วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การฟ้องคดีแพ่ง (2) : ฟ้องที่ไหน
โอเค ทราบกันไปแล้วว่าทำไมคนเราถึงต้องเดินไปหาเรื่องศาล เอ๊ย เอาเรื่องไปให้ศาลวินิจฉัย ปัญหาต่อไป....
....ฟ้องที่ไหนดีล่ะ???
กรณีนี้จะต้องอิงหลักกฎหมายว่าด้วยเรื่องอำนาจศาล ซึ่งจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องอันเกี่ยวกับการดำเนินคดีในทางแพ่งได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้
1. เขตอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๕ ได้วางหลักว่า "ห้ามศาลใช้อำนาจนอกเขตศาล เว้นแต่....."
ดังนั้น คดีแพ่งต้องฟ้องต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีแพ่ง ซึ่งมีเขตอำนาจในการรับคำฟ้องได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ก. กรณีเป็นคดีมีข้อพิพาท
1.1 กรณีทั่วไป ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๔ อนุ (๑) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล..."
จากบทบัญญัติดังกล่าว คดีมีข้อพิพาทจะเสนอคำฟ้องได้สองศาลด้วยกัน หนึ่งคือศาลซึ่งจำเลย หรือผู้จะถูกฟ้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น เช่น หากจำเลยเป็นคนเชียงใหม่ ผู้ฟ้องหรือโจทก์สามารถฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ เป็นต้น
อีกทางเลือกหนึ่งของการฟ้องคดีคือศาลซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล คือ หากเหตุแห่งการพิพาทหรือเรียกร้องเกิดขึ้น ณ ที่ใด ย่อมสามารถฟ้องคดี ณ ศาลในที่นั้นได้ เช่น รถถูกชนที่ระยอง เจ้าของรถที่ถูกชนสามารถฟ้องคดีที่จังหวัดระยองได้ แม้ว่าผู้ขับรถชนและเจ้าของรถที่ถูกชนจะไม่ได้อยู่ที่ระยองก็ตาม
1.2 กรณีที่ฟ้องหรือพิพาทกันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ สามารถฟ้องคดีได้ที่ศาลในเขตที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นหรือไม่ก็ตาม (ตามปวิพ มาตรา ๔ ทวิ)
เช่น ตกลงกันไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี แม้คู่กรณีจะอยู่คนละจังหวัด เช่นฝ่ายหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ปัตตานี ในกรณีนี้สามารถไปทะเลาะกันหน้าศาล เอ๊ย นำคดีไปฟ้องศาลจังหวัดปทุมธานีได้ เพราะเป็นศาลซึ่งที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่นั่นเอง
1.3 หากเป็นข้อพิพาทซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นต่างชาติ หรือไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ให้พิจารณาตามลำดับดังนี้
(i) หากจำเลยเคยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย(กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเคยประกอบกิจการใดใดในประเทศไทย ภายในสองปีก่อนวันยื่นฟ้อง ให้ถือว่าที่ๆเคยเป็นที่อยู่(กรณีบุคคลธรรมดา) ที่ๆเคยเป็นที่ประกอบกิจการ หรือที่ๆเป็นที่อยู่ของตัวแทนผู้ถูกฟ้องนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย
...........ฟ้องในศาลที่มีอำนาจในเขตข้างต้นโดยยึดตามข้อ 1.1 ว่าด้วยภูมิลำเนาจำเลยได้เลยค่ะ
(ii) หากจำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย และเหตุแห่งการพิพาทก็ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีเป็นคนไทย หรือมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง(รัชดา) หรือศาลซึ่งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
1.4 หากข้อพิพาทเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดขึ้นในเรือหรือเครื่องบินซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยและถือว่าเป็นเครื่องของไทย ให้ฟ้องที่ศาลแพ่ง(ค่ะ....ที่อยู่รัชดาน่ะค่ะ)
ข. กรณีเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท
1.5 ตามปวิพมาตรา ๔ อนุ (๒) บัญญัติว่า "คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่"
หรือก็คือ ให้เสนอต่อศาลที่เหตุแห่งการยื่นคำร้องขอเกิดขึ้น หรือศาลที่ผู้จะร้องขอมีภูมิลำเนาอยู่
1.6 คดีร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย
สรุปก็คือคนตายอยู่ไหนก่อนตาย ฟ้องที่นั่นแหละ (เริ่มไม่ศัพท์กฎหมายแล้วมั้ยล่ะ)
อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ยึดตามข้อ 1.2 ดังที่กล่าวข้างต้น
ประเด็นสำคัญคือ เรื่องที่จะเสนอต่อศาลไทยนั้นต้องมี "จุดเกาะเกี่ยว" กับประเทศไทย กล่าวคือ ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย หรือเกิดเหตุในประเทศไทย หาไม่แล้ว จะไม่สามารถยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลในประเทศไทยได้เลย
โอเค เมื่อเลือกเขตศาลกันได้แล้ว ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาก็คือ
2. อำนาจศาล
หลักมีอยู่ว่า ศาลที่มีอำนาจรับพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งคือ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลจังหวัด และศาลแขวง
เฮ้ย มีหลายศาล?
ใช่ค่ะ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีนั้น ตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยศาลแพ่งมีเขตอำนาจทั่วประเทศ ส่วนอีกสองศาลนั้นก็มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่โดยรอบศาล
ส่วนศาลจังหวัดและศาลแขวงนั้นมีอยู่ทั่วประเทศเกือบจะทุกจังหวัด แม้แต่ในกรุงเทพฯก็มีศาลจังหวัดและศาลแขวงเช่นกัน
อ้าว แบบนี้เขตอำนาจไม่ซ้อนกันหรือ ?
ซ้อนค่ะ ดังนั้น จึงต้องมีการแบ่งอำนาจศาลกันไงล่ะคะ
นอกจากจะแบ่งว่าศาลไหนคุมพื้นที่ใดบ้างแล้ว(สำหรับในกรุงเทพมหานครนะ) หลักการมีอยู่ว่า ในพื้นที่ซึ่งมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวงให้แบ่งเขตอำนาจกันดังนี้ คือ
"ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง เฉพาะคดีซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท" ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๔ และ ๒๕
ดังนั้นแล้ว หากเป็นกรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาลอันไม่ใช่กรณีมีข้อโต้แย้งหรือคดีไม่มีข้อพิพาท และ ฟ้องร้องแก่กันโดยมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาทขึ้นไป ต้องไปฟ้องยังศาลจังหวัด ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี หรือศาลแพ่ง ตามแต่จังหวัดที่ท่านประสงค์จะยื่นฟ้อง
เพิ่มเติม :
1. คดีมีทุนทรัพย์คือคดีที่ฟ้องร้องเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินจากกัน อาจเรียกเป็นตัวเงินหรือเรียกทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องได้ความว่า เมื่อชนะคดี ผู้ฟ้องจะได้ทรัพย์มาเป็นของตนหรือของฝ่ายตน
2. ทุนทรัพย์คือจำนวนเงินที่เรียกร้องกันมาในมูลคดีหรือการฟ้องคดี หากเรียกเป็นจำนวนเงินโดยตรง ให้พิจารณาจากจำนวนเงินที่เรียกร้องกัน แต่หากเกี่ยวด้วยทรัพย์สิน ให้คิดโดยตีราคาทรัพย์นั้นหรือราคาซึ่งทรัพย์นั้นอาจทำเงินได้ เช่น ฟ้องขับไล่ ให้คิดทุนทรัพย์โดยตีราคาว่าบ้านที่จะไล่เขานั้นหากให้เช่าจะให้เช่าได้ราคาเท่าใด อย่างไรก็ดี คดีฟ้องขับไล่เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์นะคะ เพราะคำขอหลักไม่ได้เรียกตัวเงินหรือทรัพย์สิน
และนี่คือหลักการพิจารณาว่า คดีของท่านต้องไปยื่นเพื่อรับการพิจารณาจากศาลใด
แต่ช้าก่อน ต่อไปนี้คือข้อยกเว้น
1. คดีใดใดก็ตามที่เกิดในประเทศไทยซึ่งอยู่นอกเขตศาลแพ่ง สามารถยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งได้ เพราะมาตรา ๑๖ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้อำนาจศาลแพ่งในการรับพิจารณาพิพากษาได้ หรือจะโอนไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจก็ได้เช่นกัน
เช่น เล่นแชร์แล้วถูกโกงที่ชลบุรี คนโกงหนีกลับบ้านที่ขอนแก่น ถ้ายังงงๆไม่แน่ใจว่าจะฟ้องที่ไหน วิ่งไปยื่นเรื่องที่ศาลแพ่งรัชดาได้เลยค่ะ ถ้าท่านไม่รับ ประเดี๋ยวท่านก็โอนไปยังศาลที่มีอำนาจเอง
หมายเหตุ คนเขียนไม่มีเจตนาจะกล่าวหาว่าจังหวัดใดดีไม่ดีนะ แค่ยกตัวอย่างตามจังหวัดที่นึกขึ้นได้ขณะที่ยกตัวอย่างเฉยๆ
2. หากคำฟ้องหรือคำร้องขอใดเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออันเกี่ยวเนื่อง หรือสืบเนื่องมาจากการพิจารณาคดีในศาลใด ให้ยื่นต่อศาลนั้น เช่น คดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ หากเราจะร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ไม่ว่าเหตุผลใดใด แม้เราจะมีสิทธิฟ้องที่ศาลมากกว่าหนึ่งศาล แต่เราก็ต้องยื่นคำร้องไปที่ศาลที่ตัดสินให้ยึดทรัพย์เท่านั้น เป็นต้น
นอกจากเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดีแล้ว คดีที่ต้องการให้ศาลถอดถอนตำแหน่งของบุคคลใดอันศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้ง หรือประสงค์ให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดใดอันศาลได้มีคำสั่งชี้ขาดแล้ว ก็ต้องยื่นที่ศาลซึ่งได้แต่งตั้งหรือออกคำสั่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
อีกประการหนึ่งคือคำร้องเกี่ยวกับการสืบพยานล่วงหน้าในคดีใด หากได้ยื่นต่อศาลใดแล้วประสงค์จะยื่นเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลนั้น แต่หากยังไม่ได้ยื่นต่อศาลนั้นก็ให้ยื่นต่อศาลซึ่งพยานหรือหลักฐานที่ต้องการจะสืบล่วงหน้ามีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น
หลักเหล่านี้เป็นข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗ ค่ะ
เฮ้อ จบเสียที.... หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะ
.....แต่อย่างน้อยคนเขียนก็ได้ประโยชน์ตรงที่ได้ทบทวนเรื่องเขตอำนาจศาลแหละน่าาา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น