วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ข้อควรระวังอื่นในการฟ้องคดีแพ่ง (update!)
มา ว่ากันตั้งแต่ขณะเริ่มฟ้องจนจบไปเลย
ข้อพิจารณาก่อนหรือขณะฟ้องคดี
1. ฟ้องของท่านขาดอายุความหรือไม่ : แม้ในคดีแพ่งอายุความจะไม่ใช่ปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มันเป็นข้อต่อสู้ที่ดีซึ่งหากฝ่ายตรงข้ามยกขึ้นมาแล้วศาลเห็นจริง ศาลยกฟ้องทันที เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ควรฟ้องภายในอายุความจะดีกว่า
2, ฟ้องต้องใช้แบบฟอร์มของศาลเท่านั้น จะใช้กระดาษแบบอื่นมิได้ และต้องนำไปยื่นด้วยตัวเองแก่ศาลในเขตอำนาจเท่านั้น จะส่งไปรษณีย์ไม่ได้
3. การยื่นฟ้องคดีต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม
3.1 ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พักของพยาน ล่าม ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และอื่นๆเท่าที่จำเป็น (ปวิพมาตรา ๑๔๙ วรรคหนึ่ง)
3.2 อัตราค่าธรรมเนียม มีดังนี้
- กรณีคดีไม่มีทุนทรัพย์ เรื่องละ 200 บาท
- คดีมีทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียในอัตราร้อยละ 0.1
- คดีมโนสาเร่ เสียตามอัตราในสองข้อแรก แต่ไม่เกินสองพันบาท
3.3 การวางเงิน ต้องวางเงินสดหรือเช็คซึ่งธนาคารรับรองเท่านั้น
3.4 ค่าฤชาธรรมเนียมศาลในส่วนของ ค่าขึ้นศาล นั้น หากผู้ฟ้องไม่มีเงินพอชำระ สามารถยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ ซึ่งในคำร้องต้องกล่าวอ้างว่า
1) คำฟ้องมีเหตุผลเพียงพอให้รับไว้พิจารณา
2) ผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมได้ หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร
4. เอกสารหลักฐานสำคัญบางอย่างซึ่งต้องใช้ในการพิจารณาคดี เช่น สัญญา หนังสือมอบอำนาจ ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วน และขีดฆ่าให้เรียบร้อย มิฉะนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้
- ถ้าเป็นสัญญาแล้วไม่ปิดอากรและขีดฆ่าให้ถูกต้อง ศาลยกฟ้องเลย ถือว่าไม่มีหลักฐาน กรณีนี้ฟ้องใหม่ไม่ได้เลยด้วย (เป็น technical knockout ที่เจ็บปวดมาก ต่อให้จำเลยผิดจริงก็ไม่สามารถฟ้องได้ถ้าปิดอากรไม่สมบูรณ์หรือไม่ขีดฆ่า ต้องระวัง)
- ถ้าเป็นพวกหนังสือมอบอำนาจฟ้อง ถือว่าการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลอาจสั่งแก้ใหม่หรือจำหน่ายคดีก็ได้ ถ้าเป็นกรณีหลังก็ต้องเสียเวลาฟ้องใหม่ ทำให้ถูกแต่ต้นดีกว่า
เมื่อยื่นฟ้องคดีแล้วก่อนคู่ความอีกฝ่ายเข้ามาในคดี
1. ต้องเสียค่านำส่งสำเนาคำฟ้องและสำเนาเอกสารให้จำเลย บางครั้งศาลอาจให้ส่งเอง แต่ทั่วไปคือให้เสียค่านำส่งแล้วให้เจ้าพนักงานศาลไปส่ง
2. เมื่อเสียค่านำส่งแล้ว ต้องกลับมาตามเรื่องว่าส่งได้หรือไม่ ถ้าส่งได้ให้รออีก 15 วัน ซึ่งเป็นกำหนดเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ หากส่งไม่ได้ต้องแถลงต่อศาลว่าจะทำอย่างไรต่อไป
หากปล่อยล่วงเลยไม่เอาใจใส่ แล้วเจ้าพนักงานเกิดส่งหมายไม่ได้ ศาลจะถือว่าเราทิ้งฟ้อง อาจสั่งจำหน่ายคดีได้ จริงอยู่ว่าการจำหน่ายคดีไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่ แต่กรณีที่ฟ้องช่วงใกล้ขาดอายุความ การฟ้องครั้งที่สองอาจเสี่ยงต่อการขาดอายุความได้
ในการตามเรื่อง....ทางปฏิบัติคือทุกๆ 7 วัน
กรณีที่การส่งหมายได้กระทำโดยปิดหมาย คือไม่สามารถส่งให้แก่ตัวผู้ถูกฟ้องหรือคนรับแทนได้ จึงใช้วิธีปิด หรือติดในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเห็นได้ง่ายและหายได้ยาก ระยะเวลาในการยื่นคำให้การจะเพิ่มไปอีก 15 วัน หรือก็คือเมื่อได้ความว่าส่งโดยปิดหมาย ให้รอเวลาไปอีก 30 วัน จึงค่อยกลับมาตรวจสอบการยื่นคำให้การของจำเลย
หลังแจ้งให้คู่ความอีกฝ่ายทราบแล้ว
1. เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว
1.1 เมื่อรับสำเนาคำให้การจำเลยมาแล้ว ต้องตรวจสอบว่าจำเลยได้ให้การฟ้องแย้ง คือจำเลยฟ้องเรากลับในประเด็นใดหรือไม่เพียงใด หากจำเลยฟ้องแย้ง เราต้องทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับสำเนาคำให้การกรณีปกติ หรือ 30 วันกรณีศาลมาปิดหมายที่บ้านหรือที่ทำงานเรา (จริงๆแล้วระยะเวลาจะเป็นเท่าใดศาลจะสั่งไว้ในสำเนาอยู่แล้ว ก็ยื่นคำให้การภายในกำหนดนั้น)
หากเราไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง หรือยื่นเกินกำหนดโดยไม่ได้ขออนุญาตศาล ในทางกฎหมายจะถือว่าเราขาดนัดยื่นคำให้การในส่วนฟ้องแย้ง ซึ่งจำเลยสามารถร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้จำเลยชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การในส่วนฟ้องแย้งได้ ซึ่งจะหนักหนาสาหัสเท่าใดต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป
แต่หากอยากมีโอกาสชนะในทุกประเด็น แนะนำว่าควรยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งจะดีกว่า
1.2 ในบางคดี ศาลจะนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาท ในวันนัดชี้สองสถาน ควรมาศาล เพราะจะได้ทราบว่ามีประเด็นใดที่ฝ่ายใดต้องนำสืบบ้าง ฝ่ายใดต้องเป็นฝ่ายสืบก่อน และหากศาลกำหนดประเด็นของเราขาดไป เราจะได้ทักท้วงได้ การทักท้วงคือเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องให้ทักท้วงด้วยวาจาทันที หรือยื่นคำร้องทักท้วงภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการชี้สองสถาน เมื่อศาลสั่ง หากไม่พอใจต้องทักท้วงไว้อีกรอบ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อไป
หากไม่มาวันชี้สองสถาน กฎหมายวางหลักให้ถือว่าทราบแล้ว และขาดโอกาสทักท้วงด้วย เว้นแต่เป็นปัญหาความสงบหรือศาลกำหนดประเด็นเกินไป
กรณีหนึ่งที่ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบคือ กรณีที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกิน เช่น เราอ้างเหตุสองประเด็น อีกฝ่ายอ้างอีกสองประเด็น โดยทั่วไปศาลไม่ควรกำหนดเกินสี่ประเด็น แต่ศาลเกิดกำหนดว่าประเด็นที่ต้องอ้างหลักฐานมีหกประเด็น อันนี้ถือว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้บุคคลเป็นความกันมากกว่าที่ควรจะเป็น ผลคือ แม้ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อไปได้
แต่หากไม่อยากเสี่ยง ศาลสั่งอะไรที่รู้สึกว่า ไม่ใช่ละ ท้วงไว้ก่อนปลอดภัยสุด
1.3 วันนัดสืบพยานนัดแรก หรือวันแรก ต้องมาศาล(จะตัวคนฟ้องมาเอง หรือทนายมา หรือผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีมา หรือมาทุกคนก็ได้) หากไม่มาถือว่าขาดนัดพิจารณา ถ้าทั้งโจทก์ทั้งจำเลยไม่มาศาล ศาลจะจำหน่ายคดี ถ้าจำเลยมาศาลก็เสื่ยงต่อการที่จำเลยดำเนินคดีไปฝ่ายเดียวและทำให้เราถูกยกฟ้อง ซึ่งหากถูกยกฟ้องจะฟ้องใหม่ไม่ได้อีกแล้ว
เว้นแต่กรณีส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ไม่ถือว่าการไม่มาศาลเป็นการขาดนัดพิจารณา
เว้นแต่(อีกรอบ) เราได้ขอเลื่อนคดีไปแล้วและศาลอนุญาต จึงจะไม่ถือว่าเป็นการขาดนัด
1.4 ในกรณีที่ขาดนัดพิจารณาไปแล้ว และมาศาลหลังจากนั้น แต่ก่อนศาลมีคำพิพากษา หากต้องการต่อสู้คดีให้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรก(คือพอมาถึงให้แจ้งทันทีหรือแจ้งทันทีที่มีโอกาส)ว่าตนประสงค์จะสู้คดี และการขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุสมควร(อ้างเพียงเหตุใดเหตุหนึ่งก็พอ)
เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดไม่เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ศาลจะสั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่...........อย่าขาดนัด(พิจารณา)อีกล่ะ ขาดมากกว่าหนึ่งครั้งนี่ โอกาสชนะเข้าใกล้ศูนย์มากเลยนะ
สุดท้าย ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากเหตุขาดนัด แต่กรณีที่จำหน่ายคดีสามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ
1.5 หากทุกอย่างปกติดี ไม่มีการขาดนัด ต่างฝ่ายต่างก็จะมีภาระการพิสูจน์ของตนเองไป ศาลจะฟังจนได้ข้อยุติ และมีคำพิพากษา
2. เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำให้การ
2.1 ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด หากไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว ศาลอาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ (ต้องเสียเวลาฟ้องใหม่นะ)
2.2 หลังจากนั้นศาลจะทำการไต่สวนและให้ฝ่ายโจทก์สืบพยานหลักฐานไปฝ่ายเดียว วันนัดสืบพยานหลักฐาน ต้องมาศาล และต้องนำพยานมาสืบด้วย ไม่เช่นนั้นศาลจะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ คดีโจทก์ไม่มีมูล ยกฟ้อง (ฟ้องใหม่ไม่ได้)
2.3 เมื่อสืบพยานไปและศาลเห็นว่าคดีมีมูล(คือพอฟังได้)และไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี
หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว
หากมองเฉพาะฝ่ายโจทก์ คำพิพากษาจะแบ่งเป็นสามประเภทหลัก คือ ศาลให้ตามที่ขอทั้งหมด ศาลให้ตามที่ขอบางส่วน และให้โจทก์แพ้คดี
หากเป็นกรณีแรก โจทก์จะต้องดำเนินการในการบังคับคดีต่อไป ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเรื่องการบังคับคดีภายหลัง หลักคือ หลังศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือ กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน โดยศาลจะออกเป็นคำบังคับคดี(โจทก์ต้องตรวจสอบด้วยนะว่าศาลออกคำบังคับหรือยัง) ให้จำเลย หากต่อมาจำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลออก "หมายบังคับคดี" บังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
การบังคับคดีหรือการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นมีอายุความ 10 ปี หากเกินนี้ ต่อให้ชนะก็ทำอะไรไม่ได้นะคะ (เว้นแต่จำนอง จำนำ ยังบังคับได้ แต่เรียกดอกเบี้ยย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี)
หากเป็นกรณีหลัง โดยส่วนใหญ่ โจทก์มักจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป หลักทั่วไปคืออุทธรณ์ได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ทราบ โดยจะอุทธรณ์ได้นั้น หากเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทุนทรัพย์ต้องถึงตามหลักเกณฑ์ด้วย กล่าวคือ
ก) กรณีคดีมีทุนทรัพย์ มูลค่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องต้องเกิน 50,000 บาท
ข) กรณีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์(บ้านและ/หรือที่ดิน) อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ราคาค่าเช่าที่คำนวณได้จริงต้องเกิน 4,000 บาท
ค) ส่วนคดีไม่มีทุนทรัพย์ อุทธรณ์ได้เสมอ
ข้อควรระวัง
1. เมื่อก่อนคู่ความสามารถอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามปวิพมาตรา ๒๒๓ ทวิ แต่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับแก้ไขใหม่ได้ยกเลิกมาตรานี้แล้ว เพราะฉะนั้น....ไม่ได้แล้ว
2. เช่นเดียวกัน แต่ก่อน หากคู่ความไม่พอใจคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สามารถฎีกาไปยังศาลฎีกาได้ แต่ปัจจุบันกฎหมายแก้ไขใหม่ได้บัญญัติให้ คดีแพ่งทุกคดีถึงที่สุดที่ศาลอุทธรณ์ หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องขออนุญาตศาลฎีกาเท่านั้น การฎีกาในบ้านเราได้เปลี่ยนจากระบบสิทธิเป็นระบบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว...
เอ้ออออ ส่วนรายละเอียดในการอุทธรณ์และการบังคับคดี เอาไว้เรียนถึง อ่านถึง และเข้าใจมากขึ้นแล้วจะมาลงในบลอกภายหลังนะคะ
วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558
อายุความตามกฎหมายแพ่ง(update!)
เนื่องด้วยบทความถัดไปตั้งใจว่าจะกล่าวถึงอายุความด้วย จึงคิดว่าควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับอายุความไว้บ้างคงจะดี
อายุความคืออะไร?
ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน อายุความ หมายถึง ระยะเวลาที่กฎหมายบังคับให้ใช้สิทธิเรียกร้อง บังคับฟ้อง หรือร้องทุกข์
หรืออีกนัยหนึ่ง กฎหมายกำหนดว่า เมื่อเกิดสิทธิเรียกร้องใดใดขึ้นก็ตาม บุคคลผู้มีสิทธิจะต้องใช้สิทธิของตนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เท่านั้น หาไม่แล้ว สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ ไม่สามารถใช้สิทธิได้อีกต่อไป(ตามปพพ มาตรา ๑๙๓/๙)
อีกมาตราหนึ่งที่สนับสนุนหลักการดังกล่าวก็คือ ปพพมาตรา ๑๙๓/๑๐ ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฎิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
ยิ่งไปกว่านั้นนะ อายุความยังเป็นกำหนดเวลาตามกฎหมายซึ่งไม่สามารถย่น ขยาย หรืองดการบังคับใช้ได้อีกด้วย ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๑๑
ดูเหมือนกฎหมายจะไม่สนับสนุนหลักการ "แค้นนี้ 20ปีก็ยังไม่สาย" แบบหนังจีน ขืนรอไปถึง 20 ปี รับรอง สายแน่ ในสายตาของกฎหมาย
สรุปก็คือ ในทุกๆกรณีของการใช้สิทธิเรียกร้องต้องคำนึงถึงอายุความเสมอ หากฟ้องขาดอายุความ ผู้เรียกร้องอาจไม่ได้รับการชำระหนี้ของตนก็เป็นได้
อายุความเริ่มนับเมื่อใด
ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๑๒ "อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น"
และตามปพพมาตรา ๑๙๓/๑๓ "สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป..."
กล่าวคือ อายุความเริ่มนับแต่เมื่อสามารถบังคับเอาแก่สิทธิเรียกร้องต่างๆได้ ซึ่งหลักในการคำนวณประการแรกต้องพิจารณาว่ามูลเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่ หากมีกำหนดเวลาแน่นอน อายุความเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้วไม่มีการชำระหนี้ แต่หากไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน อายุความจะเริ่มนับเมื่อเวลาที่ได้ทวงถามหรืออาจทวงถามได้ ตัวอย่างเช่น
ถ้า ก ให้ ข ยืมเงิน กำหนดไว้ว่า ข จะคืนเงินวันที่ 31 มค 59 ต่อมาวันที่ 31 มค 59 ก ไปทวงเงินจำนวนที่ ข ยืมไป หาก ข ไม่ชำระ ถือได้ว่า ข ผู้เป็นลูกหนี้ผิดนัด สิทธิของ ก ในการฟ้องร้องบังคับสิทธิจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กพ 59 เป็นต้นไป ต้องถือว่าอายุความในการเรียกร้องสิทธิของ ก เริ่มนับเมื่อ
1 กพ 59
แต่ จากตัวอย่างเดิม ถ้าการยืมเงินนั้น ข บอก ก ว่า มีเมื่อไหร่ก็จะคืนเมื่อนั้น ดังนี้ ถือว่าการกู้ยืมดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งกฎหมายวางหลักไว้ว่า หากเป็นหนี้ไม่กำหนดเวลาแล้วไซร้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน(ปพพมาตรา ๒๐๓) ดังนี้ เมื่อตามกฎหมาย ก สามารถเรียกให้ ข คืนเงินได้ทันทีตั้งแต่ส่งเงินให้ ข ยืมไป การนับอายุความในกรณีดังกล่าวจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินกัน
ทำสัญญากันวันไหน อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น
ส่วนข้อความตอนท้ายของมาตรา ๑๙๓/๑๒ นั้น ตัวอย่างเช่น ดำกับแดงมีบ้านติดกัน ดำชอบนำรถมาจอดขวางหน้าบ้านแดง แดงจึงตกลงกับดำในวันที่ 23.12.2558 ว่าห้ามดำนำรถมาจอดหน้าบ้านตน มิฉะนั้นจะฟ้องร้อง ต่อมาวันที่ 25.12.2558 ดำนำรถมาจอดหน้าบ้านแดงอีก ถือว่าดำผิดข้อตกลงในวันที่ 25.12.2558 อายุความในการฟ้องคดีของแดงในเหตุดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 26.12.2558 เป็นต้นไป
สารภาพว่าเรื่องการนับระยะเวลานี่ ผู้เขียนก็ยังสับสนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ตามที่เข้าใจโดยทั่วไปคือ เมื่อเกิดการรบกวนสิทธิหรือเกิดสิทธิในการฟ้องร้องเมื่อใด อายุความจะเริ่มนับในวัดถัดจากวันที่เกิดสิทธิเป็นต้นไป เว้นแต่กรณีหนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่อายุความเริ่มนับทันทีตั้งแต่วันทำสัญญา
เอาเป็นว่า....ถ้าอ่านเพิ่มแล้วพบว่าไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบภายหลังนะคะ
อายุความมีกำหนดเท่าใดบ้าง
มีสองหลักค่ะ หลักทั่วไปกับหลักเฉพาะ
หลักทั่วไปของอายุความแพ่งเป็นไปตามปพพมาตรา ๑๙๓/๓๐ อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
สัญญาที่มีอายุความสิบปีได้แก่ สัญญากู้ยืมเงิน กรณีกำหนดให้ใช้เงินคืนเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดชำระ/ถึงวันที่ตกลงกันให้ชำระ หรือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี กรณีเหล่านี้มีอายุความ 10 ปี นับแต่ครบกำหนดชำระแล้วไม่มีการชำระหนี้
ส่วนอายุความอื่นๆนั้น โดยทั่วไปก็จะมีกำหนด 1ปี 2ปี 5ปี หรือ 10ปี ตามแต่กฎหมายกำหนด
อายุความหนึ่งปี ได้แก่ ละเมิดตามปพพมาตรา ๔๒๐ ฟ้องคดีมรดก, หนี้ใดใดที่มีต่อเจ้ามรดก หรือฟ้องเรียกข้อกำหนดตามพินัยกรรมตามปพพมาตรา ๑๗๕๔, คดีที่ผู้ทรงหรือผู้มีสิทธิในตั๋วเงิน(เช่น เช็ค)ฟ้องผู้ออกตั๋วหรือผู้สลักหลัง ตามปพพมาตรา ๑๐๐๒
อายุความสองปี ได้แก่ ฟ้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามปพพมาตรา ๘๘๒, ฟ้องเรียกตามสัญญาจ้างทำของ เช่น จ้างร่างสัญญา จ้างสอน ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๓๔
อายุความห้าปี ได้แก่ สัญญากู้ยืมกรณีผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ หรือเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๓๓
อายุความสิบปี ได้แก่ อายุความในการบังคับคดีตามคำพิพากษา ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
เป็นต้น
การสะดุดหยุดลงของอายุความ
อายุความสะดุดหยุดลง คือ การที่อายุความที่มีหยุดลงและเริ่มนับใหม่ เพราะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้อายุความเดิมที่มีมา ไม่อาจนับได้อีกต่อไป เมื่อใดก็ตามที่อายุความเริ่มนับอีกครั้งต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่สะดุดหยุดลงนั้น
งงมั้ย งั้นลองอ่านตัวอย่างตามนี้
สมมติว่าระยะเวลาตั้งแต่ช่วงหนึ่งถึงอีกช่วงหนึ่งคือห้องๆหนึ่ง ซึ่งมีประตูสองด้าน
อายุความคือคนๆหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินจากประตูด้านหนึ่ง ไปอีกด้านหนึ่ง ในระหว่างที่นายอายุความยังเดินไม่พ้นประตูอีกด้านหนึ่ง คู่กรณีในแต่ละสัญญานั้นก็มีสิทธิทำอะไรก็ได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
เมื่ออายุความเดินก้าวพ้นประตูอีกบานไปแล้ว สิทธิทุกอย่างถือว่าไม่มีสิทธิกันอีกต่อไป
อายุความสะดุดหยุดลงคือ จู่ๆมีเหตุให้นายอายุความซึ่งกำลังเดินไปเรื่อยๆเนี่ย หยุดเดิน และจะหยุดอยู่แบบนั้นจนกว่าเหตุจะถูกทำให้สิ้นไป และเมื่อนายอายุความเริ่มเดินอีกครั้ง จะเดินสองถึงสามแบบด้วยกัน แล้วแต่กรณี
- บางกรณี อายุความจะกลับไปที่จุดเริ่มต้น แล้วเริ่มเดินใหม่
- บางกรณี อายุความจะเดินต่อจากจุดเดิมเลย เผลอๆก้าวเดียวก็ถึงประตูเลยด้วย
- และ บางกรณี จะเกิดทางออกขึ้นใหม่อีกทางหนึ่งให้อายุความเดิน
(เฮ่ย คิดทั้งคืนเลยนะเนี่ย คนอ่านจะเข้าใจมั้ยเนี่ย???)
ซึ่งเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอยู่ในปพพมาตรา ๑๙๓/๑๔ มีดังต่อไปนี้
(ก) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยการทำหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดใดให้เห็นว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
(ข) เจ้าหนี้ฟ้องคดี
(ค) เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
(ง) เจ้าหนี้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ
(จ) เจ้าหนี้กระทำการอื่นใดอันมีผลเท่ากับฟ้องคดี
ตามกฎหมายแล้ว การกระทำตามข้อ (ก) นั้นจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่เลย(ทางเลือกแรกของนายอายุความในตัวอย่างข้างต้น) ส่วนเหตุ (ข) - (ง) นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีซึ่งต้องอ้างสิทธิของตนแก่ศาลหรือหน่วยงานทางยุติธรรม หากศาลรับเรื่องและดำเนินการต่อไป ก็จะมีผลเช่นเดียวกับ (ก) แต่หากถูกปฏิเสธหรือยกฟ้อง ตามมาตรา ๑๙๓/๑๗ และ ๑๙๓/๑๘ ให้ถือว่า อายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง หรือก็คือทางเลือกที่สองของตัวอย่างที่ยกไป
ส่วนกรณี (ข) - (ง) หากศาลไม่รับฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล(๑) หรือยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่(๒) และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วระหว่างการพิจารณา หรือกำลังจะครบกำหนดภายใน 60 วันนับแต่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด
อันที่จริง ผลของย่อหน้านี้ก็คือถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงน่ะแหละ ก็คืออายุความเดินต่อจากจุดเดิม เพียงแต่เห็นว่าเป็นเหตุซึ่งตัวผู้ฟ้องไม่ถูกตัดสิทธิให้ฟ้องใหม่ เมื่ออายุความจะหมดหรือหมดแล้วจึงต่อเวลาให้ ซึ่งเทียบตัวอย่างที่ให้ก็จะเป็นทางเลือกที่สาม
เหตุอื่นๆซึ่งทำให้อายุความครบกำหนดช้ากว่ากำหนด
1. มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางมิให้เจ้าหนี้กระทำการตามมาตรา ๑๙๓/๑๔ อายุความยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุสุดวิสัยนั้นได้สิ้นสุดลง (มาตรา ๑๙๓/๑๙)
2. ผู้เยาว์/บุคคลวิกลจริต ถ้าอายุความเรียกร้องสิทธิใดจะครบกำหนดในวันที่ยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือระหว่างที่ยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่บุคคลนั้นมีความสามารถเต็มภูมิหรือมีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เว้นแต่อายุความดังกล่าวมีกำหนดสั้นกว่าหนึ่งปีก็ให้นำระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้บังคับ (มาตรา ๑๙๓/๒๐)
3. หลักเดียวกับข้อสอง แต่เป็นกรณีผู้ไร้ความสามารถ(ผู้เยาว์/คนไร้ความสามารถ/คนเสมือนไร้ความสามารถ) ฟ้องผู้ดูแล(ผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้อนุบาล/ผู้พิทักษ์) ตามมาตรา ๑๙๓/๒๑
4. สิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา อายุความไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่การสมรสสิ้นสุดลง
5. สิทธิเรียกร้องอันเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้ตาย อายุความไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันตาย
ข้อควรระวัง
1. แม้การฟ้องเมื่อขาดอายุความแล้วอาจทำให้ผู้มีสิทธิเรียกร้องไม่สามารถได้รับชำระหนี้ของตนได้ แต่ตามหลักแห่งกฎหมายแพ่งแล้ว อายุความไม่ถือเป็นหลักกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ดังนั้นแล้ว แม้เจ้าหนี้จะฟ้องร้องตามสิทธิของตนเมื่อขาดอายุความแล้วก็ตาม หากลูกหนี้หรือผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยกประเด็นอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะนำเหตุขาดอายุความมายกฟ้องเองไม่ได้ ตามปพพมาตรา ๑๙๓/๒๙
แต่หากลูกหนี้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ศาลต้องยกฟ้อง ถือว่าเหตุแห่งการเรียกร้องสิทธิได้สิ้นไปแล้ว
ใครจะค้าความกันก็เลือกทนายดีดีนะคะ....
2. การเรียกร้องบางอย่างไม่มีอายุความ เช่น เจ้าของทรัพย์เรียกทรัพย์คืนจากบุคคลอื่น กรณีนี้ไม่มีอายุความ เพราะกฎหมายถือว่ากรรมสิทธิ์ย่อมติดอยู่กับตัวทรัพย์ตลอดไป
แต่....แม้การปล่อยเวลาล่วงเลยของท่านจะไม่ถูกห้ามโดยกฎหมาย แต่ท่านอาจถูกตัดสิทธิได้โดยหลักอายุความได้สิทธิ หรือว่าด้วยเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามปพพมาตรา ๑๓๘๒ ซึ่งบัญญัติว่า
"ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"
สรุปก็คือ ทรัพย์สินทั่วไป หากปล่อยคนอื่นครอบครองไปห้าปี หรือปล่อยให้ใครอยู่ในที่ดินหรือบ้านเกินสิบปี... ความเป็นเจ้าของที่ท่านมีอยู่จะโอนไปยังผู้ครอบครองทันที
ช้า....อด นะคะ
3. ข้อเรียกร้องแห่งสิทธิหลายกรณีมีอายุความมากกว่าหนึ่งช่วงระยะเวลา จะมีรูปแบบประมาณว่า "อายุความ.... นับแต่... แต่ไม่เกิน ..... นับแต่ ...."
เช่น ละเมิด 1 ปี นับแต่รู้(เหตุและรู้ตัวคนต้องรับผิด) แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด(ไม่เป๊ะตามตัวบท แต่เป็นหลักในปพพมาตรา ๔๔๘)
ตัวอย่างเช่น หากเราถูกรถชน แล้วเราไม่ทราบว่าใครเป็นคนชน เราจะยังฟ้องคดีไม่ได้ถูกมั้ย เพราะเราหาตัวคนรับผิดไม่ได้ ทีนี้ หากสองปีผ่านไปเราเพิ่งทราบว่าใครชนเรา เราก็ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่เราทราบตัวคนชน กรณีนี้เรายังมีสิทธิฟ้องเพราะยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ
ถ้าลงรายละเอียดเป็นวันที่ สมมติถูกชน 20 ธันวา 2556 ทราบว่าใครชน 20 ธันวา 2558 ต้องฟ้องคดีภายใน 20 ธันวา 2559
ถ้าฟ้องเกิน 20 ธันวา 2559 ขาดอายุความ
แต่....ถ้ารู้ตัวคนชน 21 ธันวา 2566 อันนี้คือขาดอายุความละ เกิน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ ไม่มีสิทธิฟ้องอีกต่อไป เป็นต้น
4. ดูเหมือนว่า อายุความจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้ เช่นว่า เมื่อยังไม่ครบกำหนดจะยังไม่ชำระหนี้ก็ได้ หรือเมื่อขาดอายุความแล้วจะฟ้องลูกหนี้ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น กฎหมายจึงอนุญาตให้ลูกหนี้ สละประโยชน์แห่งอายุความได้ เช่น การชำระหนี้ก่อนครบกำหนด หรือการรับสภาพหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว แต่การสละประโยชน์แห่งอายุความนี้ย่อมเป็นผลร้ายต่อตัวผู้สละแต่เพียงผู้เดียว กรณีที่มีลูกหนี้หลายคน ลูกหนี้คนอื่นย่อมไม่ได้รับผลร้ายดังกล่าวไปด้วย
5. หากหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว หนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วย เรียกไม่ได้เช่นกัน
เว้นแต่!! จำนอง จำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือบุริมสิทธิอื่นเหนือทรัพย์ของลูกหนี้ ยังสามารถบังคับเอาตามสัญญาเหล่านี้ได้ แต่จะเรียกดอกเบี้ยย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้
ถ้าท่านเป็นเจ้าหนี้ โปรดเรียกหลักประกันโดยการจำนองหรือจำนำ
แต่ถ้าท่านเป็นลูกหนี้ ไม่จำเป็นก็อย่าเอาทรัพย์ไปจำนองหรือจำนำ
มันเป็นสัญญา อกาลิโก!!!
ปล ต้องขอโทษด้วยนะคะที่ฉบับแรกนั้นเนื้อหาไม่ครบถ้วน ตอนนี้อ่านใหม่และปรับปรุงให้แล้วค่ะ
วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การฟ้องคดีแพ่ง (3) : ฟ้องใคร
ก่อนเข้าหัวข้อ ทวนความจำสักเล็กน้อย คดีซึ่งยื่นต่อศาลแพ่งได้นั้นมีสองประเภทด้วยกัน หนึ่งคือ คดีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่า คดีมีข้อพิพาท (1) และคดีอีกประเภทหนึ่งคือในกรณีที่บุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาล หรือคดีไม่มีข้อพิพาท
เมื่อกล่าวว่า "จะฟ้องใคร" แสดงให้เห็นได้ว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีมีข้อพิพาท หาไม่แล้วคงไม่ต้องลากใครเข้ามาให้วุ่นวายเป็นแน่
กลับเข้าสู่คำถามที่ว่า "จะฟ้องใคร"
คำตอบคือ : ฟ้องคน
อ้าว ไม่ได้กวนนะ ต้องฟ้อง "คน" จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญาก็ตาม ดูนิยามศัพท์ได้ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(หรือ ปวิพ) มาตรา ๑ อนุ (๑๑) คู่ความ หมายถึง บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล...
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(หรือ ปวิอ) มาตรา ๑ อนุ (๓) จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
เห็นไหม ไม่ว่าจะแพ่งหรืออาญา ผู้จะถูกฟ้องได้ ต้องเป็น บุคคล เท่านั้น
ลืมคดีต่างประเทศที่ศาลตัดสินประหารชีวิตหรือจำคุกสุนัขไปได้เลย ศาลไทยไม่รับค่ะ ศาลรับจัดการเฉพาะคนเท่านั้น
ต่อมา มาขยายความคำว่า "คน" กันเสียหน่อย
ตามกฎหมายแล้ว "คน" มีสองประเภท หนึ่งคือบุคคลธรรมดา และสองคือ นิติบุคคล
"คนธรรมดา" ในที่นี้ ก็คือ คน ผู้มี สภาพบุคคล ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(หรือ ปพพ)ได้บัญญัติไว้ว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย..."
สรุปว่าคนซึ่งได้รับการยอมรับตามกฎหมายก็คือคนธรรมดาอย่างเราๆท่านนี้แล
ส่วน "นิติบุคคล" นั้น คือ "บุคคล" ที่ไม่ใช่ "คน" จริงๆ แต่กฎหมายให้การยอมรับว่าเป็น "บุคคล" เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าคนธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งเฉพาะคนธรรมดาเท่านั้นที่มีได้(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗) เช่น แต่งงาน มีบุตร ทั้งในคดีอาญา ก็จะลงโทษด้วยวิธี "จำคุก" หรือ "ประหารชีวิต" แบบที่ลงกับคนธรรมดาไม่ได้เช่นกัน
นิติบุคคลเป็นบุคคตามกฎหมาย จึงต้องก่อตั้งด้วยกฎหมายเท่านั้น นิติบุคคลที่มีอยู่ทั่วไปก็เช่น บริษัททั้งหลาย มูลนิธิ วัด หน่วยงานของรัฐหลายๆแห่ง ฯลฯ
ประเด็นต่อเนื่องจากหลักที่ว่าผู้ที่ถูกฟ้องต้องเป็นคนและมีสภาพบุคคล
1. บุคคลที่จะถูกฟ้องต้องมีสภาพบุคคล กล่าวโดยเข้าใจง่ายคือ "ต้องยังไม่ตาย" เพราะหากผู้ถูกฟ้องตายเสียก่อนฟ้องคดี แล้วผู้ฟ้องคดียังระบุบุคคลดังกล่าวเป็น "จำเลย" อยู่แล้วล่ะก็...
ศาลจะสั่งไม่รับฟ้อง หรือจำหน่ายคดี หรือหากรับฟ้องโดยผิดหลง เมื่อพบต่อมาก็จำหน่ายคดี หรือสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องได้เลยเช่นกัน
แล้วถามว่า หากว่าที่จำเลยของท่านสิ้นชีวิตเสียแล้วก่อนจะฟ้อง จะทำอย่างไรนั้น ต้องพิจารณาว่า ฟ้องเรื่องอะไร
1.1 หากเป็นฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สิน ใช้ค่าเสียหาย หรือสิทธิใดใดที่ไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของคนที่ตาย กรณีนี้ต้องฟ้องทายาทผู้ตายค่ะ โดยระบุชื่อแล้วระบุไปว่าเป็นทายาทของผู้ที่เราต้องการจะฟ้อง ด้วยผู้ตายนั้นต้องรับผิดต่อเราดังนี้.... และความรับผิดดังกล่าวนั้นตกทอดไปยังทายาทด้วย.....
แต่พึงระลึกไว้ด้วยว่า กฎหมายคุ้มครองทายาทผู้ตายด้วยเช่นกัน ด้วยหลักกฎหมายที่ว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพยมรดกที่ตกทอดได้แก่ตน(ตามมาตรา ๑๖๐๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) นั่นหมายความว่า หากผู้ตายไม่มีทรัพย์สินใดใดเลย...
ก็พึงเตรียมใจไว้ว่า แม้จะชนะคดี ท่านอาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ได้
แต่ฟ้องได้นะคะ ศาลรับฟ้องค่ะ ถือว่ามีตัวจำเลยแล้ว
1.2 หากเป็นกรณีฟ้องเกี่ยวกับสิทธิเฉพาะตัวหรือหน้าที่เฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น ฟ้องหย่า ฟ้องให้จดทะเบียนสมรส
แนะนำว่าควรปลง เพราะตายแล้วสิทธิและหน้าที่เหล่านั้นหมดไปด้วยเช่นกัน หรือหากฟ้องหย่า การตายของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการสมรสอยู่ในตัวแล้ว ตามมาตรา ๑๕๐๑ แห่งปพพ
2. อาจมีผู้สงสัยว่า ฟ้องสิ่งไม่มีชีวิตก็ไม่ได้ ฟ้องสิ่งที่ไม่ใช่คนก็ไม่ได้ แล้วถ้าความเสียหายเกิดขึ้นโดยสิ่งที่ไม่มีสภาพบุคคลล่ะ เช่น ถูกสุนัขกัด มีของหล่นใส่
คำตอบคือ ฟ้องเจ้าของสิคะ บรรยายไปในฟ้องว่าความเสียหายเกิดเพราะเหตุนี้ๆๆสิ่งนี้ๆๆ แล้วระบุว่า สิ่งของนั้น สัตว์ตัวนี้ มีบุคคลคนนี้เป็นเจ้าของ ขอให้บุคคลคนนี้รับผิดเนื่องจากไม่ดูแลให้ดี บลาๆๆ
แล้ว.....ถ้าไม่มีเจ้าของล่ะ
โชคดีเหลือเกินนะ คือ ถ้าตามกฎหมายแพ่งเนี่ย คุณฟ้องไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีเจ้าของไง คนจะรับผิดก็ไม่มี กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำของสิ่งหรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของเป็นความผิดเสียด้วยสิ เพราะมันไม่ใช่คน จึงถือว่าขาดองค์ประกอบความผิด
แต่....บางทีคุณอาจสามารถแจ้งตามกฎหมายอื่นได้ เป็นต้นว่า หากเป็นสุนัขจรจัด ก็ไปแจ้งกทม อะไรแบบนี้ หรือหากทรัพย์ที่ก่อความเสียหายเป็นทรัพย์ของทางราชการ คุณก็ต้องฟ้องหน่วยราชการนั้น
นึกไม่ออกแล้วแฮะ นึกอะไรขึ้นได้จะมาเพิ่มแล้วกัน แต่ที่แน่ๆ
โปรดเช็คสถานะของผู้ที่คุณจะฟ้องก่อนฟ้องทุกครั้งนะคะ
วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การฟ้องคดีแพ่ง (2) : ฟ้องที่ไหน
โอเค ทราบกันไปแล้วว่าทำไมคนเราถึงต้องเดินไปหาเรื่องศาล เอ๊ย เอาเรื่องไปให้ศาลวินิจฉัย ปัญหาต่อไป....
....ฟ้องที่ไหนดีล่ะ???
กรณีนี้จะต้องอิงหลักกฎหมายว่าด้วยเรื่องอำนาจศาล ซึ่งจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องอันเกี่ยวกับการดำเนินคดีในทางแพ่งได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้
1. เขตอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๕ ได้วางหลักว่า "ห้ามศาลใช้อำนาจนอกเขตศาล เว้นแต่....."
ดังนั้น คดีแพ่งต้องฟ้องต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีแพ่ง ซึ่งมีเขตอำนาจในการรับคำฟ้องได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ก. กรณีเป็นคดีมีข้อพิพาท
1.1 กรณีทั่วไป ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๔ อนุ (๑) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล..."
จากบทบัญญัติดังกล่าว คดีมีข้อพิพาทจะเสนอคำฟ้องได้สองศาลด้วยกัน หนึ่งคือศาลซึ่งจำเลย หรือผู้จะถูกฟ้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น เช่น หากจำเลยเป็นคนเชียงใหม่ ผู้ฟ้องหรือโจทก์สามารถฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ เป็นต้น
อีกทางเลือกหนึ่งของการฟ้องคดีคือศาลซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล คือ หากเหตุแห่งการพิพาทหรือเรียกร้องเกิดขึ้น ณ ที่ใด ย่อมสามารถฟ้องคดี ณ ศาลในที่นั้นได้ เช่น รถถูกชนที่ระยอง เจ้าของรถที่ถูกชนสามารถฟ้องคดีที่จังหวัดระยองได้ แม้ว่าผู้ขับรถชนและเจ้าของรถที่ถูกชนจะไม่ได้อยู่ที่ระยองก็ตาม
1.2 กรณีที่ฟ้องหรือพิพาทกันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ สามารถฟ้องคดีได้ที่ศาลในเขตที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นหรือไม่ก็ตาม (ตามปวิพ มาตรา ๔ ทวิ)
เช่น ตกลงกันไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี แม้คู่กรณีจะอยู่คนละจังหวัด เช่นฝ่ายหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ปัตตานี ในกรณีนี้สามารถไปทะเลาะกันหน้าศาล เอ๊ย นำคดีไปฟ้องศาลจังหวัดปทุมธานีได้ เพราะเป็นศาลซึ่งที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่นั่นเอง
1.3 หากเป็นข้อพิพาทซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นต่างชาติ หรือไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ให้พิจารณาตามลำดับดังนี้
(i) หากจำเลยเคยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย(กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเคยประกอบกิจการใดใดในประเทศไทย ภายในสองปีก่อนวันยื่นฟ้อง ให้ถือว่าที่ๆเคยเป็นที่อยู่(กรณีบุคคลธรรมดา) ที่ๆเคยเป็นที่ประกอบกิจการ หรือที่ๆเป็นที่อยู่ของตัวแทนผู้ถูกฟ้องนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย
...........ฟ้องในศาลที่มีอำนาจในเขตข้างต้นโดยยึดตามข้อ 1.1 ว่าด้วยภูมิลำเนาจำเลยได้เลยค่ะ
(ii) หากจำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย และเหตุแห่งการพิพาทก็ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีเป็นคนไทย หรือมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง(รัชดา) หรือศาลซึ่งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
1.4 หากข้อพิพาทเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดขึ้นในเรือหรือเครื่องบินซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยและถือว่าเป็นเครื่องของไทย ให้ฟ้องที่ศาลแพ่ง(ค่ะ....ที่อยู่รัชดาน่ะค่ะ)
ข. กรณีเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท
1.5 ตามปวิพมาตรา ๔ อนุ (๒) บัญญัติว่า "คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่"
หรือก็คือ ให้เสนอต่อศาลที่เหตุแห่งการยื่นคำร้องขอเกิดขึ้น หรือศาลที่ผู้จะร้องขอมีภูมิลำเนาอยู่
1.6 คดีร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย
สรุปก็คือคนตายอยู่ไหนก่อนตาย ฟ้องที่นั่นแหละ (เริ่มไม่ศัพท์กฎหมายแล้วมั้ยล่ะ)
อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ยึดตามข้อ 1.2 ดังที่กล่าวข้างต้น
ประเด็นสำคัญคือ เรื่องที่จะเสนอต่อศาลไทยนั้นต้องมี "จุดเกาะเกี่ยว" กับประเทศไทย กล่าวคือ ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย หรือเกิดเหตุในประเทศไทย หาไม่แล้ว จะไม่สามารถยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลในประเทศไทยได้เลย
โอเค เมื่อเลือกเขตศาลกันได้แล้ว ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาก็คือ
2. อำนาจศาล
หลักมีอยู่ว่า ศาลที่มีอำนาจรับพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งคือ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลจังหวัด และศาลแขวง
เฮ้ย มีหลายศาล?
ใช่ค่ะ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีนั้น ตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยศาลแพ่งมีเขตอำนาจทั่วประเทศ ส่วนอีกสองศาลนั้นก็มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่โดยรอบศาล
ส่วนศาลจังหวัดและศาลแขวงนั้นมีอยู่ทั่วประเทศเกือบจะทุกจังหวัด แม้แต่ในกรุงเทพฯก็มีศาลจังหวัดและศาลแขวงเช่นกัน
อ้าว แบบนี้เขตอำนาจไม่ซ้อนกันหรือ ?
ซ้อนค่ะ ดังนั้น จึงต้องมีการแบ่งอำนาจศาลกันไงล่ะคะ
นอกจากจะแบ่งว่าศาลไหนคุมพื้นที่ใดบ้างแล้ว(สำหรับในกรุงเทพมหานครนะ) หลักการมีอยู่ว่า ในพื้นที่ซึ่งมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวงให้แบ่งเขตอำนาจกันดังนี้ คือ
"ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง เฉพาะคดีซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท" ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๔ และ ๒๕
ดังนั้นแล้ว หากเป็นกรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาลอันไม่ใช่กรณีมีข้อโต้แย้งหรือคดีไม่มีข้อพิพาท และ ฟ้องร้องแก่กันโดยมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาทขึ้นไป ต้องไปฟ้องยังศาลจังหวัด ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี หรือศาลแพ่ง ตามแต่จังหวัดที่ท่านประสงค์จะยื่นฟ้อง
เพิ่มเติม :
1. คดีมีทุนทรัพย์คือคดีที่ฟ้องร้องเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินจากกัน อาจเรียกเป็นตัวเงินหรือเรียกทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องได้ความว่า เมื่อชนะคดี ผู้ฟ้องจะได้ทรัพย์มาเป็นของตนหรือของฝ่ายตน
2. ทุนทรัพย์คือจำนวนเงินที่เรียกร้องกันมาในมูลคดีหรือการฟ้องคดี หากเรียกเป็นจำนวนเงินโดยตรง ให้พิจารณาจากจำนวนเงินที่เรียกร้องกัน แต่หากเกี่ยวด้วยทรัพย์สิน ให้คิดโดยตีราคาทรัพย์นั้นหรือราคาซึ่งทรัพย์นั้นอาจทำเงินได้ เช่น ฟ้องขับไล่ ให้คิดทุนทรัพย์โดยตีราคาว่าบ้านที่จะไล่เขานั้นหากให้เช่าจะให้เช่าได้ราคาเท่าใด อย่างไรก็ดี คดีฟ้องขับไล่เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์นะคะ เพราะคำขอหลักไม่ได้เรียกตัวเงินหรือทรัพย์สิน
และนี่คือหลักการพิจารณาว่า คดีของท่านต้องไปยื่นเพื่อรับการพิจารณาจากศาลใด
แต่ช้าก่อน ต่อไปนี้คือข้อยกเว้น
1. คดีใดใดก็ตามที่เกิดในประเทศไทยซึ่งอยู่นอกเขตศาลแพ่ง สามารถยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งได้ เพราะมาตรา ๑๖ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้อำนาจศาลแพ่งในการรับพิจารณาพิพากษาได้ หรือจะโอนไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจก็ได้เช่นกัน
เช่น เล่นแชร์แล้วถูกโกงที่ชลบุรี คนโกงหนีกลับบ้านที่ขอนแก่น ถ้ายังงงๆไม่แน่ใจว่าจะฟ้องที่ไหน วิ่งไปยื่นเรื่องที่ศาลแพ่งรัชดาได้เลยค่ะ ถ้าท่านไม่รับ ประเดี๋ยวท่านก็โอนไปยังศาลที่มีอำนาจเอง
หมายเหตุ คนเขียนไม่มีเจตนาจะกล่าวหาว่าจังหวัดใดดีไม่ดีนะ แค่ยกตัวอย่างตามจังหวัดที่นึกขึ้นได้ขณะที่ยกตัวอย่างเฉยๆ
2. หากคำฟ้องหรือคำร้องขอใดเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออันเกี่ยวเนื่อง หรือสืบเนื่องมาจากการพิจารณาคดีในศาลใด ให้ยื่นต่อศาลนั้น เช่น คดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ หากเราจะร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ไม่ว่าเหตุผลใดใด แม้เราจะมีสิทธิฟ้องที่ศาลมากกว่าหนึ่งศาล แต่เราก็ต้องยื่นคำร้องไปที่ศาลที่ตัดสินให้ยึดทรัพย์เท่านั้น เป็นต้น
นอกจากเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดีแล้ว คดีที่ต้องการให้ศาลถอดถอนตำแหน่งของบุคคลใดอันศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้ง หรือประสงค์ให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดใดอันศาลได้มีคำสั่งชี้ขาดแล้ว ก็ต้องยื่นที่ศาลซึ่งได้แต่งตั้งหรือออกคำสั่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
อีกประการหนึ่งคือคำร้องเกี่ยวกับการสืบพยานล่วงหน้าในคดีใด หากได้ยื่นต่อศาลใดแล้วประสงค์จะยื่นเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลนั้น แต่หากยังไม่ได้ยื่นต่อศาลนั้นก็ให้ยื่นต่อศาลซึ่งพยานหรือหลักฐานที่ต้องการจะสืบล่วงหน้ามีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น
หลักเหล่านี้เป็นข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗ ค่ะ
เฮ้อ จบเสียที.... หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะ
.....แต่อย่างน้อยคนเขียนก็ได้ประโยชน์ตรงที่ได้ทบทวนเรื่องเขตอำนาจศาลแหละน่าาา
วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การฟ้องคดีแพ่ง(1) : ฟ้องทำไม
หลักเกณฑ์ในการฟ้องคดีแพ่ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ บัญญัติว่า "เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้"
จากหลักการตามมาตรา ๕๕ สรุปได้ว่า บุคคลอาจใช้สิทธิทางศาลได้ด้วยสองกรณี
1. เมื่อเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง โดยในกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิทางศาลเพื่อโต้แย้งบุคคลอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีข้อโต้แย้งต่อกันตามกฎหมายแพ่ง อันเรียกว่า คดีมีข้อพิพาท ซึ่งตามหลักแห่งกฎหมายแพ่งแล้ว บุคคลจะมีสิทธิหรือหน้าที่ต่อกันได้นั้น มีที่มาจากสามสาเหตุด้วยกัน คือ นิติกรรม นิติเหตุ และด้วยผลของกฎหมาย
1.1 นิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๙ ได้วางหลักว่า นิติกรรมคือ การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิของบุคคล
กล่าวอีกนัยหนึ่ง นิติกรรมตามกฎหมายแพ่งคือ การใดๆก็ตามที่ยังให้สิทธิของบุคคลเกิดการเคลื่อนไหว เช่น การซื้อขาย ผู้ซื้อย่อมได้ซึ่ง(กรรม)สิทธิ์ในทรัพย์ที่ตนซื้อ ส่วนผู้ขายก็ได้สิทธิที่จะรับชำระราคาค่าสินค้านั้น เป็นต้น
ในทางกลับกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งมี "สิทธิ" ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อีกฝ่ายซึ่งร่วมตกลงกัน หรือในทางกฎหมายเรียกว่า เป็นคู่สัญญากัน ย่อมจะมี "หน้าที่" ในสิ่งนั้นเสมอ
ดังตัวอย่างข้างต้น การซื้อขาย เมื่อผู้ซื้อมี "สิทธิ" ในตัวสินค้า ผู้ขายย่อมมี "หน้าที่" ในการมอบสินค้า หรือส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ
ในทางกลับกัน เมื่อผู้ขายมี "สิทธิ" ในการรับเงินค่าสินค้า ผู้ซื้อ ซึ่งได้ตัวสินค้าไป ย่อมมี "หน้าที่" ในการชำระราคาให้แก่ผู้ขายด้วย
และด้วยความที่ "นิติกรรม" ก่อให้เกิด "สิทธิ" และ "หน้าที่" ต่อกันนี้เอง เมื่อบุคคลฝ่ายเดียวหรือสองฝ่าย(ส่วนใหญ่หากเป็นคดีมีข้อพิพาทมักจะมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งฝ่าย) ก่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น ย่อมมีความเป็นไปได้ที่บุคคลเหล่านั้นจะเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้นจาก "สิทธิ" และ "หน้าที่" ที่ตนมี
นิติกรรมจึงเป็นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้ฟ้องร้องกันได้ในที่สุด
1.2 นิติเหตุ คือ เหตุซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นที่มาของสิทธิและหน้าที่ของบุคคล โดยปกติแล้วเหตุเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะ "ก่อ" เหตุขึ้น แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว กฎหมายยอมรับว่าให้มีผลใดๆในสิทธิและหน้าที่ของบุคคลได้
นิติเหตุในทางกฎหมายแพ่งมีอยู่สามประการด้วยกัน คือ ละเมิด ลาภมิควรได้ และจัดการงานนอกสั่ง
ละเมิด คือ การที่บุคคลใดทำให้บุคคลอื่นเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิต่างๆ ไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม (อ้างอิงจากหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐)
ตัวอย่างเช่น ขับรถชนท้ายรถคันหน้า, จงใจลงข่าวเท็จเพื่อให้คนบางคนเสียหาย ฯลฯ
....แบบนี้ กฎหมายกำหนดเลยว่า ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องชดใช้ และผู้กระทำก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
ลาภมิควรได้ คือ การได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้(ตามความในมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรืออีกนัยหนึ่ง ลาภมิควรได้คือการได้ทรัพย์มาโดยไม่สามารถจะอ้างความชอบธรรมในการครอบครองทรัพย์นั้นได้ ไม่ว่าเหตุแห่งการอ้างไม่ได้จะเกิดขึ้น ณ ขณะที่รับมา หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ตาม [จะแลคเชอร์ถึงในโอกาสต่อไป...]
ผลคือ ต้องคืนทรัพย์นั้นให้เจ้าของไป เว้นแต่เจ้าของจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายบางหลักว่า...เรียกคืนไม่ได้
แต่ในกรณีที่เรียกได้ กฎหมายก็อนุญาตให้ฟ้องร้องได้เช่นกัน
จัดการงานนอกสั่ง คือ การที่บุคคลหนึ่งเข้าไปจัดการงานของผู้อื่นโดยเขาไม่ได้สั่ง หรือไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใดใดในการกระทำนั้น
ผลที่ตามมาคือ กฎหมายอนุญาตว่า หากเกิดอะไรขึ้นก็ตามระหว่างกัน ต่างฝ่ายย่อมฟ้องกันได้
1.3 ด้วยผลของกฎหมาย เป็นกรณีซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้บุคคลต้องมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน เช่น ในบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องทรัพย์ ครอบครัว หรือมรดก
ทรัพย์ เช่น กำหนดว่าเมื่อบุคคลใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์(ศัพท์ทั่วไป = เป็นเจ้าของ) บุคคลอื่นย่อมมีหน้าที่คือ รับรู้ในกรรมสิทธินั้น ไม่เข้าไปกระทำการใดๆอันรบกวนกรรมสิทธิของเจ้าของทรัพย์
หากเกิดข้อพิพาท(ศัพท์ทั่วไป = ทะเลาะกัน) เกี่ยวกับทรัพย์ หากเป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายแพ่งแล้ว ย่อมฟ้องร้องกันได้
ครอบครัว เป็นต้นว่า บิดามารดากับบุตรย่อม หรือสามีภริยาย่อมมีหน้าที่อุปการะซึ่งกันและกัน ถ้าไม่ปฎิบัติ ฟ้องได้นะ
อย่างไรก็ดี บุตรไม่สามารถฟ้องบุพการีของตนได้
[บุพการี = พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ของปู่ย่าตายาย ไล่ไปได้เท่าที่ยังอยู่]
การใช้สิทธิทางศาลแบบต้องมีคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นคดีมีข้อพิพาทนี้ หนังสือที่ยื่นต่อศาลจะเรียกว่า "คำฟ้อง"
2. เมื่อบุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาล กล่าวคือ มีเหตุบางประการอันกฎหมายให้สิทธิไว้ว่าสามารถยื่นต่อศาลเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือรับรองซึ่งสิทธิของตนได้ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายแพ่งเท่านั้น
เช่น การครอบครองปรปักษ์ในอสังหาริมทรัพย์ครบ 10 ปี ย่อมสามารถทำเป็นคำร้องให้ศาลแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิในที่ดินได้
ครอบครองปรปักษ์ คือ เข้าไปยึดถือและครอบครองไว้โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ(คำอธิบายแบบทั่วไป = ทำไม่รู้ไม่ชี้เข้าไปอยู่ในที่ชาวบ้านจนครบ 10ปี) ตามปพพ(=ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) มาตรา ๑๓๘๒
อสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน ทรัพย์ที่ติดกับที่ดิน หรือ สิทธิอันเกี่ยวหรือติดกับที่ดิน
โดยคดีประเภทนี้จะเป็นคดีซึ่งไม่ต้องโต้แย้งกับผู้ใด(ศัพท์ทั่วไป = ไม่ต้องทะเลาะกับใคร) อันเรียกว่าคดีไม่มีข้อพิพาท หนังสือซึ่งต้องยื่นต่อศาลกรณีนี้จะเรียกว่า "คำร้อง"
กล่าวโดยสรุป บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลได้ต่อเมื่อสิทธิของตนได้รับความกระทบกระเทือน อันต้องร้องต่อศาลเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือรับรอง โดยสิทธิดังกล่าวต้องเป็นสิทธิซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีได้และใช้สิทธิได้เท่านั้น
จุดประสงค์ของเพจ
เราตั้งใจว่าจะใช้เพจนี้เป็นการสรุปบทเรียนกฎหมายซึ่งตนเองต้องใช้สอบ โดยจะใช้ภาษากฎหมายที่สามารถนำไปเขียนตอบได้จริงๆ ซึ่งอาจทำให้อ่านยากสักนิดหนึ่ง
แต่ทุกๆท่านสามารถเข้ามาอ่านและติชมได้นะคะ ขอบพระคุณสำหรับความสนใจค่ะ
เพิ่มเติม พอเขียนๆไป เราเริ่มรู้สึกว่า เราอยากทำให้มันอ่านรู้เรื่องเพื่อเป็นความรู้ด้วย ก็ลองอ่านดูก็แล้วกันนะคะ หวังว่าความรู้ทางกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)