วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559
ความรับผิดในทางอาญา (1) update !
ขอออกตัวก่อนนะว่าอันนี้มาจากที่ตัวเองสรุป ไม่ได้อิงหนังสือเล่มไหนทั้งสิ้น ดังนั้นหลักการที่ได้อาจไม่ได้ตรงกับตำรา คนทำเน้นแค่ว่าตัวเองอ่านรู้เรื่องเท่านั้นพอ
ความรับผิดในทางอาญา
มีหลัก 2 ประการ
1. ต้องรับผิด ตามมาตรา ๕๙ วรรค ๑, ๒, ๔, ๕, มาตรา ๖๐, มาตรา ๖๑, มาตรา ๖๒ วรรคท้าย, มาตรา ๖๓, มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๖
2. ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนโทษ
- ด้วยความบกพร่องด้านองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา ๕๙ วรรค ๓, มาตรา ๖๒, มาตรา ๖๔, มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖
- เลวเพราะถูกกระทำ ตามมาตรา ๖๗, มาตรา ๖๘, มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๒
- กรณีพิเศษตามมาตร ๗๐ และมาตรา ๗๑
- ได้รับการลดหย่อนโทษเพราะอายุ ตามมาตรา ๗๓ - ๗๗
- การบรรเทาโทษ ตามมาตรา ๗๘ และมาตรา ๗๙
1. ต้องรับผิด
ตามมาตรา ๕๙
มาตรา ๕๙ วรรค ๑ บัญญัติว่า "บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา"
วรรค ๒ "กระทำโดยเจตนา ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น"
วรรค ๔ "กระทำโดยประมาท ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"
วรรค ๕ "การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"
สรุป
(1) องค์ประกอบความรับผิดทางอาญามีสององค์ประกอบ หนึ่งคือองค์ประกอบภายนอก ซึ่งคือเกิดผลของความผิดทางอาญาขึ้น สองคือองค์ประกอบภายในคือเจตนาจะกระทำผิด เว้นแต่ได้กระทำโดยประมาทในฐานความผิดซึ่ง แม้ประมาทก็ผิด
ส่วนกรณีไม่เจตนา ไม่ประมาท แค่ผลเกิดก็ผิดนั้น ได้แก่พวกความผิดลหุโทษทั้งหลาย ยกเว้นกรณีทำร้ายตามม. ๓๙๑
(2) กระทำโดยเจตนา คือ รู้ ว่าตัวเองกำลังอะไร และ รู้ หรือ คาด ได้ว่า หลังจากทำแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น
เช่น ยกปืนเล็งและยิงไปยังคนตรงหน้า ดังนี้ รู้ ว่าตัวเองกำลังยิง รู้ ว่าที่จะถูกยิงคือคน และ รู้ ว่ายิงแล้วเขาต้องตายหรือบาดเจ็บ ดังนี้เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือพยายาม แล้วแต่ว่าตายมั้ย ซึ่งกรณีนี้ภาษากฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยประสงค์ต่อผล(ผลคือความตายหรือบาดเจ็บ)
แต่ถ้าเล็งปืนไปยังกลุ่มคน กรณีนี้แม้จะ รู้ ว่าตัวเองกำลังจะยิงคน แต่ก็ยัง ไม่แน่ ว่าจะโดนใคร แต่คือ คาดเห็น ได้แน่ว่า ยิงไปแล้วโดนแน่ กรณีนี้ถือว่าเป็นการฆ่าคนโดยเจตนาเช่นกัน แต่เป็นเจตนาโดย ย่อมเล็งเห็นผล
(3) ประมาท คือ ไม่ใช้ความระมัดระวังให้ควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น โดยอิงตามวิสัยหรือตามความคาดเห็นของวิญญูชน หรือคนทั่วๆไป เช่น ขับรถเร็วในเขตชุมชนหรือทางแยก ขับรถไปคุยโทรศัพท์ไป ดังนี้ถือว่าประมาท
ตามฎีกาใหม่ การเข้าไปแย่งปืนจากคนเมาซึ่งรู้อยู่แล้วว่าแค่เอามาถือเฉยๆไม่ยิง จนเป็นเหตุให้กระสุนลั่นโดนคนเมาตาย ดังนี้ถือว่าคนแย่งปืนประมาท(ฎีกาที่ 9210/2556 อย่างไรก็ดี ฎีกานี้ออกผู้ช่วยรอบที่แล้วไปแล้วค่ะ ไม่รู้จะออกอีกมั้ย)
(4) กรณีตามวรรคท้าย การกระทำโดยงดเว้น โดยปกติคนจะผิดได้ต้องมีการกระทำและผลเกิดขึ้น แต่วรรคนี้บัญญัติว่า หากอยู่เฉยๆแล้วปล่อยให้ผลเกิดขึ้นก็เป็นความผิดเหมือนกัน แต่จะผิดตามนี้ได้ต้องได้ความว่า ผู้กระทำโดยงดเว้นมีหน้าที่ป้องกันผลที่เกิดขึ้น โดยหน้าที่ดังกล่าวมาจากหนึ่งในสี่ประการต่อไปนี้
4.1 ผู้งดเว้นมีหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้รับผลร้าย เช่น บิดามารดากับบุตร สามีภริยาตามกฎหมาย มีหน้าที่ดูแลกัน ถ้าพ่อแม่ปล่อยลูกคลานตกตึก ถ้าลูกปล่อยพ่อแม่อดข้าวตาย ถ้าใครเห็นคู่สมรสของตนตกน้ำอยู่แล้วไม่ช่วย ดังนี้ถ้ามีการตายเกิดขึ้น บุคคลที่ว่าจะผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะผิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้ตาย
4.2 ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากการยอมรับเฉพาะเจาะจง เช่น หน้าที่ตามสัญญา จ้างคนมาเป็นการ์ด การ์ดดันปล่อยให้คนมายิงนาย ดังนี้การ์ดผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยการงดเว้น(ต่อหน้าที่ของตน)
4.3 ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อนๆของตน เช่น อาสาพาคนตาบอดข้ามถนน พาข้ามไปได้ครึ่งถนนแล้วทิ้งให้ยืนอยู่กลางถนน ถ้ามีรถมาชนคนตาบอดตาย คนพาข้ามผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยงดเว้น
4.4 ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง เช่น ญาติรับดูแลเด็กในความเป็นจริง ญาติไม่ใช่พ่อแม่ก็จริง แต่ถ้าดูแลอยู่ตลอดแล้วจู่ๆปล่อยเด็กตาย ดังนี้ญาติก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้นะ
มาตรา ๖๐
มาตรา ๖๐มีหลักอยู่ว่า ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลไปเกิดกับอีกคนหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาต่อผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น
- มาตรานี้ต้องการคุ้มครองผู้เคราะห์ร้ายเพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดอ้างว่า ตนไม่ได้ตั้งใจทำคนๆนี้ เพราะงั้นตนไม่ผิด คือถ้าตั้งใจจะทำแล้วเกิดผล ไม่ว่าใครโดนถือว่าผิดทั้งนั้น มักเรียกกันว่า "เจตนาโอน" คือโอนเจตนาตั้งต้นที่จะทำต่อคนหนึ่งไปยังคนที่โดน ถือว่าเจตนากระทำต่อคนที่โดน
- นอกจากนี้ กรณีที่เป้าหมายถูก คือตั้งใจจะยิง ก แล้ว ก ถูกยิง แต่กระสุนพลาดไปโดน ข ด้วย ถือเป็นตามมาตรานี้เช่นกัน ต้องถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาทั้งต่อ ก (ตามม ๕๙) และ ข (ม ๖๐)
- วรรคท้ายของมาตรานี้อยู่ภายใต้หลัก "รู้" คือรู้เท่าใดมีเจตนาเท่านั้น เช่น ตั้งใจจะฆ่าเพื่อน แต่ยิงแล้วดันไปโดนแม่ตัวเองตาย ดังนี้ถือว่าฆ่าแม่โดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา ๖๐ แต่ไม่ถือว่าเป็นบทหนักให้ต้องประหารชีวิตตามมาตรา ๒๘๙(๒) เพราะเจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจจะยิง "แม่" ตัวเองมาแต่แรก
แต่ ถ้าตั้งใจฆ่าพ่อแต่ไปโดนแม่ แบบนี้โอนหมด ถือเป็นเหตุฉกรรจ์ "ฆ่าบุพการี" โทษประหารนะ
- ต้องเป็นการกระทำโดย "เจตนา" ทั้งนี้รวมกรณี "ป้องกัน" และ "จำเป็น" ด้วย
- ต้องได้ความว่าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำต่อผู้โดนลูกหลง หรือผู้เคราะห์ร้ายมาแต่ต้น ถ้าเจตนาจะทำด้วย เป็น ๕๙ ธรรมดา
- มาตรานี้ใช้กรณีผู้เคราะห์ร้ายกับเป้าหมายมีสถานะเดียวกัน คือ คนเหมือนกัน ทรัพย์สินเหมือนกัน จะทำคนดันไปโดนของ จะเตะของดันไปถูกคน ไม่ใช้มาตรานี้
- รวมการกระทำขั้น "พยายาม" ด้วย
มาตรา ๖๑
หลัก ผู้ใดเจตนาจะทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่
- หลักเหมือนกับมาตรา ๖๐ แต่มาตรานี้เป็นกรณี "สำคัญผิด" ไม่ใช่ "พลาด" เช่นว่า จะฆ่า ก แต่ดันไปยิง ข ซึ่งเป็นคู่แฝดของ ก แทน อะไรแบบนี้
มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓
ทั้งสองมาตรานี้เป็นมาตราที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นเมื่อกระทำความผิด โดยหลักตามมาตรา ๖๒ คือ ถ้าบุคคลจะต้องรับผิดมากขึ้นเพราะข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ถึงข้อเท็จจริงนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น สมมติ ก จะฆ่า ข คู่อริ ก ไปดักซุ่มรอตรงมุมตึกที่ ข ผ่านประจำ เมื่อมีคนเดินมา ก ก็ยิงปืนไปทันที ปรากฎว่าคนที่ถูกยิงคือ ค ซึ่งเป็นพ่อของ ก เอง ดังนี้ ถือว่า ก ต้องรับผิดแค่ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตาม ๒๘๘ เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการี เพราะ ก ไม่รู้ว่าคนที่มาให้ตัวเองยิงจะเป็นพ่อของตัวเอง
ส่วนมาตรา ๖๓ นั้น วางหลักว่า ถ้าผลใดทำให้บุคคลต้องรับโทษหนักขึ้น ผลนั้นต้องเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ เมื่อกระทำความผิดไปแล้วเกิดผลร้ายอะไรสักอย่าง หากผลนั้นพอคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด ดังนี้บุคคลนั้นต้องรับผิดหากผลเกิด แต่หากผลเกินเลยไป ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนั้น
ตัวอย่างเช่น ดำใช้มีดดาบฟันขาแดงไป 1 ครั้ง ดังนี้ ดำผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าแผลดังกล่าวติดเชื้อเพราะหมอรักษาไม่ดีต้องตัดขา ดังนี้ดำต้องรับผิดฐานทำร้ายแดงจนเสียอวัยวะด้วย เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่ไกลกว่าเหตุเท่าใดนัก
แต่ จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าดำฟันขาแดงทีเดียวแล้วหนีไปเลย แดงล้มทุลักทุเลอยู่ตรงนั้น ต่อมาขาวเดินมาเห็นแดงบาดเจ็บอยู่ ขาวจำได้ว่าแดงเป็นศัตรูเลยใช้ปืนยิงแดงตาย ดังนี้ ดำไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าแดงหรือทำให้แดงตาย เพราะดำมีแค่เจตนาทำร้าย ดำไม่ได้คาดเห็นว่าแดงจะมีศัตรูมาทำร้ายต่อแบบนั้น ตามมาตรา ๖๓
..............เว้นแต่ดำตั้งใจฟันขาแดงเพื่อให้ขาวมายิง หรือเรียกขาวมายิงหลังแดงล้มลง อันนั้นผิดแน่ ผิดฐานตัวการร่วมด้วย ต้องดูเป็นกรณีๆไป
มาตรา ๖๔ และ มาตรา ๖๖
มาตรา ๖๔ บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิดไม่ได้ คือกฎหมายถือว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย จะอ้างความไม่รู้ไม่ได้ เว้นแต่กรณีบางกรณีจริงๆ
มาตรา ๖๖ บุคคลจะอ้างความมึนเมาเพราะเสพของมึนเมามาเป็นเหตุยกเว้นความผิดไม่ได้ เช่นกัน กฎหมายถือว่า เมื่อแกเสพ/ดื่ม เอง แกต้องรับผิดชอบผลด้วย เว้นแต่เป็นกรณีถูกบังคับเสพ หรือไปดื่มอะไรโดยไม่รู้ว่าทำให้เมาได้ แต่ต้องพิสูจน์กันหนักอยู่ไม่น้อย
เหตุยกเว้นต่อตอนหน้าเนาะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น