วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559
การดำเนินคดีแพ่ง : เมื่อท่านถูกฟ้องคดี
กล่าวถึงฟากโจทก์ไปแล้ว มากล่าวถึงฟากจำเลยกันบ้าง..
เมื่อเคราะห์หามยามไม่ค่อยจะดีมาถึง จะมีพนักงานไปรษณีย์หรือพนักงานศาลมากดกริ่งหน้าบ้านท่าน พร้อมเอกสารชุดหนึ่ง มีใจความว่า
"มีผู้ฟ้องท่านเป็นจำเลยในคดีแพ่งค่ะ"
ช็อค ! โอเค อนุญาตให้ช็อคได้ แต่อย่าตกใจนาน เรามีเรื่องให้ดำเนินการกันอีกมาก เริ่มกันเลย
1. ลำดับแรก ตรวจดูสำเนาคำฟ้องและเอกสารประกอบเสียก่อน(โดยมากจะเป็นสำเนาพยานเอกสารต่างๆที่สำคัญ) เพื่อดูว่าใครฟ้องเรา ฟ้องเรื่องอะไร มีเหตุผลใดประกอบบ้าง เพื่อที่ว่าเราจะได้หยิบประเด็นที่เขาว่ามานั้นน่ะ มาทำคำให้การตอบกลับไป
หากไม่มั่นใจจะวิ่งไปหาทนายที่ใดก็ได้ แต่หากคิดว่าอยากเตรียมตัวเองไว้ก่อนบ้าง ขอเชิญอ่านข้อต่อไป
2. ทำคำให้การ คำให้การคือกระบวนพิจารณาใดๆซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง ซึ่งในที่นี้ก็คือ เอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเราต้องทำเพื่อโต้แย้งคำฟ้องที่มีผู้ฟ้องเรามา
แล้วต้องทำอย่างไร? ประการแรก ควรทำเป็นหนังสือ แม้จะมีบางคดีที่สามารถโต้แย้งด้วยวาจาได้ก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการสู้คดี ควรทำเป็นหนังสือจะดีกว่า จะได้มีหลักฐานเก็บไว้ด้วย ก่อนอื่น คำให้การต้องใช้แบบฟอร์มของศาล จะดาวโหลดจากอินเตอร์เนตหรือไปขอที่ศาลก็ได้ เมื่อได้เอกสารมาแล้ว มาเริ่มกรอกกันเลย ในส่วนชื่อที่อยู่หรือข้อมูลส่วนตัวคงไม่ต้องแนะนำกระมัง คงจะกรอกกันได้โดยสวัสดิภาพ
มาว่ากันต่อเรื่องเนื้อหาของคำให้การกันบ้าง มีหลักกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งเขียนไว้ว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้อหาของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" ซึ่งหมายถึง ให้เรากล่าวไปในคำให้การว่า สำหรับข้อหาซึ่งมีผู้ฟ้องมานั้น เรายอมรับหรือไม่ว่ามันจริง เพราะเหตุใด แล้วมีข้อโต้แย้งใดใดหรือไม่ มีอะไรบ้าง หรือเราจะปฏิเสธก็ได้ว่าสิ่งที่เขาฟ้องมานั้นไม่จริง พร้อมเหตุผลว่าทำไมไม่จริง
อาจไม่จำเป็นต้องสำนวนเป๊ะแบบกฎหมาย แต่อ่านแล้วต้องรู้เรื่องว่า เขียนว่าอะไร เถียงว่าอะไร เหตุผลคืออะไร
เช่น เขาฟ้องเรามาว่า เราติดหนี้เขา 300,000 บาทนะ ชำระเงินต้นบวกดอกเบี้ยมาเสียดีดี
...........เราอาจตอบไปว่า เออ เราเป็นหนี้จริง เราจะชำระให้
...........หรือเราอาจตอบว่า เรากู้จริง แต่เราจ่ายไปครึ่งหนึ่งแล้วนะ ดูเอกสารสิ...
...........หรือเราอาจเถียงว่า ฉันไม่ได้กู้ แกปลอมลายเซนฉันลงในสัญญา บลาๆๆ
ก็ว่ากันไป
นอกจากจะยอมรับหรือปฏิเสธแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิเราฟ้องกลับโจทก์ด้วย ว่าในมูลเหตุที่แกฟ้องฉันมาเนี่ยนะ แกเองก็ต้องรับผิดต่อฉันเช่นกัน จะมาเรียกร้องฝ่ายเดียวไม่ได้นะเฟ้ย ประเด็นสำคัญของหลักนี้มีอยู่ว่า สิ่งที่จะฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาชี้ขาดไปได้ในคราวเดียวกัน หาไม่แล้ว หากฟ้องไปศาลจะบังคับให้เราไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่ง
เช่น โจทก์ฟ้องมาว่า แกซื้อของไม่จ่ายเงิน จ่ายเงินมาเดี๋ยวนี้ เราอาจเถียงไปว่า แล้วที่ฉันให้แกเอาของกลับไปเปลี่ยนอะไหล่แกยังไม่ทำเลย เงินยังไม่ให้เว้ย เป็นต้น แบบนี้ฟ้องกลับได้
แต่ถ้าจะฟ้องกลับว่า แล้วที่วันก่อนรถแกขับมาชนรั้วบ้านฉันน่ะ จ่ายค่าเสียหายมา อันนี้ไม่ได้ ถือว่าไม่เกี่ยวกัน ไปฟ้องใหม่เถอะ
ทั้งคำให้การและฟ้องแย้ง หากมีเอกสารอะไรก็เตรียมไว้ด้วยเน่อ จะได้ยื่นพร้อมคำให้การไปเลย มารอยื่นทีหลัง ประเดี๋ยวศาลตรวจเอกสารแล้วหาอะไรไม่เจอจะยุ่ง play safe ไว้ก่อนดีกว่า
สิ่งที่พึงจำอีกอย่างหนึ่งคือ คำให้การต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหมายสำเนาคำฟ้อง หรือหากกรณีพิเศษที่ปิดหมายโดยคำสั่งศาล ก็มีเวลา 30 วัน ทางที่ดีควรทำให้เสร็จภายในกำหนดดีกว่า และวิธียื่นคือ ให้ไปยื่นที่ศาลโดยตรง ห้ามส่งไปรษณีย์ ดูว่าคำฟ้องมาจากศาลไหนเป็นผู้ส่งก็ไปส่งศาลนั้น
เพราะหากเราไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลจะถือว่าเราขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีด้วยเหตุขาดนัดยื่นคำให้การได้ จะแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชกเลยนะ
เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้ โดยหากขอก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การ ต้องอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การได้ ส่วนหากขอหลังสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การให้อ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การได้
หลักสำคัญคือ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และต้องไม่ได้เกิดเพราะความผิด ความไม่ใส่ใจ หรือความหลงลืมของฝ่ายผู้ยื่นเอง มิฉะนั้นศาลจะไม่อนุญาต
3. เมื่อยื่นคำให้การแล้ว หากในคำให้การเรามีฟ้องแย้งด้วย และศาลเห็นว่าฟ้องแย้งเราชอบด้วยกฎหมายสามารถกระทำได้ ศาลจะให้สำเนาคำให้การและฟ้องแย้งส่งให้แก่โจทก์
แนะนำว่าก่อนยื่นฟ้องให้สำเนาหรือซีร็อกเผื่อไปก่อนเลย จะได้ไม่ต้องไปเตรียมต่อหน้าศาลให้วุ่นวาย
ลำดับแรก จงไปเสียค่านำหมายให้เจ้าหน้าที่ศาลซะ เขาไม่ทำให้จะเสียหายมากกว่าค่าส่งหมาย เว้นแต่ศาลสั่งให้เราส่งด้วยตัวเอง
หลังจากนั้น จนกว่าจะแน่ใจว่าเอกสารไปถึงมือโจทก์ ควรไปเยี่ยมศาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานศาลส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งของเราแก่โจทก์หรือยัง ถ้าส่งไม่ได้เราจะได้เตรียมแถลงเพื่อให้ศาลสั่งอย่างอื่นต่อไป
ถ้าไม่ทำแล้วเจ้าพนักงานส่งไม่ได้ ศาลจะถือว่าเราเพิกเฉยไม่ดำเนินการในส่วนฟ้องแย้ง และจำหน่ายฟ้องแย้งของเราเสียจากสารบบความ
เมื่อส่งสำเนาแก่โจทก์แล้ว ศาลจะให้เวลาโจทก์ในการยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง 15-30 วัน แล้วแต่ว่าส่งในรูปแบบไหน เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้กลับไปตรวจว่าโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหรือยัง
หากครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วโจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ให้เรามีคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ(แก้ฟ้องแย้ง)ของโจทก์
คดีหลักจะชนะรึเปล่าไม่รู้ แต่คดีรองนี่ หากเป็นแบบนี้ก็มีโอกาสชนะสูงล่ะ
แต่ถ้าไม่ยื่นขอ....ศาลอาจจำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการขาดนัด
เกือบลืม ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลด้วย อัตราเดียวกับที่เคยเขียนในส่วนโจทก์ คือ ไม่มีทุนทรัพย์ - 200 บาท, ทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสน - ไม่เกิน 2000 บาท, ไม่เกินห้าสิบล้าน - 2% แต่ไม่เกินสองแสน
เมื่อสิ้นกระบวนการนี้จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาต่อไป
4. จากนั้น ศาลอาจนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีกี่ประเด็น และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบในประเด็นใดบ้าง โดยหากศาลกำหนดวันนัดชี้สองสถานศาลจะแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
วันชี้สองสถาน เช่นเดียวกับที่แนะนะฝ่ายโจทก์คือ ควรมาศาล เพราะจะได้ทราบว่าใครจะต้องนำสืบเรื่องใด ฝ่ายใดเป็นผู้นำสืบก่อน ทั้งยังได้ทราบว่าวันใดใครสืบอะไรบ้าง จะได้มาฟังมาค้านให้ถูกวัน
นอกจากนี้ การมาศาลวันนัดชี้สองสถานยังให้ประโยชน์ในกรณีที่ หากศาลกำหนดประเด็นเราไม่ครบถ้วน เราจะได้ใช้สิทธิโต้แย้งไว้ได้ หากศาลไม่เห็นด้วยอีก เราก็โต้แย้งอีกเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้ หากไม่มีศาลจะแทบไม่มีสิทธิในส่วนนี้เลย เพราะกฎหมายจะถือว่าเราทราบแล้วและไม่คัดค้าน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ หรือเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น เราจึงจะมีสิทธิโต้แย้งได้
มีสิทธิเสียเปรียบได้นะ
5. เมื่อกำหนดวันพิจารณาและสืบพยานแล้ว ไม่ว่าวันนัดสืบพยานนัดแรกนั้นฝ่ายที่ต้องสืบจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลย(คือฝ่ายเรา)ก็ตาม ต้องมาศาล มิเช่นนั้นจะถือว่าขาดนัดพิจารณา
หากโจทก์ก็ขาดนัดพิจารณาด้วย ศาลจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ก็รอดไปเปลาะนึงแต่ไม่เด็ดขาด เพราะการจำหน่ายคดีไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่ ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความ
หากเราขาดนัดพิจารณาอยู่ฝ่ายเดียว ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วตัดสินชี้ขาด ซึ่งโดยมากน่ะ หากอีกฝ่ายเล่นเกมเป็น เขาจะสืบให้เสร็จภายในวันเดียวโดยสืบให้ตัวเองมีทางชนะ แล้วให้ศาลพิพากษาเลย
จำเลยแพ้แน่
ถ้าเรามาแต่โจทก์ขาดนัด ศาลอาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่ฝ่ายจำเลยขอให้พิจารณาคดีต่อ
จงทำแบบย่อหน้าที่แล้ว คือขอให้พิจารณาคดีต่อ เช่น ขอสืบพยาน ขอให้ยกฟ้อง แล้วนำสืบให้ตัวเองมีทางชนะให้เสร็จภายในวันเดียว แล้วให้ศาลพิพากษาเลย
โอกาสชนะมาถึงแล้ว
อ่อ กรณีฝ่ายโจทก์ขาดนัด หากเราฟ้องแย้งไว้ด้วยก็ดำเนินคดีไปรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ถือว่าเราเป็นฝ่ายโจทก์ในฟ้องแย้ง และโจทก์ฟ้องแย้งเป็นจำเลย ก็เท่านั้น
6. เมื่อสองฝ่ายมาศาลนัดแรกครบถ้วน การพิจารณาก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนแต่ละฝ่ายแถลงหมดพยาน หรือศาลเห็นว่าพอพิพากษาได้แล้ว สั่งงดสืบพยานและฟังคำพิพากษา
ถ้าโจทก์ชนะ เราก็ต้องจ่ายหรือทำอะไรสักอย่างตามที่โจทก์ขอ เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีต่อไป
หากเราไม่พอใจ ก็อุทธรณ์ได้ หลักเดียวกับโจทก์คือดูทุนทรัพย์เป็นหลัก ถ้าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน 50,000 ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ถ้าเป็นคดีฟ้องขับไล่ หากค่าเช่าไม่เกิน 4,000 ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีไม่มีทุนทรัพย์ประเภทอื่นๆ อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้เสมอ
ถ้าเราชนะ เราก็หลุดพ้น แต่เชื่อเถอะว่าโจทก์อุทธรณ์แน่ อย่างไรก็ดี ชั้นอุทธรณ์เราจะไม่ถูกบังคับให้ยื่นคำให้การแล้ว รอฟังผลไปอย่างเดียวแล้วกัน
ขอให้โชคดี...
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น