วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559
ความผิดต่อแผ่นดิน กับ ความผิดต่อส่วนตัว
เมื่อเช้าดูข่าวเกี่ยวกับการลักทรัพย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "สุดท้ายยอมความกันไปแล้ว" แล้วรู้สึกไม่สบอารมณ์ อยากเดินไปสะกิดบอกว่า "คุณขา หากผิดลักทรัพย์จริงยอมความไม่ได้นะคะ ลักทรัพย์เป็นความผิดอาญาแผ่นดินค่ะ ต่อให้เจ้าทรัพย์ได้ทรัพย์คืนไม่เอาเรื่องแล้วก็เถอะ...
....เว้นแต่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว อัยการเห็นว่าฟ้องไปไม่เป็นประโยชน์ จะไม่สั่งฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดี นั่นก็อีกเรื่อง,,,"
คิดๆไปเลยจะสรุปเรื่อง ความผิดอาญาแผ่นดิน กับ ความผิดต่อส่วนตัวไว้ ณ ตรงนี้ เลยดีกว่า
นอกจากสามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะความผิดแล้ว ในทางปฏิบัติ การกระทำที่มีโทษอาญาสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท
1. ความผิดต่อแผ่นดิน หรือ ความผิดอันยอมความไม่ได้ ได้แก่ ความผิดที่มีโทษทางอาญาทุกชนิดที่ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่า "เป็นความผิดอันยอมความได้"
เป็นความผิดต่อแผ่นดินทั้งหมด
2. ความผิดต่อส่วนตัว หรือ ความผิดอันยอมความได้ ได้แก่ ความผิดที่มีกฎหมายระบุไว้ว่า "ยอมความได้" หากพิจารณาเฉพาะจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว มีดังนี้
2.1 ความผิดเกี่ยวกับเพศ ได้แก่ ข่มขืน ทำอนาจาร ในกรณีที่กระทำต่อบุคคลที่มีอายุมากกว่า 15 ปี, กระทำโดยไม่มีอาวุธ, ไม่มีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ,เหยื่อไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย กรณีเหล่านี้ยอมความได้
2.2 บังคับให้ผู้อื่นทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง(มาตรา 309) กักขังหน่วงเหนี่ยวให้ปราศจากเสรีภาพ(มาตรา 310) หรือทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยประมาท(มาตรา 311) ยอมความได้
เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำไม่ใช้อาวุธ หรือผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย เท่านั้นนะ ที่ยอมความได้
เมื่อใดก็ตามที่เหยื่อได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงตาย ยังไงก็ยอมความไม่ได้ค่ะ จำง่ายๆ
2.3 ความผิดฐานเปิดเผยความลับ (มาตรา 322-325)
2.4 ความผิดฐานหมิ่นประมาท
2.5 ความผิดฐานฉ้อโกง เว้นแต่ฉ้อโกงประชาชน
2.6 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
2.7 ความผิดฐานยักยอก
2.8 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เฉพาะกรณีทำต่อทรัพย์ของเอกชน(คือของประชาชนทั่วๆไป) หรือทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นสาธารณสมบัติ
2.9 ความผิดฐานบุกรุก เฉพาะกรณีบุกรุกตอนกลางวัน บุกรุกคนเดียว บุกรุกโดยไม่มีอาวุธ หรือไม่มีการประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้าย
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานอกจากที่กล่าวมานี้ เป็นความผิดต่อแผ่นดิน
ความผิดต่างประเภทกันมีผลในทางปฏิบัติต่างกันอย่างไรบ้าง
ในทางปฏิบัติ ความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัวมีผลต่อการดำเนินคดีดังนี้
1. การยอมความ : หากเป็นความผิดต่อแผ่นดินจะไม่สามารถยอมความได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่สามารถยุติคดีได้ด้วยการที่สองฝ่ายมาเจรจาผ่อนปรนต่อกัน ไม่ว่าผู้เสียหายจะว่าอย่างไร ก็ต้องมีการสอบสวนเพื่อส่งให้อัยการฟ้องคดี หรือหากผู้เสียหายจะฟ้องคดีเองก็สามารถดำเนินการได้เต็มที่
ส่วนความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้นั้น เมื่อใดก็ตามได้ความว่ามีการยอมความกันแล้ว ผู้เสียหายไม่เอาเรื่องแล้ว อำนาจในการสอบสวน สิทธิในการดำเนินคดีของผู้เสียหายและอัยการหมดทันที
หมดแล้วหมดเลยด้วย ไม่มีสิทธิย้อนกลับ
2. อายุความ : คดีอาญาแทบทุกประเภทล้วนมีอายุความในการดำเนินคดีแตกต่างกันโดยยึดตามอัตราโทษอย่างสูงของความผิดนั้นเป็นสำคัญ แต่หากเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้วล่ะก็ จะมีอายุความเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอายุความ ตามปอ.มาตรา 96 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ในคดีความผิดต่อส่วนตัว หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือดำเนินคดี(ดำเนินคดีนี่แนวฎีกา)ภายในสามเดือน นับแต่รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ
ดังนั้นแล้ว หากไม่แน่ใจว่าท่านโดนกระทำอะไรกันแน่ กรุณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะฟ้องคดีหรือจะร้องทุกข์ก็เลือกเอา ภายในสามเดือนไว้ก่อน เกิดหวยไปออกว่าคดีเรายอมความได้ขึ้นมา จะได้ไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความในทางกฎหมายอาญาถือเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ มีประเด็นขึ้นมาศาลยกฟ้องสถานเดียว
คนเรียนเองยอมรับว่าอ่านแล้วขัดอกขัดใจไม่น้อยที่เห็นคนไม่ดีหลุดคดีด้วยเหตุนี้ แต่กฎมันเป็นอย่างนี้ก็ต้องว่าตามกันไป...
3. การร้องทุกข์ : ในความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องได้รับคำร้องทุกข์ เพียงสงสัยหรือมีการกล่าวโทษก็สามารถทำการสอบสวนได้ แต่ในคดีความผิดต่อส่วนตัว หากไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบ พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน ส่งผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีตามไปด้วย
เช่น หากมีเหตุฆ่าคนตาย ถ้าญาติคนตายมาแจ้งความ ดังนี้ตำรวจซึ่งมีอำนาจสอบสวนสามารถสอบสวนเอาผิดกับคนฆ่าได้ หรือต่อให้ตำรวจเห็นเอง หรือได้ยินใครร้องโหวกเหวกว่ามีคนตาย แค่นี้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีได้แล้ว เพราะความผิดฐานฆ่าคนตายเป็นอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนสามารถสอบสวนดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์
แต่หากเป็นกรณีความผิดยอมความได้ เช่น ผู้หญิงถูกข่มขืน ถ้าเจ้าทุกข์เองไม่มาแจ้งความ หรือไม่มอบอำนาจให้ใครมาแจ้งความเอาผิดกับจำเลยแล้วล่ะก็ ตำรวจไม่มีอำนาจทำคดี เพราะข่มขืนเป็นความผิดอันยอมความได้
อ่อ อย่าลืมแจ้งภายในสามเดือนด้วยล่ะ เดี๋ยวขาดอายุความขึ้นมาจะยุ่งอีก
สามเรื่องนี้เป็นสามเรื่องใหญ่ๆที่นึกออกอันเป็นผลโดยตรงมาจากข้อแตกต่างระหว่างคดีความผิดต่อแผ่นดินและความผิดอันยอมความได้ นอกจากนี้ก็เช่น ในคดีความผิดต่อส่วนตัว ถ้าเจ้าทุกข์ยื่นฟ้องแล้วถอนฟ้องไป อัยการฟ้องใหม่ไม่ได้ อะไรแบบนี้
คราวหน้าเจอใครบอกว่าลักทรัพย์ยอมความกันไปแล้ว ก็เถียงเขาไปเลย
ลักทรัพย์เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ยอมความไม่ได้จ้าาา
สวัสดี...
ปล. ส่วนคดีข้างต้นน่ะ เราว่าเพราะดูแล้วมันเป็นเรื่องตั้งใจจะซื้อของแต่ยังไม่จ่ายตังค์ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้จะเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งธรรมดา เสียมากกว่า เรื่องมันเลยจบไปได้
เพราะฉะนั้น หากคุณมีเจตนาจะซื้อของจริง เพียงแต่ยังไม่แน่ว่าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่ คุณแค่ผิดสัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง ตำรวจไม่มีสิทธิจับคุณ
มีอะไรก็เข้าศาลแพ่งไปละกัน แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จ่ายๆไปเถ้ออ
แต่ ถ้าตั้งใจจะเอาของเขาโดยไม่มีเจตนาจะจ่างสตางค์เลยล่ะก็....
คุก....นะจ๊ะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณครับ ได้ความรู้เยอะเลย
ตอบลบด้วยความยินดีค่ะ
ลบ