วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความผิดต่อแผ่นดิน กับ ความผิดต่อส่วนตัว




     เมื่อเช้าดูข่าวเกี่ยวกับการลักทรัพย์  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  "สุดท้ายยอมความกันไปแล้ว"  แล้วรู้สึกไม่สบอารมณ์  อยากเดินไปสะกิดบอกว่า  "คุณขา  หากผิดลักทรัพย์จริงยอมความไม่ได้นะคะ  ลักทรัพย์เป็นความผิดอาญาแผ่นดินค่ะ  ต่อให้เจ้าทรัพย์ได้ทรัพย์คืนไม่เอาเรื่องแล้วก็เถอะ...
      ....เว้นแต่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว  อัยการเห็นว่าฟ้องไปไม่เป็นประโยชน์  จะไม่สั่งฟ้อง  หรือสั่งยุติการดำเนินคดี  นั่นก็อีกเรื่อง,,,"

     คิดๆไปเลยจะสรุปเรื่อง  ความผิดอาญาแผ่นดิน  กับ  ความผิดต่อส่วนตัวไว้  ณ  ตรงนี้  เลยดีกว่า



     นอกจากสามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะความผิดแล้ว  ในทางปฏิบัติ  การกระทำที่มีโทษอาญาสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท

          1.  ความผิดต่อแผ่นดิน  หรือ  ความผิดอันยอมความไม่ได้  ได้แก่  ความผิดที่มีโทษทางอาญาทุกชนิดที่ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่า  "เป็นความผิดอันยอมความได้"
                เป็นความผิดต่อแผ่นดินทั้งหมด

          2.  ความผิดต่อส่วนตัว  หรือ  ความผิดอันยอมความได้  ได้แก่  ความผิดที่มีกฎหมายระบุไว้ว่า  "ยอมความได้"  หากพิจารณาเฉพาะจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว  มีดังนี้

          2.1  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ได้แก่  ข่มขืน  ทำอนาจาร  ในกรณีที่กระทำต่อบุคคลที่มีอายุมากกว่า 15 ปี,  กระทำโดยไม่มีอาวุธ,  ไม่มีลักษณะเป็นการโทรมหญิง  ,เหยื่อไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย  กรณีเหล่านี้ยอมความได้

           2.2  บังคับให้ผู้อื่นทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง(มาตรา 309)  กักขังหน่วงเหนี่ยวให้ปราศจากเสรีภาพ(มาตรา 310)  หรือทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยประมาท(มาตรา 311)  ยอมความได้
                  เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำไม่ใช้อาวุธ  หรือผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัส  หรือถึงแก่ความตาย  เท่านั้นนะ  ที่ยอมความได้
                  เมื่อใดก็ตามที่เหยื่อได้รับอันตรายสาหัส  หรือถึงตาย  ยังไงก็ยอมความไม่ได้ค่ะ  จำง่ายๆ

          2.3  ความผิดฐานเปิดเผยความลับ  (มาตรา 322-325)

          2.4  ความผิดฐานหมิ่นประมาท

          2.5  ความผิดฐานฉ้อโกง  เว้นแต่ฉ้อโกงประชาชน

          2.6  ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          2.7  ความผิดฐานยักยอก

          2.8  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  เฉพาะกรณีทำต่อทรัพย์ของเอกชน(คือของประชาชนทั่วๆไป)  หรือทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นสาธารณสมบัติ

          2.9  ความผิดฐานบุกรุก  เฉพาะกรณีบุกรุกตอนกลางวัน  บุกรุกคนเดียว  บุกรุกโดยไม่มีอาวุธ  หรือไม่มีการประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้าย

         ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานอกจากที่กล่าวมานี้  เป็นความผิดต่อแผ่นดิน



          ความผิดต่างประเภทกันมีผลในทางปฏิบัติต่างกันอย่างไรบ้าง

     ในทางปฏิบัติ  ความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัวมีผลต่อการดำเนินคดีดังนี้


  1.  การยอมความ  :  หากเป็นความผิดต่อแผ่นดินจะไม่สามารถยอมความได้  หรืออีกนัยหนึ่ง  ไม่สามารถยุติคดีได้ด้วยการที่สองฝ่ายมาเจรจาผ่อนปรนต่อกัน  ไม่ว่าผู้เสียหายจะว่าอย่างไร  ก็ต้องมีการสอบสวนเพื่อส่งให้อัยการฟ้องคดี  หรือหากผู้เสียหายจะฟ้องคดีเองก็สามารถดำเนินการได้เต็มที่

       ส่วนความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้นั้น  เมื่อใดก็ตามได้ความว่ามีการยอมความกันแล้ว  ผู้เสียหายไม่เอาเรื่องแล้ว  อำนาจในการสอบสวน  สิทธิในการดำเนินคดีของผู้เสียหายและอัยการหมดทันที

        หมดแล้วหมดเลยด้วย  ไม่มีสิทธิย้อนกลับ


  2.  อายุความ  :  คดีอาญาแทบทุกประเภทล้วนมีอายุความในการดำเนินคดีแตกต่างกันโดยยึดตามอัตราโทษอย่างสูงของความผิดนั้นเป็นสำคัญ  แต่หากเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้วล่ะก็  จะมีอายุความเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอายุความ  ตามปอ.มาตรา 96  ซึ่งวางหลักไว้ว่า  ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือดำเนินคดี(ดำเนินคดีนี่แนวฎีกา)ภายในสามเดือน  นับแต่รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด  คดีเป็นอันขาดอายุความ

       ดังนั้นแล้ว  หากไม่แน่ใจว่าท่านโดนกระทำอะไรกันแน่  กรุณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง  จะฟ้องคดีหรือจะร้องทุกข์ก็เลือกเอา  ภายในสามเดือนไว้ก่อน  เกิดหวยไปออกว่าคดีเรายอมความได้ขึ้นมา  จะได้ไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความในทางกฎหมายอาญาถือเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ  มีประเด็นขึ้นมาศาลยกฟ้องสถานเดียว

       คนเรียนเองยอมรับว่าอ่านแล้วขัดอกขัดใจไม่น้อยที่เห็นคนไม่ดีหลุดคดีด้วยเหตุนี้  แต่กฎมันเป็นอย่างนี้ก็ต้องว่าตามกันไป...


  3.  การร้องทุกข์  :  ในความผิดต่อแผ่นดิน  พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องได้รับคำร้องทุกข์  เพียงสงสัยหรือมีการกล่าวโทษก็สามารถทำการสอบสวนได้  แต่ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  หากไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบ  พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน  ส่งผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีตามไปด้วย

     เช่น  หากมีเหตุฆ่าคนตาย  ถ้าญาติคนตายมาแจ้งความ  ดังนี้ตำรวจซึ่งมีอำนาจสอบสวนสามารถสอบสวนเอาผิดกับคนฆ่าได้  หรือต่อให้ตำรวจเห็นเอง  หรือได้ยินใครร้องโหวกเหวกว่ามีคนตาย  แค่นี้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีได้แล้ว  เพราะความผิดฐานฆ่าคนตายเป็นอาญาแผ่นดิน  พนักงานสอบสวนสามารถสอบสวนดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์
             แต่หากเป็นกรณีความผิดยอมความได้  เช่น  ผู้หญิงถูกข่มขืน  ถ้าเจ้าทุกข์เองไม่มาแจ้งความ  หรือไม่มอบอำนาจให้ใครมาแจ้งความเอาผิดกับจำเลยแล้วล่ะก็  ตำรวจไม่มีอำนาจทำคดี  เพราะข่มขืนเป็นความผิดอันยอมความได้
             อ่อ  อย่าลืมแจ้งภายในสามเดือนด้วยล่ะ  เดี๋ยวขาดอายุความขึ้นมาจะยุ่งอีก


   สามเรื่องนี้เป็นสามเรื่องใหญ่ๆที่นึกออกอันเป็นผลโดยตรงมาจากข้อแตกต่างระหว่างคดีความผิดต่อแผ่นดินและความผิดอันยอมความได้  นอกจากนี้ก็เช่น  ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  ถ้าเจ้าทุกข์ยื่นฟ้องแล้วถอนฟ้องไป  อัยการฟ้องใหม่ไม่ได้  อะไรแบบนี้



      คราวหน้าเจอใครบอกว่าลักทรัพย์ยอมความกันไปแล้ว  ก็เถียงเขาไปเลย


      ลักทรัพย์เป็นความผิดต่อแผ่นดิน  ยอมความไม่ได้จ้าาา



       สวัสดี...



 ปล.  ส่วนคดีข้างต้นน่ะ  เราว่าเพราะดูแล้วมันเป็นเรื่องตั้งใจจะซื้อของแต่ยังไม่จ่ายตังค์  ซึ่งหากเป็นกรณีนี้จะเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งธรรมดา  เสียมากกว่า  เรื่องมันเลยจบไปได้

     เพราะฉะนั้น  หากคุณมีเจตนาจะซื้อของจริง  เพียงแต่ยังไม่แน่ว่าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่  คุณแค่ผิดสัญญาซื้อขาย  ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง  ตำรวจไม่มีสิทธิจับคุณ
      มีอะไรก็เข้าศาลแพ่งไปละกัน  แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จ่ายๆไปเถ้ออ

     แต่  ถ้าตั้งใจจะเอาของเขาโดยไม่มีเจตนาจะจ่างสตางค์เลยล่ะก็....

     คุก....นะจ๊ะ            

   
   

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความรับผิดในทางอาญา (1) update !



   ขอออกตัวก่อนนะว่าอันนี้มาจากที่ตัวเองสรุป  ไม่ได้อิงหนังสือเล่มไหนทั้งสิ้น  ดังนั้นหลักการที่ได้อาจไม่ได้ตรงกับตำรา  คนทำเน้นแค่ว่าตัวเองอ่านรู้เรื่องเท่านั้นพอ




                 ความรับผิดในทางอาญา

     มีหลัก 2 ประการ

             1.  ต้องรับผิด  ตามมาตรา ๕๙ วรรค ๑, ๒, ๔, ๕,  มาตรา ๖๐,  มาตรา ๖๑,  มาตรา ๖๒ วรรคท้าย,  มาตรา ๖๓,  มาตรา ๖๔  และมาตรา ๖๖

             2.  ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนโทษ

                      -  ด้วยความบกพร่องด้านองค์ประกอบความผิด  ตามมาตรา ๕๙ วรรค ๓,  มาตรา ๖๒,  มาตรา ๖๔,  มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖

                      -  เลวเพราะถูกกระทำ  ตามมาตรา ๖๗,  มาตรา ๖๘,  มาตรา ๖๙  และมาตรา ๗๒

                      -  กรณีพิเศษตามมาตร ๗๐ และมาตรา ๗๑

                      -  ได้รับการลดหย่อนโทษเพราะอายุ  ตามมาตรา ๗๓ - ๗๗

                      -  การบรรเทาโทษ  ตามมาตรา ๗๘ และมาตรา ๗๙



                1.  ต้องรับผิด

          ตามมาตรา ๕๙

     มาตรา ๕๙ วรรค ๑  บัญญัติว่า  "บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา"

       วรรค ๒  "กระทำโดยเจตนา  ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น"

       วรรค ๔  "กระทำโดยประมาท  ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

       วรรค ๕  "การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"


        สรุป

     (1)  องค์ประกอบความรับผิดทางอาญามีสององค์ประกอบ  หนึ่งคือองค์ประกอบภายนอก  ซึ่งคือเกิดผลของความผิดทางอาญาขึ้น  สองคือองค์ประกอบภายในคือเจตนาจะกระทำผิด  เว้นแต่ได้กระทำโดยประมาทในฐานความผิดซึ่ง  แม้ประมาทก็ผิด
            ส่วนกรณีไม่เจตนา  ไม่ประมาท  แค่ผลเกิดก็ผิดนั้น  ได้แก่พวกความผิดลหุโทษทั้งหลาย  ยกเว้นกรณีทำร้ายตามม. ๓๙๑

     (2)  กระทำโดยเจตนา  คือ  รู้  ว่าตัวเองกำลังอะไร  และ  รู้  หรือ  คาด  ได้ว่า  หลังจากทำแล้ว  อะไรจะเกิดขึ้น
            เช่น  ยกปืนเล็งและยิงไปยังคนตรงหน้า  ดังนี้  รู้  ว่าตัวเองกำลังยิง  รู้  ว่าที่จะถูกยิงคือคน  และ  รู้  ว่ายิงแล้วเขาต้องตายหรือบาดเจ็บ  ดังนี้เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  หรือพยายาม  แล้วแต่ว่าตายมั้ย  ซึ่งกรณีนี้ภาษากฎหมายเรียกว่า  เจตนาโดยประสงค์ต่อผล(ผลคือความตายหรือบาดเจ็บ)
            แต่ถ้าเล็งปืนไปยังกลุ่มคน  กรณีนี้แม้จะ  รู้  ว่าตัวเองกำลังจะยิงคน  แต่ก็ยัง  ไม่แน่  ว่าจะโดนใคร  แต่คือ  คาดเห็น  ได้แน่ว่า  ยิงไปแล้วโดนแน่  กรณีนี้ถือว่าเป็นการฆ่าคนโดยเจตนาเช่นกัน  แต่เป็นเจตนาโดย  ย่อมเล็งเห็นผล

     (3)  ประมาท  คือ  ไม่ใช้ความระมัดระวังให้ควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น  โดยอิงตามวิสัยหรือตามความคาดเห็นของวิญญูชน  หรือคนทั่วๆไป  เช่น  ขับรถเร็วในเขตชุมชนหรือทางแยก  ขับรถไปคุยโทรศัพท์ไป  ดังนี้ถือว่าประมาท
            ตามฎีกาใหม่  การเข้าไปแย่งปืนจากคนเมาซึ่งรู้อยู่แล้วว่าแค่เอามาถือเฉยๆไม่ยิง  จนเป็นเหตุให้กระสุนลั่นโดนคนเมาตาย  ดังนี้ถือว่าคนแย่งปืนประมาท(ฎีกาที่ 9210/2556 อย่างไรก็ดี  ฎีกานี้ออกผู้ช่วยรอบที่แล้วไปแล้วค่ะ  ไม่รู้จะออกอีกมั้ย)

     (4)  กรณีตามวรรคท้าย  การกระทำโดยงดเว้น  โดยปกติคนจะผิดได้ต้องมีการกระทำและผลเกิดขึ้น  แต่วรรคนี้บัญญัติว่า  หากอยู่เฉยๆแล้วปล่อยให้ผลเกิดขึ้นก็เป็นความผิดเหมือนกัน  แต่จะผิดตามนี้ได้ต้องได้ความว่า  ผู้กระทำโดยงดเว้นมีหน้าที่ป้องกันผลที่เกิดขึ้น  โดยหน้าที่ดังกล่าวมาจากหนึ่งในสี่ประการต่อไปนี้

             4.1  ผู้งดเว้นมีหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้รับผลร้าย  เช่น  บิดามารดากับบุตร  สามีภริยาตามกฎหมาย  มีหน้าที่ดูแลกัน  ถ้าพ่อแม่ปล่อยลูกคลานตกตึก  ถ้าลูกปล่อยพ่อแม่อดข้าวตาย  ถ้าใครเห็นคู่สมรสของตนตกน้ำอยู่แล้วไม่ช่วย  ดังนี้ถ้ามีการตายเกิดขึ้น  บุคคลที่ว่าจะผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  เพราะผิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้ตาย

             4.2  ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากการยอมรับเฉพาะเจาะจง  เช่น  หน้าที่ตามสัญญา  จ้างคนมาเป็นการ์ด  การ์ดดันปล่อยให้คนมายิงนาย  ดังนี้การ์ดผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยการงดเว้น(ต่อหน้าที่ของตน)

             4.3  ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อนๆของตน  เช่น  อาสาพาคนตาบอดข้ามถนน  พาข้ามไปได้ครึ่งถนนแล้วทิ้งให้ยืนอยู่กลางถนน  ถ้ามีรถมาชนคนตาบอดตาย  คนพาข้ามผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยงดเว้น

             4.4  ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง  เช่น  ญาติรับดูแลเด็กในความเป็นจริง  ญาติไม่ใช่พ่อแม่ก็จริง  แต่ถ้าดูแลอยู่ตลอดแล้วจู่ๆปล่อยเด็กตาย  ดังนี้ญาติก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้นะ


          มาตรา ๖๐

     มาตรา ๖๐มีหลักอยู่ว่า  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลไปเกิดกับอีกคนหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาต่อผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น

   -  มาตรานี้ต้องการคุ้มครองผู้เคราะห์ร้ายเพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดอ้างว่า  ตนไม่ได้ตั้งใจทำคนๆนี้  เพราะงั้นตนไม่ผิด  คือถ้าตั้งใจจะทำแล้วเกิดผล  ไม่ว่าใครโดนถือว่าผิดทั้งนั้น  มักเรียกกันว่า  "เจตนาโอน"  คือโอนเจตนาตั้งต้นที่จะทำต่อคนหนึ่งไปยังคนที่โดน  ถือว่าเจตนากระทำต่อคนที่โดน

   -  นอกจากนี้  กรณีที่เป้าหมายถูก  คือตั้งใจจะยิง ก แล้ว ก ถูกยิง  แต่กระสุนพลาดไปโดน ข ด้วย  ถือเป็นตามมาตรานี้เช่นกัน  ต้องถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาทั้งต่อ ก (ตามม ๕๙) และ ข (ม ๖๐)

   -  วรรคท้ายของมาตรานี้อยู่ภายใต้หลัก "รู้"  คือรู้เท่าใดมีเจตนาเท่านั้น  เช่น  ตั้งใจจะฆ่าเพื่อน  แต่ยิงแล้วดันไปโดนแม่ตัวเองตาย  ดังนี้ถือว่าฆ่าแม่โดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา ๖๐  แต่ไม่ถือว่าเป็นบทหนักให้ต้องประหารชีวิตตามมาตรา ๒๘๙(๒)  เพราะเจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจจะยิง "แม่" ตัวเองมาแต่แรก
       แต่  ถ้าตั้งใจฆ่าพ่อแต่ไปโดนแม่  แบบนี้โอนหมด  ถือเป็นเหตุฉกรรจ์  "ฆ่าบุพการี"  โทษประหารนะ

   -  ต้องเป็นการกระทำโดย "เจตนา"  ทั้งนี้รวมกรณี  "ป้องกัน"  และ  "จำเป็น"  ด้วย

   -  ต้องได้ความว่าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำต่อผู้โดนลูกหลง  หรือผู้เคราะห์ร้ายมาแต่ต้น  ถ้าเจตนาจะทำด้วย  เป็น ๕๙ ธรรมดา

   -  มาตรานี้ใช้กรณีผู้เคราะห์ร้ายกับเป้าหมายมีสถานะเดียวกัน  คือ  คนเหมือนกัน  ทรัพย์สินเหมือนกัน  จะทำคนดันไปโดนของ  จะเตะของดันไปถูกคน  ไม่ใช้มาตรานี้

   -  รวมการกระทำขั้น "พยายาม" ด้วย    


          มาตรา ๖๑

  หลัก  ผู้ใดเจตนาจะทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด  ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

   -  หลักเหมือนกับมาตรา ๖๐  แต่มาตรานี้เป็นกรณี  "สำคัญผิด"  ไม่ใช่  "พลาด"  เช่นว่า  จะฆ่า ก  แต่ดันไปยิง ข  ซึ่งเป็นคู่แฝดของ ก แทน  อะไรแบบนี้



          มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓

  ทั้งสองมาตรานี้เป็นมาตราที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นเมื่อกระทำความผิด  โดยหลักตามมาตรา ๖๒  คือ  ถ้าบุคคลจะต้องรับผิดมากขึ้นเพราะข้อเท็จจริงใด  บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ถึงข้อเท็จจริงนั้นด้วย  ตัวอย่างเช่น  สมมติ ก  จะฆ่า  ข  คู่อริ  ก ไปดักซุ่มรอตรงมุมตึกที่ ข ผ่านประจำ  เมื่อมีคนเดินมา ก ก็ยิงปืนไปทันที  ปรากฎว่าคนที่ถูกยิงคือ ค  ซึ่งเป็นพ่อของ ก เอง  ดังนี้  ถือว่า ก ต้องรับผิดแค่ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตาม ๒๘๘ เท่านั้น  ไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการี  เพราะ ก ไม่รู้ว่าคนที่มาให้ตัวเองยิงจะเป็นพ่อของตัวเอง

  ส่วนมาตรา ๖๓ นั้น  วางหลักว่า  ถ้าผลใดทำให้บุคคลต้องรับโทษหนักขึ้น  ผลนั้นต้องเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้  กล่าวคือ  เมื่อกระทำความผิดไปแล้วเกิดผลร้ายอะไรสักอย่าง  หากผลนั้นพอคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด  ดังนี้บุคคลนั้นต้องรับผิดหากผลเกิด  แต่หากผลเกินเลยไป  ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนั้น

  ตัวอย่างเช่น  ดำใช้มีดดาบฟันขาแดงไป 1 ครั้ง  ดังนี้  ดำผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ถ้าแผลดังกล่าวติดเชื้อเพราะหมอรักษาไม่ดีต้องตัดขา  ดังนี้ดำต้องรับผิดฐานทำร้ายแดงจนเสียอวัยวะด้วย  เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่ไกลกว่าเหตุเท่าใดนัก
   แต่  จากตัวอย่างข้างต้น  ถ้าดำฟันขาแดงทีเดียวแล้วหนีไปเลย  แดงล้มทุลักทุเลอยู่ตรงนั้น  ต่อมาขาวเดินมาเห็นแดงบาดเจ็บอยู่  ขาวจำได้ว่าแดงเป็นศัตรูเลยใช้ปืนยิงแดงตาย  ดังนี้  ดำไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าแดงหรือทำให้แดงตาย  เพราะดำมีแค่เจตนาทำร้าย  ดำไม่ได้คาดเห็นว่าแดงจะมีศัตรูมาทำร้ายต่อแบบนั้น  ตามมาตรา ๖๓
  ..............เว้นแต่ดำตั้งใจฟันขาแดงเพื่อให้ขาวมายิง  หรือเรียกขาวมายิงหลังแดงล้มลง  อันนั้นผิดแน่  ผิดฐานตัวการร่วมด้วย  ต้องดูเป็นกรณีๆไป



            มาตรา ๖๔  และ  มาตรา ๖๖

  มาตรา ๖๔  บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิดไม่ได้  คือกฎหมายถือว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย  จะอ้างความไม่รู้ไม่ได้  เว้นแต่กรณีบางกรณีจริงๆ

  มาตรา ๖๖  บุคคลจะอ้างความมึนเมาเพราะเสพของมึนเมามาเป็นเหตุยกเว้นความผิดไม่ได้  เช่นกัน  กฎหมายถือว่า  เมื่อแกเสพ/ดื่ม  เอง  แกต้องรับผิดชอบผลด้วย  เว้นแต่เป็นกรณีถูกบังคับเสพ  หรือไปดื่มอะไรโดยไม่รู้ว่าทำให้เมาได้  แต่ต้องพิสูจน์กันหนักอยู่ไม่น้อย




   เหตุยกเว้นต่อตอนหน้าเนาะ

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

การลงโทษในทางอาญา



     กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายมหาชนอันมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม  ตลอดจนป้องปรามการกระทำผิดต่างๆ  ดังนั้น  กฎหมายอาญาจึงบัญญัติถึงโทษไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืน  หลักในการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามีดังนี้



   1.  โทษทางอาญามีห้าประการ  คือ  ประหารชีวิต  จำคุก  กักขัง  ปรับ  และริบทรัพย์สิน  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘


   2.  ตามมาตรา ๑๘ วรรคท้าย  ห้ามนำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กับผู้ซึ่งกระทำความผิดขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี  หากโทษที่ผู้กระทำเหล่านี้มีโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต  ให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี

      .............อันที่จริงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดโทษหรอก(เป็นสายเหยี่ยว)  แต่กฎหมายเขาว่างี้ก็ว่าตามกันไป........


   3.  สำหรับโทษประหารชีวิต  ให้ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย  ตามปอมาตรา ๑๙


   4.  กรณีจำคุก  บทบัญญัติเกี่ยวกับการจำคุกมีดังนี้

       4.1  กรณีความผิดที่กฎหมายให้ทั้งจำคุกและปรับ  ศาลจะลงจำคุกอย่างเดียวก็ได้  แต่จะปรับอย่างเดียวโดยไม่จำคุกไม่ได้
              เว้นแต่โทษตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติว่าต้องลงทั้งจำทั้งปรับเสมอ  เช่น  โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดฯ
              ในทางปฏิบัติ  หากลงโทษจำคุก  ศาลจะไม่ปรับ  แต่หากรอลงอาญา  ศาลจะปรับ

       4.2  การคำนวนระยะเวลาจำคุก  ให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกทั้งหมดด้วย  เช่น  หากศาลพิพากษาให้จำคุก 1 ปี  แต่จำเลยถูกขังมาแล้วก่อนศาลมีคำพิพากษา 1 เดือน  ดังนั้น  ต้องนำระยะเวลา 1 เดือน  มาหักออกจากโทษทั้งหมดด้วย  รวมแล้วจำเลยต้องถูกจำคุกต่อไปอีก 11 เดือน  เป็นต้น

       4.3  การนับระยะเวลาให้ใช้หลัก 30 วัน  เป็น 1 เดือน  ดังนั้น  อย่าแปลกใจเวลาเห็นข่าวว่าคนนั้นคนนี้ถูกจำคุกเท่านั้นเท่านี้เดือน  เช่น  16 เดือน  เพราะหากตั้งต้นที่เดือนแล้วล่ะก็เวลาจะไม่เท่ากับปีปกติ  เนื่องจากหนึ่งเดือนตามการลงโทษจำคุกจะเท่ากับ 30 วัน  เสมอ  นั่นเอง
              ส่วนปี  คำนวณตามปีปฏิทินปกติ

       4.4 หากโทษสุทธิที่เหลือหลังจากคำนวณแล้วไม่เกินสามเดือน  และข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษมาก่อน  หรือเคยได้รับโทษมาก่อนแต่เป็นโทษที่เกิดจากความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ  ศาลจะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนก็ได้  ตามปอมาตรา ๒๓


   5.  การกักขัง  ให้คุมตัวไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งมิใช่เรือนจำ   หรือที่บ้านของผู้ถูกกักขังก็ได้

        คล้ายๆจำคุก(หรือติดคุกในภาษาชาวบ้าน)  แต่จะหย่อนกว่า  และความจริงมีอยู่ว่า  แทบไม่เคยถูกพูดถึงเท่าใดนัก


   6.  ปรับ  เมื่อได้รับโทษปรับให้ชำระตามที่กำหนด  หากไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน  ศาลมีอำนาจสั่งกักขังแทนค่าปรับได้  ในอัตรา 200 บาท  ต่อหนึ่งวัน  แต่รวมแล้วต้องกักขังไม่เกิน 1 ปี  เว้นแต่กรณีอัตราค่าปรับสูงเกิน 80,000 บาท  ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี  แต่ห้ามเกิน 2 ปี

        ดังนี้  การจะกักขังแทนค่าปรับนั้นต้องได้ความว่ามีการลงโทษปรับเกิน 200 บาท

        หากกักขังครบจำนวนค่าปรับ  หรือมีการนำค่าปรับมาชำระครบถ้วน  ให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที


   7.  การริบทรัพย์สิน  มีหลักดังนี้

       7.1  ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้  มีสามประเภท

          (1)  ต้องริบเสมอ  ตามปอมาตรา ๓๒  ซึ่งวางหลักว่า  ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น  ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด  หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่  กรณีนี้พิจารณาที่ตัว "ทรัพย์"  เป็นหลัก  ว่าโดยสภาพของทรัพย์นั้น  ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือไม่  เช่น  ยาเสพติด  ปืนเถื่อน(ทางปฏิบัติ  สองอย่างนี่แหละเยอะสุด)  หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์  ถ้าเป็นทรัพย์ประเภทนี้  ริบสถานเดียว

          (2)  เป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้  ทรัพย์สินประเภทนี้ได้แก่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อกระทำความผิด  หรือได้มาจากการกระทำความผิด  โดยทั่วไปแล้ว  ทรัพย์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย  เพียงแต่ถูกใช้เพื่อกระทำผิดกฎหมาย  หรือได้มาโดยมิชอบ  เช่น  เอาปืนมีทะเบียนไปลักทรัพย์  หรือเงินจากธนาคารที่ปล้นมาได้  เป็นต้น

                อย่างไรก็ดี  หากพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์เหล่านี้เป็นของผู้ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเลย  ศาลจะไม่ริบก็ได้  เช่น  ทรัพย์ของเหยื่อ(กรณีปล้นมา)  หรือมาพิสูจน์ได้ว่าตอนที่ให้ยืมปืนเนี่ยไม่รู้จริงๆนะว่าคนยืมมันจะเอาไปฆ่าคน  ไรงี้

       (3)  ลูกผสม  ตามหลักคือต้องริบ  เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของผู้ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย  ซึ่งกรณีนี้จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าพนักงาน  หรือการให้รางวัลจูงใจให้มีการกระทำความผิด  ปกติเงินส่วนนี้ต้องริบเสมอ  เว้นแต่มีผู้มาอ้างว่าเงินจำนวนนี้เป็นของตนซึ่งตนไม่รู้จริงๆว่ามีการให้สินบนกัน
             ...........ความเห็นส่วนตัว - ท่าทางจะพิสูจน์ยาก

       7.2  การขอคืนของกลาง  จะเห็นได้ว่าจากข้อ 7.1  กรณีที่สองและสามนั้น  เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงสามารถขอให้ปล่อยของกลางหรือขอคืนของกลางได้  โดยหลักการคือต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายใน 1 ปี  นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  โดยต้องกล่าวอ้างและนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อให้ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนจริงๆ  ไม่ใช่ของผู้กระทำความผิด  และตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยเลยกับการกระทำผิดนั้น  เช่น  ไม่รู้จริงๆว่าทรัพย์ตนจะถูกใช้ในการกระทำความผิด  หรือเก็บทรัพย์ไว้ดีแล้วแต่ผู้กระทำความผิดมาหยิบไปเอง

             ข้อควรระวัง  การแค่เตือนเฉยๆและไม่เก็บให้ดี  ปล่อยให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ไปกระทำความผิด  เคยมีคำพิพากษามาแล้วว่า  ถือว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด


       7.3  การริบทรัพย์  กรณีศาลสั่งริบทรัพย์แล้วไม่ส่งทรัพย์ที่สั่งริบ  ศาลมีอำนาจสั่งยึด  ให้ใช้ราคาเท่ากับทรัพย์นั้น  หรือกักขังผู้ถูกสั่งริบทรัพย์ได้


   8.  สุดท้ายและท้ายสุด  โทษทางอาญาเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด

        อย่างไรก็ดี  กรณีริบทรัพย์สิน  แม้ผู้กระทำผิดตายก็ต้องริบ  เว้นแต่จะได้ความว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ตามมาตรา ๓๓ (ข้อ 7.1 (2))  ซึ่งตกทอดแก่ทายาทผู้ไม่ได้รู้เห็นด้วยในการกระทำความผิด