียง  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิต่างๆ  ไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม  (อ้างอิงจากหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๔๒๐)
            ตัวอย่างเช่น  ขับรถชนท้ายรถคันหน้า,  จงใจลงข่าวเท็จเพื่อให้คนบางคนเสียหาย  ฯลฯ
            ....แบบนี้  กฎหมายกำหนดเลยว่า  ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องชดใช้  และผู้กระทำก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

            ลาภมิควรได้  คือ  การได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้(ตามความในมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)  หรืออีกนัยหนึ่ง  ลาภมิควรได้คือการได้ทรัพย์มาโดยไม่สามารถจะอ้างความชอบธรรมในการครอบครองทรัพย์นั้นได้  ไม่ว่าเหตุแห่งการอ้างไม่ได้จะเกิดขึ้น  ณ  ขณะที่รับมา  หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ตาม  [จะแลคเชอร์ถึงในโอกาสต่อไป...]
            ผลคือ  ต้องคืนทรัพย์นั้นให้เจ้าของไป  เว้นแต่เจ้าของจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายบางหลักว่า...เรียกคืนไม่ได้
            แต่ในกรณีที่เรียกได้  กฎหมายก็อนุญาตให้ฟ้องร้องได้เช่นกัน

           จัดการงานนอกสั่ง  คือ  การที่บุคคลหนึ่งเข้าไปจัดการงานของผู้อื่นโดยเขาไม่ได้สั่ง  หรือไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใดใดในการกระทำนั้น
            ผลที่ตามมาคือ  กฎหมายอนุญาตว่า  หากเกิดอะไรขึ้นก็ตามระหว่างกัน  ต่างฝ่ายย่อมฟ้องกันได้


     1.3  ด้วยผลของกฎหมาย  เป็นกรณีซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้บุคคลต้องมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน  เช่น  ในบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องทรัพย์  ครอบครัว  หรือมรดก

           ทรัพย์  เช่น  กำหนดว่าเมื่อบุคคลใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์(ศัพท์ทั่วไป = เป็นเจ้าของ)  บุคคลอื่นย่อมมีหน้าที่คือ  รับรู้ในกรรมสิทธินั้น  ไม่เข้าไปกระทำการใดๆอันรบกวนกรรมสิทธิของเจ้าของทรัพย์
          หากเกิดข้อพิพาท(ศัพท์ทั่วไป = ทะเลาะกัน)  เกี่ยวกับทรัพย์  หากเป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายแพ่งแล้ว  ย่อมฟ้องร้องกันได้

          ครอบครัว  เป็นต้นว่า  บิดามารดากับบุตรย่อม  หรือสามีภริยาย่อมมีหน้าที่อุปการะซึ่งกันและกัน  ถ้าไม่ปฎิบัติ  ฟ้องได้นะ
          อย่างไรก็ดี  บุตรไม่สามารถฟ้องบุพการีของตนได้
         [บุพการี  =  พ่อแม่  ปู่ย่าตายาย  พ่อแม่ของปู่ย่าตายาย  ไล่ไปได้เท่าที่ยังอยู่]


      การใช้สิทธิทางศาลแบบต้องมีคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือเป็นคดีมีข้อพิพาทนี้  หนังสือที่ยื่นต่อศาลจะเรียกว่า  "คำฟ้อง"


  2.  เมื่อบุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาล  กล่าวคือ  มีเหตุบางประการอันกฎหมายให้สิทธิไว้ว่าสามารถยื่นต่อศาลเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือรับรองซึ่งสิทธิของตนได้  ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า  ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายแพ่งเท่านั้น  

      เช่น  การครอบครองปรปักษ์ในอสังหาริมทรัพย์ครบ  10  ปี  ย่อมสามารถทำเป็นคำร้องให้ศาลแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิในที่ดินได้
         ครอบครองปรปักษ์  คือ  เข้าไปยึดถือและครอบครองไว้โดยสงบ  เปิดเผย  ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ(คำอธิบายแบบทั่วไป = ทำไม่รู้ไม่ชี้เข้าไปอยู่ในที่ชาวบ้านจนครบ 10ปี)  ตามปพพ(=ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)  มาตรา  ๑๓๘๒
         อสังหาริมทรัพย์  คือ  ที่ดิน  ทรัพย์ที่ติดกับที่ดิน  หรือ  สิทธิอันเกี่ยวหรือติดกับที่ดิน

     โดยคดีประเภทนี้จะเป็นคดีซึ่งไม่ต้องโต้แย้งกับผู้ใด(ศัพท์ทั่วไป = ไม่ต้องทะเลาะกับใคร)  อันเรียกว่าคดีไม่มีข้อพิพาท  หนังสือซึ่งต้องยื่นต่อศาลกรณีนี้จะเรียกว่า  "คำร้อง"



   กล่าวโดยสรุป  บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลได้ต่อเมื่อสิทธิของตนได้รับความกระทบกระเทือน  อันต้องร้องต่อศาลเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือรับรอง  โดยสิทธิดังกล่าวต้องเป็นสิทธิซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีได้และใช้สิทธิได้เท่านั้น
   

2 ความคิดเห็น: