วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การดำเนินคดีในทางอาญา (1) : ผู้เสียหาย



     หลังจากฟ้องคดีแพ่งกันไปแล้ว  เคราะห์หามยามร้าย  เราอาจต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีในทางอาญา....เพราะถูกละเมิดทางใดทางาหนึ่ง

     ......เอาเฉพาะถูกละเมิดก่อนนะ  ประเภทไปละเมิดเขานี่  ขอติดไว้ก่อนละกันว่าจะเขียนถึงยังไงดี

     จะทราบมาก่อนหรือไม่ทราบมาก่อนก็แล้วแต่  สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะทำ  นั่นคือยึดหลักการฟ้องตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแบบ 100 เปอร์เซนต์

 
     ทำแบบนั้นไม่ได้  มันไม่เหมือนกัน!!!


     แม้หลักการดำเนินคดีอาญาบางอย่างจะนำหลักการของทางแพ่งมาใช้โดยอนุโลม  แต่โดยหลักแล้ว  การดำเนินคดียังคงต้องเดินตามหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่

     แล้วมันทำยังไงล่ะ???

     ไล่ดูตามด้านล่างเอาเลย



     จุดเริ่มต้นแห่งคดีอาญา

     จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดีแพ่ง  มาจากการเกิดข้อโต้แย้งสิทธิหรือความต้องการใช้สิทธิในทางแพ่ง  เช่นเดียวกัน  จุดเริ่มต้นในทางอาญานั้นมาจาก  การมีความผิดในทางอาญาเกิดขึ้น...

     และมีใครสักคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย

     ความมันก็เริ่มตรงนี้แหละ


     ส่วน...ความผิดทางอาญานั้นก็เช่น  ฆ่าคนตาย  ทำร้ายร่างกาย  ลักขโมย  จี้ปล้น  ฉ้อโกง  หมิ่นประมาท  บุกรุก  ฯลฯ
     ตัวอย่างของความผิดทางอาญา  ท่านสามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์ทั่วไปในหน้าอาชญากรรม  หรือไม่ก็หน้าหนึ่งนะคะ



     เอาล่ะ  มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น  และมีใครสักคนหนึ่ง  ต้องเสียหายจากการนี้

     เอาไงต่อดี??


     แจ้งความ....?


     ถูกต้อง  ทางเลือกหนึ่งของการจัดการปัญหา  คือไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า  เกิดอะไรขึ้น  จากนั้นก็ให้ทางการดำเนินการสอบสวนหาตัวคนร้ายมาจัดการ  เอ้อ  มาดำเนินคดีและ/หรือ  ลงโทษกันต่อไป

     อันที่จริง  เราไม่ต้องไปแจ้งความก็ได้นะ  เพราะถ้าเราเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงแล้วล่ะก็  เรามีอำนาจดำเนินคดีได้เอง  นั่นคือ  เราสามารถฟ้องศาลให้ศาลลากตัวคนผิด(แต่ดูเหมือนการลากตัวก็ต้องใช้ตำรวจอยู่ดีแฮะ)มาลงโทษได้เองเลย

     คำถามคือ  แล้วเราเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือเปล่า??


     มีข้อพิจารณาดังนี้



     ผู้เสียหาย

     ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 2(4)  ผู้เสียหาย  หมายถึง  ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งผู้มีอำนาจจัดการแทน...

     นั่นคือนิยามตามกฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  จะเป็นผู้เสียหายได้จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกอย่าง  นั่นคือ  ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย  อันหมายถึง  ไม่มีส่วนร่วมในการการทำความผิดดังกล่าวนั้นด้วย

     มาพิจารณากันทีละข้อ

     1.  จะเป็นผู้เสียหายได้  ต้องมีสภาพบุคคล  :  เพราะตัวบทใช้คำว่า  "ผู้ที่"  ดังนั้นจึงต้องเป็น  "คน"  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ตาม

     บริษัทต่างๆ  นั้นโดนละเมิดกฎหมายได้

     แต่สัตว์และพืชซึ่งไม่มีเจ้าของ  แม้จะโดนฆ่า  โดนตัด  อย่างไร  ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา
     ....แต่จะเอาผิดคนทำได้ไหมต้องดูว่ามีกฎหมายอื่นๆห้ามทำไว้หรือเปล่า


     2.  ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด  :  คือผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงๆ  ไม่ใช่บุคคลอื่น

     ทำร้ายลูก  ลูกเป็นผู้เสียหาย  ส่วนพ่อแม่  แม้จะอ้างว่าเจ็บกว่า  ก็ไม่ถือเป็นผู้เสียหายนะคะ  (เว้นแต่ถูกฟันไปด้วย  ก็อีกเรื่อง)

     และการกระทำหนึ่งๆอาจมีผู้เสียหายคนเดียวก็ได้  หรือมีหลายคนก็ได้  เช่นเรื่องทรัพย์  สมมติเราเช่าหนังสือมาอ่าน  แล้วมีคนมาขโมยหนังสือเล่มนั้น  กรณีนี้จะมีผู้เสียหายสองคน  หนึ่งคือเรา  ผู้เช่าและใช้สอย(อ่าน)หนังสือ  สองคือร้านเช่าหนังสือ  ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
     เพราะตามแนวฎีกา  ผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ถือเป็นผู้เสียหายด้วยในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์


     3.  เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย  :  คือไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด  เช่นพวกโกงน่ะ  แบบมีคนมาหลอกว่าถ้าให้เงินไปจะวิ่งเต้นให้  ต่อมาคนอาสาวิ่งเต้นเชิดเงินหนี  แบบนี้คนให้ไม่เป็นผู้เสียหายนะคะ  ถือว่ารู้เห็นเป็นใจให้มีการวิ่งใต้โต๊ะ

     เห็นชัดกว่านั้นก็พวกนักเรียนนักเลง  ตีกันตรงป้ายรถเมย์  ไรงี้  กรณีนี้ต่างฝ่ายต่างไม่มีสิทธิฟ้องอีกฝ่ายนะ  เพราะสมัครใจทะเลาะวิวาท  ซึ่งถือได้ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย

     เมื่อไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย  จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง


     4.  ผู้มีอำนาจจัดการแทน  มาตรา 2(4)  ได้แจงไว้สามมาตราด้วยกัน

4.1  มาตรา 4  :  "สามีมีสิทธิฟ้องคดีแทนภริยาได้  ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา"

     คาดว่าน่าจะมาจากสมัยโบราณที่สามีเป็นช้างเท้าหน้า  สามารถจัดการอะไรๆแทนคู่ตัวเองได้  แม้สมัยนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิผู้หญิงอีกต่อไป  แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้เป็นสามีได้ทำหน้าที่อยู่เช่นเดิม

     อ่อ  กลับกันไม่ได้นะ  ต่อให้ได้รับอนุญาตชัดแจ้งจากสามี  ภริยาก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีแทน
     ...เว้นแต่มอบอำนาจ...

     เกือบลืม  ความเป็นสามีภริยาต้องชอบด้วยกฎหมายนะคะ  คือต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น


4.2  มาตรา 5  :   แยกเป็นสามอนุด้วยกัน

     (1)  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล  กรณีความผิดอาญาเกิดแก่ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ  :  ท่าทางต้องอธิบายกันยาว....

     ผู้แทนโดยชอบธรรม  :  โดยทั่วไป  คือแม่  และพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายค่ะ(พ่อที่จดทะเบียนสมรสกับแม่  หรือรับรองบุตรแล้วตามกฎหมาย)  เว้นแต่กรณีไม่มีพ่อแม่  ผู้แทนโดยชอบธรรมกรณีนี้อาจเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้ดูแลผู้เยาว์แทน  ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้
    ...และเผื่อใครสงสัย  บุคคลผู้เบ่งท้องคลอดเด็กออกมาถือเป็นบุพการีโดยชอบด้วยกฎหมายเสมอ

     ผู้เยาว์  :  คือผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  หรือคือบุคคลที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์

     ผู้ไร้ความสามารถ  :  คือผู้ซึ่งไม่สามารถดูและตัวเองได้  และ  ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถแล้ว  (ต้องศาลสั่งเท่านั้น)
     เช่น  ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่จำอะไรไม่ได้เลย  คนพิการ  หรือผู้ประสบเหตุเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนิทราทั้งหลาย  และ  เอ้อ  คนบ้า  ก็รวมด้วย  แต่ศาลต้องสั่งให้เขาเป็นบุคคลไร้ความสามารถก่อนเท่านั้น

     ผู้อนุบาล  :  (ตั้งใจอธิบายผู้ไร้ฯก่อน  เกรงว่าขึ้นผู้อนุบาลเลยจะงง)  คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้ดูแลและทำการแทนผู้ไร้ความสามารถ

     บุคคลผู้จัดการแทนเหล่านี้จัดการแทนได้ทุกความผิดที่เกิดแก่ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ  โดยมีข้อแม้ประการเดียวคือ  ตัวผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถต้องยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ถ้าตายแล้วจะไม่เข้ากรณีที่ 1 นี้


     (2)  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้  :  เริ่มอธิบายศัพท์ก่อนเลย

     ผู้บุพการี  :  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ทวด(พ่อแม่ของปู่ย่าตายาย)  คือ  เข้าใจอารมณ์ป่ะ  สายของผู้ให้กำเนิดไล่ขึ้นไปอ่ะ
     ....และในกรณีที่สองนี้ถือสายเลือดกันตามความเป็นจริง....

     ผู้สืบสันดาน  :  ลูก  หลาน  เหลน  ลื่อ  ตรงข้ามกับบุพการี  อันนี้ไล่ลง  และถือตามความเป็นจริงเช่นกัน

     สามีหรือภริยา  :  พูดง่ายๆคือ  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือที่จดทะเบียนสมรสโดยชอบแล้ว

     กรณีนี้เป็นการจัดการทางคดีแทนบุคคลซึ่งถูกละเมิดทางอาญาจนไม่สามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้  และจำกัดสิทธิเฉพาะความผิดทางอาญาที่ทำให้ตัวผู้เสียหายไม่สามารถจัดการได้เองเท่านั้น

     เช่น  ลูกถูกฆ่าตาย  พ่อแม่แจ้งความ  ฟ้องศาล  ดำเนินคดีแทนลูกในความผิดฐานฆ่า(ลูกตัวเอง)ได้เลย

     แต่  ถ้าลูกข่มขืน  แล้วฆ่าตัวตายเอง  อันนี้พ่อแม่ฟ้องฐานข่มขืนแทนลูกไม่ได้นะ  เพราะลูกไม่ได้ตายด้วยเหตุถูกข่มขืน

     หรือ  ลูกถูกโกง  กำลังจะไปแจ้งความดันถูกรถชนตาย  อันนี้พ่อแม่จะดำเนินคดีแทนลูกฐานฉ้อโกงก็ไม่ได้เช่นกัน
     (มีใครโมโหกับช่องว่างของกฎหมายที่สามารถปล่อยคนร้ายลอยนวลได้ง่ายๆแบบคนเขียนมั้ย?)


     (3)  ผู้จัดการแทนนิติบุคคล  สำหรับความผิดที่กระทำต่อนิติบุคคล  :  ตัวอย่างง่ายๆเช่น  มีพนักงานโกงเงินของบริษัทไป  ตอนนี้บริษัทเป็นผู้เสียหายที่ถูกโกงเงินละ  แต่นิติบุคคลไม่ใช่คนธรรมดาที่สามารถทำโน่นทำนี่ได้เองแบบคนทั่วไปถูกไหม  แล้วทำไง

     คำตอบคือ  ก็ให้ผู้แทนหรือตัวแทนของนิติบุคคล  เช่นกรรมการ  หรือเจ้าของบริษัทอาจจะไปจ้างทนายเข้ามา  เพื่อดำเนินคดีนี้แทน  ก็ได้  จบ


4.3  มาตรา 6  :  ผู้แทนเฉพาะคดี  กรณีที่ความผิดเกิดแก่  ผู้เยาว์(1)  บุคคลวิกลจริต(2)  หรือผู้ไร้ความสามารถ(3)  แต่บุคคลเหล่านี้ไม่มีผู้จัดการแทน  หรือมี  แต่ผู้จัดการแทนดังกล่าวไม่สามารถจัดการแทนได้  ด้วยเหตุต่างๆ  เช่น  ไม่รู้หายหัวไปไหน  หรือผลประโยชน์ขัดกัน  กรณีนี้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องของผู้เสียหายสามารถร้องขอต่อศาลให้เขาหรือใครก็ตามเป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายได้

      เช่น  พ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยง  หากแม่หลงหรือกลัวสามีมากจนไม่กล้าทำอะไร  ยายอาจร้องต่อศาลให้ตั้งตัวเองดำเนินการฟ้องพ่อเลี้ยงแทนตัวแม่ก็ได้

     ข้อแม้ประการเดียวของมาตรานี้คือ  ตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถต้องยังมีชีวิตอยู่  เพราะถือว่าอำนาจตรงนี้อิงกับตัวผู้เสียหายโดยตรง  หากผู้เสียหายตายอำนาจจัดการแทนย่อมหมดไปด้วย


     นั่นคือข้อพิจารณาคร่าวๆว่า  เราเป็นผู้เสียหายและมีสิทธิดำเนินคดีนี้หรือไม่  หากพิจารณาแล้วพบว่าคุณสมบัติครบ  ก็เดินหน้าข้อต่อไปได้เลย...



     ชักจะยาว  ต่อตอนหน้าละกันนะคะ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น