วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กฎหมายอาญาภาคทั่วไป ว่าด้วยเรื่องการใช้กฎหมายอาญา



    คุยกับน้องสาวคนสนิทแล้วรับปากว่า  นั่งสรุปอาญาเสร็จเมื่อไหร่จะให้อ่าน  แต่เห็นลายมือตัวเองแล้ว  ละเหี่ยใจ  เอาแบบนี้ก็แล้วกัน  จะได้ทวนตัวเองอีกรอบ  แถมยังอ่านรู้เรื่องกว่าด้วย
    แต่อย่าคาดหวังอะไรมาก  คนเขียนก็ไม่ได้เก่งอะไร  แค่สรุปไว้อ่านเอง  อาจมีศัพท์ไม่ค่อยวิชาการเท่าใดนักโผล่มาบ้างไม่มากก็น้อย


   

             กฎหมายอาญา


    กฎหมายอาญาแบ่งออกเป็นสามภาค  ภาคทั่วไป  ภาคความผิด  และภาคลหุโทษ  มาว่ากันตั้งแต่ต้นเลยดีกว่า


    มาตรา ๑  เป็นบทนิยามศัพท์  และเรื่องอันจะออกสอบหัวข้อแรกเริ่มกันที่มาตรา ๒




         การใช้กฎหมายอาญา

    หมวดนี้เป็นหลักที่ว่า  การกระทำจะต้องรับผิดเมื่อใดบ้าง  หลักการมีอยู่ว่า


  1.  ตามมาตรา ๒  บัญญัติว่า  "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำในสิ่งที่กฎหมายขณะนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิด  และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น  ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย..."

     ส่วนวรรคสองจะมีใจความสำคัญคือ  ถ้าภายหลังมีกฎหมายยกเว้น(คือทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป)  ให้ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด  (ศาลต้องยกฟ้องตามปวิอ.มาตรา ๑๘๕)  ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ  ให้ถือว่าไม่เคยต้องโทษ  ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้โทษสิ้นสุด(คือต้องปล่อย)
  
    สรุปคือ  ถ้าสิ่งที่ทำมีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  ก็ต้องรับโทษ  จนกว่าจะมีกฎหมายออกมาบอกว่า  ไม่ผิดอีกต่อไป  
    ......จบ


  2.  หลักตามมาตรา ๓  "กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษไม่ได้.."  แต่ย้อนหลังเป็นคุณได้  กล่าวคือ  หากมีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วกำหนดโทษใหม่หนักกว่าโทษเดิม  ดังนี้จะนำโทษใหม่ไปเพิ่มโทษให้ผู้กระทำผิดก่อนวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับไม่ได้  เช่น  ไปทำร้ายร่างกายคนเมื่อ 1 มค 59  ศาลลงโทษจำคุกสองปี(ตามปอ.ม ๒๙๕  ทำร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย  จำคุกไม่เกินสองปี)  ต่อมาสมมติมีกฎหมายใหม่เพิ่งบังคับเมื่อวานบอกว่า  ให้การทำร้ายแบบนี้ต้องมีโทษอย่างสูงไม่เกินสามปี  ดังนี้จะไปเพิ่มโทษจำเลยเป็นสามปีไม่ได้  ประเด็นสำคัญอื่นๆเช่น

  -  เฉพาะการเพิกถอนหรือบังคับกฎหมาย  ไม่รวมการเพิกถอนหรือกฎการเลือกตั้ง

  -  เฉพาะกฎหมายอาญา  หรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น

  -  หลักคือ  ไม่ว่าจะใหม่หรือจะเก่า  หากเลือกได้  ต้องใช้ฉบับที่เป็นคุณมากกว่า  เช่น  โทษเบากว่า  อายุความสั้นกว่า  ลงแก่ผู้กระทำผิด    



         ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา  

    หลัก  -  โดยหลักแล้ว  ศาลไทยจะลงโทษเหตุที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทยไม่ได้  เว้นแต่เป็นกรณีที่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างใดอย่างหนึ่งกับราชอาณาจักรไทย  ดังนี้


     1.  หลักเขตแดน

   1.1  ผู้ใดกระทำผิดในราชอาณาจักรไทย  ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย  ตามมาตรา ๔ วรรค ๑

   1.2  การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยาน(เครื่องบิน)ไทย  ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย  ตามมาตรา ๔ วรรค ๒
          เรือไทยหรืออากาศยานไทยในที่นี้  หมายถึง  เรือหรือเครื่องบินซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย  พูดอีกนัยหนึ่งคือ  จดทะเบียนมีสัญชาติไทย

   1.3  ส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย  

     (1)  มองที่การกระทำ  -  มีการตระเตรียมการ(กรณีกฎหมายบัญญัติว่าการตระเตรียมเป็นความผิด)  การพยายาม  การลงมือ  หรือผล  แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือมากกว่า  เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย  ตามมาตรา ๕

     (2)  มองที่ตัวบุคคล  -  มีผู้ใช้  ตัวการ  หรือผู้สนับสนุน  ในการกระทำผิดในราชอาณาจักร  หรือถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร  แม้จะใช้  ร่วมมือ  หรือสนับสนุนอยู่นอกราชอาณาจักร  ก็ให้ถือว่าอยู่ในราชอาณาจักร  ตามมาตรา ๖


     2.  หลักบุคคล  

   2.1  ตามมาตรา ๘  กรณีความผิดเกิดนอกราชอาณาจักร  แต่ผู้กระทำความผิด  หรือ  ผู้เสียหาย  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย  และฝ่ายที่เป็นผู้เสียหายหรือประเทศของผู้เสียหายขอให้ไทยลงโทษ  ก็ลงโทษในประเทศไทยได้  

   ถามว่าความผิดใดบ้างที่ลงโทษในกรณีนี้ได้  คำตอบคือแทบทุกอย่าง  ยกเว้น  

  -  ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

  -  พวกความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  แขกบ้านเมือง  ก่อการร้าย  หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือต่อเจ้าพนักงาน  ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ - ๒๑๖

  -  ความผิดฐานทำแท้ง  

  -  ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

  -  ความผิดฐานบุกรุก  

  -  ความผิดเกี่ยวกับศพ

  -  ความผิดลหุโทษ

   2.2  ตามมาตรา ๙  กรณีเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๔๗ - ๑๖๖  และมาตรา ๒๐๐ - ๒๐๕  นอกราชอาณาจักร  ต้องรับโทษในราชอาณาจักร


     3.  ข้อยกเว้น

  ตามมาตรา ๗  ความผิดบางประการ  แม้ไม่เกิดในราชอาณาจักร  แม้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย  ศาลไทยก็สามารถลงโทษได้  หรืออีกนัยหนึ่งคือ   ความผิดที่แม้กระทำนอกราชอาณาจักร  ก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร  มีดังต่อไปนี้

   3.1  ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร  ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ - ๒๑๖  รวมไปถึงความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามมาตรา  ๑๓๕/๑ - ๑๓๕/๔

   3.2  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงเงินตรา  แสตมป์รัฐบาล  ตั๋วเงิน  และใบหุ้น  ตามมาตรา ๒๔๐ - ๒๔๙,  ๒๕๔,  ๒๕๖,  ๒๕๗  และ  ๒๖๖(๓)  และ (๔)

   3.3  ความผิดด้านการค้ามนุษย์เพื่อการอนาจาร  พูดง่ายๆคือ  ความผิดเกี่ยวกับการค้าโสเภณี  ตามมาตรา ๒๘๒  และ  ๒๘๓

   3.4  ความผิดฐานปล้นทรัพย์และชิงทรัพย์ในทะเลหลวง


แถม  :  ความผิดต่อไปนี้หากเกิดนอกราชอาณาจักร  จะลงโทษในราชอาณาจักรไม่ได้เลย  เนื่องจากไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา  ๗ ถึง ๙ เลย  นั่นคือ  ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม(มาตรา ๑๖๗ ถึง ๑๙๙)  ความผิดเกี่ยวกับศาสนา(มาตรา ๒๐๖ ถึง ๒๐๘)  ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน(มาตรา ๒๐๙ ถึง ๒๑๖)  ความผิดเกี่ยวกับการทำแท้ง(มาตรา ๓๐๑ ถึง ๓๐๕)  และความผิดฐานบุกรุก(มาตรา ๓๖๒ ถึง ๓๖๖)  



         หลักการลงโทษ

   กฎหมายอาญามีหลักอยู่หลักหนึ่งที่ว่า  "บุคคลไม่ต้องรับผิดซ้ำสองในการกระทำครั้งเดียวของตน"  และหลักนี้ได้รับการนำมาใช้ในหมวดว่าด้วยการใช้กฎหมายอาญาเช่นกัน  กล่าวคือ  กรณีซึ่งบุคคลได้กระทำผิดและถูกลงโทษหรือพิพากษาว่าไม่มีความผิดจากการกระทำใดการกระทำหนึ่งของตนมาแล้ว  ศาลอีกประเทศหนึ่งจะมาลงโทษผู้นั้นหรือตัดสินเป็นอื่น(จากพยานและหลักฐานเดียวกัน)เพื่อเอาผิดบุคคลนั้นอีกไม่ได้  

   หลักการดังกล่าวได้แตกออกเป็นสองกรณี  ตามมาตรา ๑๐  และ ๑๑  โดยตามมาตรา ๑๐  นั้นเป็นกรณีของผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักร  ได้รับโทษนอกราชอาณาจักร  ต่อมาเข้ามาในราชอาณาจักร  ส่วนกรณีตามมาตรา ๑๑  นั้นเป็นกรณีของผู้กระทำผิดในราชอาณาจักรแต่รับโทษนอกราชอาณาจักร  ต่อมาเข้ามาในราชอาณาจักร

    อย่างไรก็ดี  หลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นเช่นกัน  ข้อยกเว้นแรกคือ  กรณีซึ่งผู้กระทำผิดถูกพิพากษาให้ลงโทษแล้ว  แต่ยังไม่พ้นโทษ  หรือยังรับโทษไม่ครบ  แล้วเข้ามาในอีกประเทศหนึ่ง  ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้  หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  

    ข้อยกเว้นที่สองของมาตรา ๑๐  และ ๑๑  คือ  ความผิดอันบัญญัติไว้ในมาตรา ๗  อันเป็นความผิดซึ่งแม้ทำนอกราชอาณาจักรก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร  ความผิดเหล่านี้นอกจากจะสามารถพิพากษาลงโทษได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องมีจุดเกาะเกี่ยวแล้ว  ยังสามารถพิพากษาลงโทษซ้ำสองในความผิดครั้งเดียวได้อีกด้วย  




  เฮ้ออ  จบเสียที  สำหรับเรื่องใหญ่เรื่องแรกซึ่งสามารถออกสอบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น