วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

การลงโทษในทางอาญา



     กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายมหาชนอันมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม  ตลอดจนป้องปรามการกระทำผิดต่างๆ  ดังนั้น  กฎหมายอาญาจึงบัญญัติถึงโทษไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืน  หลักในการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามีดังนี้



   1.  โทษทางอาญามีห้าประการ  คือ  ประหารชีวิต  จำคุก  กักขัง  ปรับ  และริบทรัพย์สิน  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘


   2.  ตามมาตรา ๑๘ วรรคท้าย  ห้ามนำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กับผู้ซึ่งกระทำความผิดขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี  หากโทษที่ผู้กระทำเหล่านี้มีโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต  ให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี

      .............อันที่จริงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดโทษหรอก(เป็นสายเหยี่ยว)  แต่กฎหมายเขาว่างี้ก็ว่าตามกันไป........


   3.  สำหรับโทษประหารชีวิต  ให้ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย  ตามปอมาตรา ๑๙


   4.  กรณีจำคุก  บทบัญญัติเกี่ยวกับการจำคุกมีดังนี้

       4.1  กรณีความผิดที่กฎหมายให้ทั้งจำคุกและปรับ  ศาลจะลงจำคุกอย่างเดียวก็ได้  แต่จะปรับอย่างเดียวโดยไม่จำคุกไม่ได้
              เว้นแต่โทษตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติว่าต้องลงทั้งจำทั้งปรับเสมอ  เช่น  โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดฯ
              ในทางปฏิบัติ  หากลงโทษจำคุก  ศาลจะไม่ปรับ  แต่หากรอลงอาญา  ศาลจะปรับ

       4.2  การคำนวนระยะเวลาจำคุก  ให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกทั้งหมดด้วย  เช่น  หากศาลพิพากษาให้จำคุก 1 ปี  แต่จำเลยถูกขังมาแล้วก่อนศาลมีคำพิพากษา 1 เดือน  ดังนั้น  ต้องนำระยะเวลา 1 เดือน  มาหักออกจากโทษทั้งหมดด้วย  รวมแล้วจำเลยต้องถูกจำคุกต่อไปอีก 11 เดือน  เป็นต้น

       4.3  การนับระยะเวลาให้ใช้หลัก 30 วัน  เป็น 1 เดือน  ดังนั้น  อย่าแปลกใจเวลาเห็นข่าวว่าคนนั้นคนนี้ถูกจำคุกเท่านั้นเท่านี้เดือน  เช่น  16 เดือน  เพราะหากตั้งต้นที่เดือนแล้วล่ะก็เวลาจะไม่เท่ากับปีปกติ  เนื่องจากหนึ่งเดือนตามการลงโทษจำคุกจะเท่ากับ 30 วัน  เสมอ  นั่นเอง
              ส่วนปี  คำนวณตามปีปฏิทินปกติ

       4.4 หากโทษสุทธิที่เหลือหลังจากคำนวณแล้วไม่เกินสามเดือน  และข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษมาก่อน  หรือเคยได้รับโทษมาก่อนแต่เป็นโทษที่เกิดจากความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ  ศาลจะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนก็ได้  ตามปอมาตรา ๒๓


   5.  การกักขัง  ให้คุมตัวไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งมิใช่เรือนจำ   หรือที่บ้านของผู้ถูกกักขังก็ได้

        คล้ายๆจำคุก(หรือติดคุกในภาษาชาวบ้าน)  แต่จะหย่อนกว่า  และความจริงมีอยู่ว่า  แทบไม่เคยถูกพูดถึงเท่าใดนัก


   6.  ปรับ  เมื่อได้รับโทษปรับให้ชำระตามที่กำหนด  หากไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน  ศาลมีอำนาจสั่งกักขังแทนค่าปรับได้  ในอัตรา 200 บาท  ต่อหนึ่งวัน  แต่รวมแล้วต้องกักขังไม่เกิน 1 ปี  เว้นแต่กรณีอัตราค่าปรับสูงเกิน 80,000 บาท  ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี  แต่ห้ามเกิน 2 ปี

        ดังนี้  การจะกักขังแทนค่าปรับนั้นต้องได้ความว่ามีการลงโทษปรับเกิน 200 บาท

        หากกักขังครบจำนวนค่าปรับ  หรือมีการนำค่าปรับมาชำระครบถ้วน  ให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที


   7.  การริบทรัพย์สิน  มีหลักดังนี้

       7.1  ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้  มีสามประเภท

          (1)  ต้องริบเสมอ  ตามปอมาตรา ๓๒  ซึ่งวางหลักว่า  ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น  ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด  หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่  กรณีนี้พิจารณาที่ตัว "ทรัพย์"  เป็นหลัก  ว่าโดยสภาพของทรัพย์นั้น  ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือไม่  เช่น  ยาเสพติด  ปืนเถื่อน(ทางปฏิบัติ  สองอย่างนี่แหละเยอะสุด)  หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์  ถ้าเป็นทรัพย์ประเภทนี้  ริบสถานเดียว

          (2)  เป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้  ทรัพย์สินประเภทนี้ได้แก่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อกระทำความผิด  หรือได้มาจากการกระทำความผิด  โดยทั่วไปแล้ว  ทรัพย์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย  เพียงแต่ถูกใช้เพื่อกระทำผิดกฎหมาย  หรือได้มาโดยมิชอบ  เช่น  เอาปืนมีทะเบียนไปลักทรัพย์  หรือเงินจากธนาคารที่ปล้นมาได้  เป็นต้น

                อย่างไรก็ดี  หากพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์เหล่านี้เป็นของผู้ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเลย  ศาลจะไม่ริบก็ได้  เช่น  ทรัพย์ของเหยื่อ(กรณีปล้นมา)  หรือมาพิสูจน์ได้ว่าตอนที่ให้ยืมปืนเนี่ยไม่รู้จริงๆนะว่าคนยืมมันจะเอาไปฆ่าคน  ไรงี้

       (3)  ลูกผสม  ตามหลักคือต้องริบ  เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของผู้ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย  ซึ่งกรณีนี้จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าพนักงาน  หรือการให้รางวัลจูงใจให้มีการกระทำความผิด  ปกติเงินส่วนนี้ต้องริบเสมอ  เว้นแต่มีผู้มาอ้างว่าเงินจำนวนนี้เป็นของตนซึ่งตนไม่รู้จริงๆว่ามีการให้สินบนกัน
             ...........ความเห็นส่วนตัว - ท่าทางจะพิสูจน์ยาก

       7.2  การขอคืนของกลาง  จะเห็นได้ว่าจากข้อ 7.1  กรณีที่สองและสามนั้น  เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงสามารถขอให้ปล่อยของกลางหรือขอคืนของกลางได้  โดยหลักการคือต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายใน 1 ปี  นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  โดยต้องกล่าวอ้างและนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อให้ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนจริงๆ  ไม่ใช่ของผู้กระทำความผิด  และตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยเลยกับการกระทำผิดนั้น  เช่น  ไม่รู้จริงๆว่าทรัพย์ตนจะถูกใช้ในการกระทำความผิด  หรือเก็บทรัพย์ไว้ดีแล้วแต่ผู้กระทำความผิดมาหยิบไปเอง

             ข้อควรระวัง  การแค่เตือนเฉยๆและไม่เก็บให้ดี  ปล่อยให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ไปกระทำความผิด  เคยมีคำพิพากษามาแล้วว่า  ถือว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด


       7.3  การริบทรัพย์  กรณีศาลสั่งริบทรัพย์แล้วไม่ส่งทรัพย์ที่สั่งริบ  ศาลมีอำนาจสั่งยึด  ให้ใช้ราคาเท่ากับทรัพย์นั้น  หรือกักขังผู้ถูกสั่งริบทรัพย์ได้


   8.  สุดท้ายและท้ายสุด  โทษทางอาญาเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด

        อย่างไรก็ดี  กรณีริบทรัพย์สิน  แม้ผู้กระทำผิดตายก็ต้องริบ  เว้นแต่จะได้ความว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ตามมาตรา ๓๓ (ข้อ 7.1 (2))  ซึ่งตกทอดแก่ทายาทผู้ไม่ได้รู้เห็นด้วยในการกระทำความผิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น