วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

ศัพท์ที่อาจใช้ได้ในทางกฎหมาย




     สวัสดีค่ะ

     หายไปนานในทุกบล็อก ใช่ค่ะ ตอนนี้คนเขียนกำลังมึนๆกับงานการที่ได้รับมอบหมาย หัวเลยตื้อๆนึกเรื่องที่จะเขียนไม่ค่อยออก แหะๆ

     วันนี้ เผอิญว่านั่งปรับๆแก้ๆบันทึกจดศัพท์ของตัวเองอยู่  เป็นบันทึกรวบรวมศัพท์ที่ได้มาจากการเล่นเกม  อ่านบทความ  อะไรงี้ แล้วก็เอ๊อะ...มันมีบางคำที่เกี่ยวกับกฎหมายนี่นา  แล้วเลยจัดการไฮไลท์ไว้  ตอนแรกกะจะไปบอกเพื่อนที่ตัวเองแชร์ไฟล์ศัพท์ให้ว่า  ที่ไฮไลท์นี่คือศัพท์กฎหมายนะ  ลองท่องๆดู  คิดไปคิดมา  เออ  แยกมาเป็นเรื่องเป็นราวเลยดีกว่า  เป็นการทบทวนไปด้วยในตัว  ถามว่าจะจำได้มั้ยก็ไม่รู้หรอก  ยิ่งการใช้ยิ่งไม่ค่อยได้ใช้เข้าไปอีก...
     แต่อย่างน้อยก็อาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่หลงเข้ามาแล้วต้องการศัพท์ไปทำข้อสอบงานเกี่ยวกับกฎหมายที่ต้องสอบภาษาอังกฤษด้วย  อะไรเงี้ย
     หวังว่านะ  (คิดเองเออเอง)


     ต่อไปนี้คือคำที่คิดเอาเองว่าสามารถจำไปสอบได้นะคะ  แต่ถ้าอยากได้ศัพท์แบบจริงจัง  แนะนำว่าซื้อหนังสือภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายท่องไปเลยดีกว่า  จะเรียงตามตัวอักษรนะคะ  ถ้าได้อะไรและมีเวลาก็จะมาเพิ่มให้อีก  ส่วนที่เป็นสีเขียว  ก็อย่างที่บอกอ่ะว่าไฮไลท์เอาไว้  ขออนุญาตไม่เปลี่ยนสีละกัน


      accomplice (n)                       ผู้ร่วมกระทำความผิด

acquittal (n)                             การตัดสินให้จำเลยไม่มีความผิด,การปล่อยเป็นอิสระ

adjourn (v)                              เลื่อน, เลื่อนศาล

alienate (v)                             โอนสิทธิ, ทำให้แตกแยก

annulment (n)                         ใบหย่า, การยกเลิก

appealate (adj)                       เกี่ยวกับการอุทธรณ์, ซึ่งมีอำนานพิจารณาอุทธรณ์

banish (v)                               เนรเทศ

bootleg (n)                              การค้าของเถื่อน

buyout (n)                              การซื้อกิจการทั้งหมด

culprit (n)                                 นักโทษ ส่วนคำเหมือนก็เช่น prisoner

denigrate (v)                           ลบรอย, สบประมาท, หมิ่นประมาท

edict (n)                                  คำสั่ง, กฤษฎีกา, ตัวบทกฎหมาย

embezzle (v)                            ยักยอก 

empanel (v)                         ลงรายชื่อเพื่อรับคัดเลือกเข้าเป็นลูกขุน (impanel)

exoneration (n)                       การพ้นโทษ, นิรโทษกรรม, การปลดเปลื้องไป
gallows (n)                              ที่แขวนคอ

heist (v)                                  ปล้น

indictable (adj)                       ที่ฟ้องได้

inquest (n)                              การไต่สวนคดี, มรณกรรม

intestate (adj)                         (ตายแบบ)ไม่ได้ทิ้งพินัยกรรมไว้ (ลองคิดดูสิว่าถ้าโจทก์เกี่ยวกับเรื่องมรดกแล้วเราใส่คำนี้ไป มันจะเท่ห์แค่ไหน/คิดเองเออเองอีกละ 555)

jailbird (n)                                คนที่เคยติดคุกมาแล้ว

jailer (n)                                   ผู้คุมนักโทษ

larceny (n)                              การลักขโมย, การยึดครองทรัพย์สินผู้อื่นอย่างผิดกฎหมาย

lynch (v)                                 ใช้ศาลเตี้ย, รุมทำร้าย

ostensible agency                    ตัวแทนโดยปริยาย (ตัวแทนเชิด?)
ostensible authority                 อำนาจหน้าที่โดยปริยาย

oversight (n)                           การประมาทเลินเล่อ, การไม่ตรวจตราให้ดี, การมองข้ามไป

pilfer (v)                                  ล้วงกระเป๋าขโมยเงิน, ฉก, ลักเล็กขโมยน้อย

plunder (v)                                ปล้น, จี้

reprieve (n)                              การพักหรือเลื่อนการประหาร

respite (n)                                การบรรเทาโทษ, การเลื่อนเวลาออกไป, การหยุดชั่วคราว

tenure (n)                               ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง, ระยะเวลาในการถือครอง

umpire (n)                                ผู้ตัดสิน, ผู้ชี้ขาด, กรรมการ


เป็นกำลังใจให้ผู้จะเข้าสอบทำงานทุกคนค่ะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ






วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

โทษประหารน่ะมีแน่ แต่จะใช้หรือเปล่าเท่านั้นเอง




     ได้ยินคนประท้วงให้แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษประหารในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  นักกฎหมายคงได้แค่ถอนใจ...

     ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยหรอกนะ  คนบางคนก็เลวเกินจะได้รับการอภัย

     แต่ที่ว่าถอนใจน่ะ  เพราะรู้ว่า


     โทษประหารน่ะ  มันมีอยู่แล้ว



     สิ่งที่เกิดขึ้น  ในมุมมองของคนทั่วไปคงจะเรียกกันว่า  "จี้ชิงทรัพย์  และฆ่าเจ้าทรัพย์"

     แต่ศัพท์กฎหมายนั้นจะเรียกต่างออกไป..  โดยเรียกว่า  


     "..ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ.....ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์"  รายละเอียดเต็มกรุณาอ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 นะ

     และเมื่อมีการตายเกิดขึ้นของผู้เสียหาย  มันจะเข้าวรรคท้าย(หรือย่อหน้าสุดท้าย)  ที่ว่า  "ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย.."

     ซึ่งอัตราโทษคือ  "..ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต"

     เห็นมั้ย  โทษน่ะมี  ไม่ตายก็ติดคุกคางเหลือง


     และต่อให้หลุดจากมาตรานี้ไปได้  (ยังนึกไม่ออกว่าจะหลุดได้ยังไง)  มันก็ไปเข้าอีกมาตราหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการฆ่าโดยเหตุรุนแรง  หรือภาษากฎหมายเรียกว่า  "เหตุฉกรรจ์"  นั่นคือ

     ถ้าไม่ใช่  "(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ  หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่าอื่น.."  มันก็คงเป็น

     "(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น..."

    อยู่ดี  ส่วนโทษน่ะหรือ...

     "...ต้องระวางโทษประหารชีวิต"  ตามมาตรา 289

     เข้าบทนี้ตายสถานเดียว...



     ดังนี้จึงเห็นได้ว่า  โทษสำหรับการกระทำความผิดให้ผู้เสียหายถึงตายน่ะ  มันมีอยู่แล้ว  จึงไม่จำเป็นจะต้องร้องขออะไรอีกเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย

     หากจะขอ  สิ่งที่ควรจะขอ  เพื่อความสงบสุขของคนดี  น่าจะเป็น

     -  ขอให้การสอบสวนเป็นไปโดยถูกต้อง  เพื่อให้อัยการสามารถฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาลได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

     -  ขอให้  หาเหตุที่จะลดโทษให้ผู้กระทำผิดไม่ได้     และเพื่อความต่อเนื่อง  สิ่งที่ควรขอต่อไปคือ

     -  ขอให้  ผู้กระทำความผิด ไม่ได้รับการอภัยโทษออกมา  ตราบใดที่ยังสำนึกตัวไม่ได้

      (สองข้อนี้แหละสำคัญ  ไอ้ที่ออกมาเดินเพ่นพ่านกันเยอะส่วนหนึ่งคือได้รับการลดโทษลงมา แล้วได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวออกมา)


     ตามความเห็นเรา  บางทีตัวบทไม่ได้ขาดแคลนโทษที่เหมาะสมกับความผิดหรอกนะ  แต่ในทางปฏิบัติต่างหากที่ทำให้มันไม่สัมฤทธิ์ผลเต็มที่  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่



     เราเห็นด้วยว่าการให้อภัยและให้โอกาสเป็นสิ่งที่ดี

     แต่ "โอกาส" ควรสงวนไว้ให้แก่คนที่คู่ควรจะได้จริงๆ


     เพราะการให้ "โอกาส" แก่คนไม่ดี

     สุดท้าย  คงไม่ต่างอะไรกับการเป็น  "ผู้สนับสนุน"  ที่หยิบยื่น "อาวุธ"  ให้คนเลว  มาประหัดประหาร "คนดี"  ในสังคม


     ...อยู่ร่ำไป...




     ปล  กรุณาอย่าให้แก้กฎหมายนักเลย  เห็นใจคนสอบเถอะ  ทุกวันนี้วิ่งตามตัวบทแก้ใหม่จนปวดหัวไปหมดแล้วววว

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การดำเนินคดีอาญา (2) : แจ้งความ




     เอาล่ะ  ในที่สุดเราก็รู้แล้วว่า  เราเป็นผู้เสียหายในทางอาญาจริงๆ  งั้น  เราก็ควรลงมือดำเนินคดีกันได้แล้ว  มัวแต่คอยท่าไป  คดีขาดอายุความขึ้นมา  เราจะหมดสิทธิ์นำตัวคนผิดมาลงโทษ

     ยังไม่อยากฟ้องศาล  งั้นเริ่มที่การแจ้งความละกัน


     คำถามต่อไป  แล้วมันต้องทำยังไงบ้างล่ะ???

     มาว่ากันทีละขั้น



     แจ้งที่ไหนและกับใคร

     คนเรามักเข้าใจว่า  จะแจ้งความต้องไปโรงพัก  หรือชื่อเต็มคือ  สถานีตำรวจ  ซึ่งก็ไม่ผิด  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

     ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 123  บัญญัติว่า  "ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้..."  

     แล้วพนักงานสอบสวนคือใครกันล่ะ?


     นิยามศัพท์ตามมาตรา 1  มีว่า  พนักงานสอบสวนคือ  เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวน
     ...โอเค  ขอบคุณมาก  มึนตึ้บ...

     ในทางปฏิบัติน่ะนะ  ผู้ที่รับการร้องทุกข์หรือการแจ้งความของเราได้เนี่ย  นอกจากตำรวจแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วย  ซึ่งได้แก่  ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
 
     แต่ถ้าหาสำนักงานยุ่งยากนัก  ก็เดินเข้าโรงพักไปเลยก็ได้  ง่ายดี  


     แล้วก็  แม้กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า  ตำรวจชั้นร้อยตำรวจตรีเท่านั้นที่มีอำนาจสอบสวนได้  แต่การแจ้งความไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวน  ดังนั้น  เราสามารถแจ้งความกับตำรวจได้ทุกคนและทุกยศ

     เดินเข้าโรงพักไป  เห็นตำรวจคนไหนว่างก็เดินเข้าไปเลย  ไม่ต้องถามยศหรอก  ยุ่งยาก  


     เกือบลืม  เจ้าหน้าที่อื่นนอกจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจรับแจ้งความนะคะ  อย่าได้ไปแจ้งกับพวกรัฐมนตรีหรือนายกเชียว  ท่านไม่มีอำนาจนั้น
     ไปแจ้งผู้พิพากษาก็ไม่ถือว่าแจ้งความ  ถ้าอยากไปศาลขนาดนั้น  ฟ้องคดีไปเลยเถอะ
   

    สรุปว่าไปแจ้งกับตำรวจที่สถานีตำรวจเนอะ  จะได้ไปหัวข้อต่อไป  



     แจ้งเมื่อไหร่

     สั้นๆนะ  "เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"  

     ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า  การดำเนินคดีทางอาญานั้นมีอายุความในการดำเนินคดีกำกับอยู่  ซึ่งหากเราปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรเลย  จนหมดเวลาฟ้อง/แจ้งความ/ดำเนินคดี

     ต่อให้อีกฝ่ายผิดจริง  หลักฐานครบ  ชั่วช้าแค่ไหน  

     ยังไงก็หลุด...นะคะ  (อายุความเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยในทางอาญาเสียด้วยสิ)

     ในฐานะปุถุชนธรรมดาผู้ยังละกิเลสไม่ได้มากนัก  เราคงไม่ใจดีขนาดปล่อยเวลาล่วงไปเพื่อให้อภัยผู้กระทำผิดหรอกใช่ไหม?

     แล้วอายุความนี่มันมีกำหนดเท่าไหร่บ้างล่ะ


     เอ้ออ  คือมันจะมีอายุความสั้น  กับอายุความยาวนะ  มาเริ่มที่อายุความสั้นกันก่อน  

     1.  ในกรณีความผิดต่อส่วนตัว  หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด  คดีเป็นอันขาดอายุความ  (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96)

     ในกรณีที่ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดส่วนตัว  เราต้องร้องทุกข์หรือแจ้งความ  หรือฟ้องศาลภายใน 3 เดือน  นับแต่เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  และ  รู้ว่าใครเป็นคนทำ  ไม่อย่างนั้น  กฎหมายบัญญัติให้สิทธิในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดสิ้นลงทันทีที่เลยระยะเวลา 3 เดือนที่อาจดำเนินการได้ไปแล้ว  

     ส่วนความผิดต่อส่วนตัวเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้างนั้น..

     เชิญอ่าน  http://tryfaytry.blogspot.com/2016/03/blog-post_23.html  (ความผิดต่อแผ่นดิน กับ ความผิดต่อส่วนตัว)

     แต่หากเป็นความผิดต่อแผ่นดินแล้ว  อายุความจะเป็นไปตามข้อถัดไป  อย่างไรก็ดี  หากไม่แน่ใจว่าตัวเองโดนดีข้อหาอะไรกันแน่  แนะนำว่าวิ่งไปแจ้งความไว้ก่อนเถอะ  ประเดี๋ยวหวยออกเป็นความผิดต่อส่วนตัวมา  จะได้ไม่โดน  technical  knockout  ทางกฎหมาย


     2.  อายุความสำหรับดำเนินคดีทั่วไป

     กรณีนี้จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95  ซึ่งระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับอัตราโทษของความผิด  ดังนี้

     การดำเนินคดีนั้น  จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษภายใน...ปี  มิฉะนั้นถือว่าขาดอายุความ  โดยมีระยะเวลาแปรผันตามอัตราโทษดังนี้

     -  20 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต  หรือระวางโทษจำคุก(ตั้งแต่)ยี่สิบปี(ขึ้นไป)

     -  15 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี

     -  10 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกกว่า 1 ปี แต่ไม่ถึง 7 ปี

     -  5 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 1 ปี

     - 1 ปี สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกหนึ่งเดือนลงมา  หรือมีโทษอื่นที่ไม่ใช่จำคุก


     และหากเป็นความผิดต่อส่วนตัว  ท่านจะต้องผ่านข้อ 1 มาแล้ว  นั่นคือ  ต้องมีการแจ้งความหรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน มาก่อนแล้ว  มิเช่นนั้น  หมดสิทธิ์

     ส่วนความผิดต่อแผ่นดินนั้นจะใช้อายุความตามข้อนี้แต่ประการเดียว  เพราะฉะนั้น  อยากเอ้อระเหยลอยชายไปเรื่อยๆแล้วค่อยมาแจ้งความ/ฟ้อง 1 วันก่อนขาดอายุความ  ก็เรื่องของคุณ

     แต่  อย่าลืมนะ  ยิ่งเวลาล่วงไป  คนร้ายยิ่งตามยาก  และหลักฐานก็ยิ่งหายากนะ



     แจ้งยังไง  

     โอ้  ข้อนี้สำคัญ  ถ้าแจ้งไม่ถูกนี่  ไปต่อไม่ได้เลยนะ

     อันที่จริง  ในทางกฎหมายเนี่ย  เราไม่เรียกว่า "แจ้งความ"  หรอกนะ  เราเรียกการกระทำนี้ว่า  "การร้องทุกข์"  ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 1 (7) ว่า

     "คํารองทุกข” หมายความถึงการที่ผูเสียหายไดกลาวหาตอเจาหนาที่ตาม บทบัญญัติแหงประมวลกฎหมายนี้วามีผูกระทําความผิดขึ้น จะรูตัวผูกระทําความผิดหรือไมก็ ตามซึ่งกระทําใหเกิดความเสียหายแกผูเสียหาย และการกลาวหาเชนนั้นไดกลาวโดยมีเจตนาจะให ผูกระทําความผิดไดรับโทษ"

     เป็นผู้เสียหายหรือเปล่าก็กล่าวไปแล้ว  เจ้าหน้าที่คือใครก็อยู่ด้านบน  งั้นมาว่ากันต่อเรื่องลักษณะของคำร้องทุกข์


     "..กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำผิดขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย.."  ก็คือไปเล่า  หรือแจ้งน่ะแหละ  ว่าเกิดอะไรขึ้น  แล้วตัวเองเสียหายอะไร  

     จากนิยามจะเห็นได้ว่า  เราไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่าใครเป็นผู้กระทำผิดก็ได้  แต่ทางที่ดี  ถ้ารู้อะไรเกี่ยวกับคนร้าย  เช่น  รูปพรรณสัณฐาน  ลักษณะ  รถ  ความสูง  อะไรแบบนี้ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ไปให้หมด  เขาจะได้ตามจับคนร้ายได้ง่ายขึ้น


     "..โดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ"  ข้อนี้แหละสำคัญ  อย่าได้พูดเชียวว่า  "มาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเฉยๆ"  "มาแจ้งเพราะกลัวขาดอายุความ"  "ไม่เอาเรื่องหรอกค่ะ  แค่มาแจ้งเฉยๆ"  หรืออะไรแนวๆนี้  เพราะกฎหมายจะถือว่าคุณไม่มีเจตนาจะให้คนทำผิดต้องรับโทษ 

     ส่งผลให้คำร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบตามกฎหมาย

     ผลน่ะเหรอ?  แยกได้เป็น 2 กรณี นะ


     1.  กรณีความผิดต่อแผ่นดิน  :  กรณีนี้ความเสี่ยงจะต่ำหน่อย  โอเค  แม้เราจะร้องทุกข์ไม่ถูก  เราก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีเองได้  และพนักงานสอบสวนก็ยังมีสิทธิ์ทำการสอบสวนได้เช่นกัน  

     แต่  ตามมาตรา 122  นั้น  ได้ให้สิทธิพนักงานสอบสวนที่จะไม่ทำการสอบสวนได้  หากผู้เสียหายไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ  ก็คือไม่ยอมร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

     สมมติถูกจี้ชิงทรัพย์  แล้วไปแจ้งความบอกว่า  "ไม่เอาเรื่องค่ะ"  ตำรวจก็อาจจะ  อ่ะ  งั้นไม่สอบสวนล่ะกัน  พอไม่สอบ  ก็ไม่ส่งให้อัยการฟ้อง  แล้วถ้าคนแจ้งกลับบ้านสบายใจนึกว่าเดี๋ยวอัยการก็ฟ้องให้  ไม่ทำอะไรเลย
     จบเห่ค่ะ  ไม่ต้องเป็นความกันเลย

     คิดจะเอาความก็ทำให้มันสุดๆไปเถ้ออ  อย่าอะไรครึ่งๆกลางๆเลยนะ


     2.  กรณีความผิดต่อส่วนตัว  :  อันนี้สิเสียหายหนัก  ตัดกรณีผู้เสียหายฟ้องเองไปก่อนนะ 

     สมมติถูกหมิ่นประมาท(ใช่ค่ะ  หมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว)  ไปแจ้งแบบ..ข้างบน  ไม่แสดงเจตนาเอาคนร้ายมาลงโทษ  ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบ

     พอร้องทุกข์ไม่ชอบ  ก็เท่ากับไม่มีการร้องทุกข์  

     ตามมาตรา 121  ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัวที่ไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบ
     เมื่อไม่มีการร้องทุกข์  พนักงานสอบสวนก็สอบสวนไม่ได้  

     ถึงดำเนินการสอบสวนไปก็ถือว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ  เท่ากับไม่มีการสอบสวน

     ตามมาตรา 120  ห้ามพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
     ...เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไม่ได้  ก็ส่งอัยการฟ้องไม่ได้
     ...ต่อให้ทำการสอบสวนไปและส่งให้อัยการฟ้องแล้ว  เมื่อศาลพิจารณาพบว่าการร้องทุกข์ไม่ชอบ  ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์  เท่ากับสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์  ขัดต่อกฎหมาย  อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง  
     ยกฟ้อง!  

     แล้วอย่าลืมว่า  เวลามันเดินไปเรื่อยๆ  จะกลับมาร้องทุกข์(แจ้งความ)ใหม่ก็อาจขาดอายุความไปแล้ว


     เสียหายมั้ย...........เสียหายนะ  


   
    จะเห็นได้ว่าการแจ้งความให้ถูกต้องตามกฎหมายมีความสำคัญต่อการดำเนินคดีในทางอาญาอยู่มาก  เพราะมันคือการดำเนินการขั้นแรกที่นำไปสู่การฟ้องคดีต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากต้องการดำเนินคดีโดยรัฐ  หรือให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีให้กับเรา  

    ด้วยเหตุนี้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เสียหายต้องแจ้งความให้ถูกต้องตามกฎหมาย  เพื่อจะได้นำตัวคนผิดมาลงโทษตามหลักกฎหมายต่อไป  

     ปล่อยให้การลดโทษเป็นหน้าที่ของศาลและกระบวนการยุติธรรมเถอะนะ  อย่าใจดีปล่อยคนร้ายไปเองด้วยการแจ้งความที่ไม่สมบูรณ์เลย



     ส่วนขั้นตอนหลังจากแจ้งความนั้นจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล  ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป 


     สวัสดี   
     

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การดำเนินคดีในทางอาญา (1) : ผู้เสียหาย



     หลังจากฟ้องคดีแพ่งกันไปแล้ว  เคราะห์หามยามร้าย  เราอาจต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีในทางอาญา....เพราะถูกละเมิดทางใดทางาหนึ่ง

     ......เอาเฉพาะถูกละเมิดก่อนนะ  ประเภทไปละเมิดเขานี่  ขอติดไว้ก่อนละกันว่าจะเขียนถึงยังไงดี

     จะทราบมาก่อนหรือไม่ทราบมาก่อนก็แล้วแต่  สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะทำ  นั่นคือยึดหลักการฟ้องตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแบบ 100 เปอร์เซนต์

 
     ทำแบบนั้นไม่ได้  มันไม่เหมือนกัน!!!


     แม้หลักการดำเนินคดีอาญาบางอย่างจะนำหลักการของทางแพ่งมาใช้โดยอนุโลม  แต่โดยหลักแล้ว  การดำเนินคดียังคงต้องเดินตามหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่

     แล้วมันทำยังไงล่ะ???

     ไล่ดูตามด้านล่างเอาเลย



     จุดเริ่มต้นแห่งคดีอาญา

     จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดีแพ่ง  มาจากการเกิดข้อโต้แย้งสิทธิหรือความต้องการใช้สิทธิในทางแพ่ง  เช่นเดียวกัน  จุดเริ่มต้นในทางอาญานั้นมาจาก  การมีความผิดในทางอาญาเกิดขึ้น...

     และมีใครสักคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย

     ความมันก็เริ่มตรงนี้แหละ


     ส่วน...ความผิดทางอาญานั้นก็เช่น  ฆ่าคนตาย  ทำร้ายร่างกาย  ลักขโมย  จี้ปล้น  ฉ้อโกง  หมิ่นประมาท  บุกรุก  ฯลฯ
     ตัวอย่างของความผิดทางอาญา  ท่านสามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์ทั่วไปในหน้าอาชญากรรม  หรือไม่ก็หน้าหนึ่งนะคะ



     เอาล่ะ  มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น  และมีใครสักคนหนึ่ง  ต้องเสียหายจากการนี้

     เอาไงต่อดี??


     แจ้งความ....?


     ถูกต้อง  ทางเลือกหนึ่งของการจัดการปัญหา  คือไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า  เกิดอะไรขึ้น  จากนั้นก็ให้ทางการดำเนินการสอบสวนหาตัวคนร้ายมาจัดการ  เอ้อ  มาดำเนินคดีและ/หรือ  ลงโทษกันต่อไป

     อันที่จริง  เราไม่ต้องไปแจ้งความก็ได้นะ  เพราะถ้าเราเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงแล้วล่ะก็  เรามีอำนาจดำเนินคดีได้เอง  นั่นคือ  เราสามารถฟ้องศาลให้ศาลลากตัวคนผิด(แต่ดูเหมือนการลากตัวก็ต้องใช้ตำรวจอยู่ดีแฮะ)มาลงโทษได้เองเลย

     คำถามคือ  แล้วเราเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือเปล่า??


     มีข้อพิจารณาดังนี้



     ผู้เสียหาย

     ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 2(4)  ผู้เสียหาย  หมายถึง  ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งผู้มีอำนาจจัดการแทน...

     นั่นคือนิยามตามกฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  จะเป็นผู้เสียหายได้จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกอย่าง  นั่นคือ  ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย  อันหมายถึง  ไม่มีส่วนร่วมในการการทำความผิดดังกล่าวนั้นด้วย

     มาพิจารณากันทีละข้อ

     1.  จะเป็นผู้เสียหายได้  ต้องมีสภาพบุคคล  :  เพราะตัวบทใช้คำว่า  "ผู้ที่"  ดังนั้นจึงต้องเป็น  "คน"  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ตาม

     บริษัทต่างๆ  นั้นโดนละเมิดกฎหมายได้

     แต่สัตว์และพืชซึ่งไม่มีเจ้าของ  แม้จะโดนฆ่า  โดนตัด  อย่างไร  ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา
     ....แต่จะเอาผิดคนทำได้ไหมต้องดูว่ามีกฎหมายอื่นๆห้ามทำไว้หรือเปล่า


     2.  ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด  :  คือผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงๆ  ไม่ใช่บุคคลอื่น

     ทำร้ายลูก  ลูกเป็นผู้เสียหาย  ส่วนพ่อแม่  แม้จะอ้างว่าเจ็บกว่า  ก็ไม่ถือเป็นผู้เสียหายนะคะ  (เว้นแต่ถูกฟันไปด้วย  ก็อีกเรื่อง)

     และการกระทำหนึ่งๆอาจมีผู้เสียหายคนเดียวก็ได้  หรือมีหลายคนก็ได้  เช่นเรื่องทรัพย์  สมมติเราเช่าหนังสือมาอ่าน  แล้วมีคนมาขโมยหนังสือเล่มนั้น  กรณีนี้จะมีผู้เสียหายสองคน  หนึ่งคือเรา  ผู้เช่าและใช้สอย(อ่าน)หนังสือ  สองคือร้านเช่าหนังสือ  ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
     เพราะตามแนวฎีกา  ผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ถือเป็นผู้เสียหายด้วยในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์


     3.  เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย  :  คือไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด  เช่นพวกโกงน่ะ  แบบมีคนมาหลอกว่าถ้าให้เงินไปจะวิ่งเต้นให้  ต่อมาคนอาสาวิ่งเต้นเชิดเงินหนี  แบบนี้คนให้ไม่เป็นผู้เสียหายนะคะ  ถือว่ารู้เห็นเป็นใจให้มีการวิ่งใต้โต๊ะ

     เห็นชัดกว่านั้นก็พวกนักเรียนนักเลง  ตีกันตรงป้ายรถเมย์  ไรงี้  กรณีนี้ต่างฝ่ายต่างไม่มีสิทธิฟ้องอีกฝ่ายนะ  เพราะสมัครใจทะเลาะวิวาท  ซึ่งถือได้ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย

     เมื่อไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย  จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง


     4.  ผู้มีอำนาจจัดการแทน  มาตรา 2(4)  ได้แจงไว้สามมาตราด้วยกัน

4.1  มาตรา 4  :  "สามีมีสิทธิฟ้องคดีแทนภริยาได้  ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา"

     คาดว่าน่าจะมาจากสมัยโบราณที่สามีเป็นช้างเท้าหน้า  สามารถจัดการอะไรๆแทนคู่ตัวเองได้  แม้สมัยนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิผู้หญิงอีกต่อไป  แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้เป็นสามีได้ทำหน้าที่อยู่เช่นเดิม

     อ่อ  กลับกันไม่ได้นะ  ต่อให้ได้รับอนุญาตชัดแจ้งจากสามี  ภริยาก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีแทน
     ...เว้นแต่มอบอำนาจ...

     เกือบลืม  ความเป็นสามีภริยาต้องชอบด้วยกฎหมายนะคะ  คือต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น


4.2  มาตรา 5  :   แยกเป็นสามอนุด้วยกัน

     (1)  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล  กรณีความผิดอาญาเกิดแก่ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ  :  ท่าทางต้องอธิบายกันยาว....

     ผู้แทนโดยชอบธรรม  :  โดยทั่วไป  คือแม่  และพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายค่ะ(พ่อที่จดทะเบียนสมรสกับแม่  หรือรับรองบุตรแล้วตามกฎหมาย)  เว้นแต่กรณีไม่มีพ่อแม่  ผู้แทนโดยชอบธรรมกรณีนี้อาจเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้ดูแลผู้เยาว์แทน  ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้
    ...และเผื่อใครสงสัย  บุคคลผู้เบ่งท้องคลอดเด็กออกมาถือเป็นบุพการีโดยชอบด้วยกฎหมายเสมอ

     ผู้เยาว์  :  คือผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  หรือคือบุคคลที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์

     ผู้ไร้ความสามารถ  :  คือผู้ซึ่งไม่สามารถดูและตัวเองได้  และ  ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถแล้ว  (ต้องศาลสั่งเท่านั้น)
     เช่น  ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่จำอะไรไม่ได้เลย  คนพิการ  หรือผู้ประสบเหตุเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนิทราทั้งหลาย  และ  เอ้อ  คนบ้า  ก็รวมด้วย  แต่ศาลต้องสั่งให้เขาเป็นบุคคลไร้ความสามารถก่อนเท่านั้น

     ผู้อนุบาล  :  (ตั้งใจอธิบายผู้ไร้ฯก่อน  เกรงว่าขึ้นผู้อนุบาลเลยจะงง)  คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้ดูแลและทำการแทนผู้ไร้ความสามารถ

     บุคคลผู้จัดการแทนเหล่านี้จัดการแทนได้ทุกความผิดที่เกิดแก่ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ  โดยมีข้อแม้ประการเดียวคือ  ตัวผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถต้องยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ถ้าตายแล้วจะไม่เข้ากรณีที่ 1 นี้


     (2)  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้  :  เริ่มอธิบายศัพท์ก่อนเลย

     ผู้บุพการี  :  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ทวด(พ่อแม่ของปู่ย่าตายาย)  คือ  เข้าใจอารมณ์ป่ะ  สายของผู้ให้กำเนิดไล่ขึ้นไปอ่ะ
     ....และในกรณีที่สองนี้ถือสายเลือดกันตามความเป็นจริง....

     ผู้สืบสันดาน  :  ลูก  หลาน  เหลน  ลื่อ  ตรงข้ามกับบุพการี  อันนี้ไล่ลง  และถือตามความเป็นจริงเช่นกัน

     สามีหรือภริยา  :  พูดง่ายๆคือ  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือที่จดทะเบียนสมรสโดยชอบแล้ว

     กรณีนี้เป็นการจัดการทางคดีแทนบุคคลซึ่งถูกละเมิดทางอาญาจนไม่สามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้  และจำกัดสิทธิเฉพาะความผิดทางอาญาที่ทำให้ตัวผู้เสียหายไม่สามารถจัดการได้เองเท่านั้น

     เช่น  ลูกถูกฆ่าตาย  พ่อแม่แจ้งความ  ฟ้องศาล  ดำเนินคดีแทนลูกในความผิดฐานฆ่า(ลูกตัวเอง)ได้เลย

     แต่  ถ้าลูกข่มขืน  แล้วฆ่าตัวตายเอง  อันนี้พ่อแม่ฟ้องฐานข่มขืนแทนลูกไม่ได้นะ  เพราะลูกไม่ได้ตายด้วยเหตุถูกข่มขืน

     หรือ  ลูกถูกโกง  กำลังจะไปแจ้งความดันถูกรถชนตาย  อันนี้พ่อแม่จะดำเนินคดีแทนลูกฐานฉ้อโกงก็ไม่ได้เช่นกัน
     (มีใครโมโหกับช่องว่างของกฎหมายที่สามารถปล่อยคนร้ายลอยนวลได้ง่ายๆแบบคนเขียนมั้ย?)


     (3)  ผู้จัดการแทนนิติบุคคล  สำหรับความผิดที่กระทำต่อนิติบุคคล  :  ตัวอย่างง่ายๆเช่น  มีพนักงานโกงเงินของบริษัทไป  ตอนนี้บริษัทเป็นผู้เสียหายที่ถูกโกงเงินละ  แต่นิติบุคคลไม่ใช่คนธรรมดาที่สามารถทำโน่นทำนี่ได้เองแบบคนทั่วไปถูกไหม  แล้วทำไง

     คำตอบคือ  ก็ให้ผู้แทนหรือตัวแทนของนิติบุคคล  เช่นกรรมการ  หรือเจ้าของบริษัทอาจจะไปจ้างทนายเข้ามา  เพื่อดำเนินคดีนี้แทน  ก็ได้  จบ


4.3  มาตรา 6  :  ผู้แทนเฉพาะคดี  กรณีที่ความผิดเกิดแก่  ผู้เยาว์(1)  บุคคลวิกลจริต(2)  หรือผู้ไร้ความสามารถ(3)  แต่บุคคลเหล่านี้ไม่มีผู้จัดการแทน  หรือมี  แต่ผู้จัดการแทนดังกล่าวไม่สามารถจัดการแทนได้  ด้วยเหตุต่างๆ  เช่น  ไม่รู้หายหัวไปไหน  หรือผลประโยชน์ขัดกัน  กรณีนี้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องของผู้เสียหายสามารถร้องขอต่อศาลให้เขาหรือใครก็ตามเป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายได้

      เช่น  พ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยง  หากแม่หลงหรือกลัวสามีมากจนไม่กล้าทำอะไร  ยายอาจร้องต่อศาลให้ตั้งตัวเองดำเนินการฟ้องพ่อเลี้ยงแทนตัวแม่ก็ได้

     ข้อแม้ประการเดียวของมาตรานี้คือ  ตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถต้องยังมีชีวิตอยู่  เพราะถือว่าอำนาจตรงนี้อิงกับตัวผู้เสียหายโดยตรง  หากผู้เสียหายตายอำนาจจัดการแทนย่อมหมดไปด้วย


     นั่นคือข้อพิจารณาคร่าวๆว่า  เราเป็นผู้เสียหายและมีสิทธิดำเนินคดีนี้หรือไม่  หากพิจารณาแล้วพบว่าคุณสมบัติครบ  ก็เดินหน้าข้อต่อไปได้เลย...



     ชักจะยาว  ต่อตอนหน้าละกันนะคะ...

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รู้กฎหมายแล้วต้องฉลาด



     ต่อไปนี้คือกลเม็ดเคล็ดลับที่เด็กนิติได้รับการถ่ายทอดกันมา ไม่ว่าจะโดยตรงหรือจากฎีกา  พร้อมคำกำชับว่า  "เรียนกฎหมายแล้วต้องฉลาด นะ  ลูก นะ"



     1.  สิ่งที่เซ่อซ่าที่สุดที่คุณไม่ควรจะทำคือ  การเซ็นชื่อลงกระดาษเปล่า  แล้วมอบให้ผู้อื่นไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ห้ามมอบให้พร้อมกับเอกสารสำคัญ  เช่น  สำเนาบัตรประชาชน  สำเนาทะเบียนบ้าน  หรือโฉนดที่ดิน  โดยไม่ได้ระบุให้ละเอียดว่าจะใช้ทำอะไร  เพราะนั่นเป็นการที่คุณบอกคนทั่วไปว่า  "เชิญเลยจ๊ะ  เชิญเอาเอกสารนี้ไปใช้เพื่อโกงฉันได้เลย"

     สาเหตุก็เพราะผู้รับสามารถนำกระดาษเปล่านั้นที่ลงชื่อคุณไปกรอกอะไรก็ได้  จะกรอกว่า  คุณยืมเงินเขาเท่านั้นเท่านี้  คุณอนุญาตให้เขาขายทรัพย์สินของคุณได้  โน่นนี่นั่น

     ที่เจ็บคืออะไรทราบไหมคะ  คือ  หากเจ้าคนกลางเอาเอกสารนี้ไป  แล้วกรอกว่าคุณอนุญาตให้เขาขายทรัพย์สินให้คนภายนอก  หรือคนอื่น  ซึ่งเจ้า  "คนอื่น"  เนี่ย  ไม่รู้เลยว่าขายได้เพราะความสะเพร่าของคุณ  หากคุณฟ้องเรียกคืน  คุณแพ้  เพราะศาลถือว่า  คุณประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  เมื่อฝ่ายที่สามไม่รู้  เขาถือว่าฝ่ายที่สามสุจริต  เขาคุ้มครองฝ่ายที่สามค่ะ

     เพราะฉะนั้น  อย่าทำ!


   
    2.  "อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า  อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน"  คำนี้ยังใช้ได้เสมอ  เด็กนิติทั่วไปที่เรียนวิชากฎหมายค้ำประกันจะได้รับการสั่งสอนว่า  "หากไม่จำเป็น  อย่าไปค้ำประกันให้ใครเป็นอันขาด"  เพราะมันเป็นการ  "เนื้อไม่ได้กิน  หนังไม่ได้รองนั่ง  เอากระดูกมาแขวนคอ"  ที่สุดอย่างหนึ่ง

     คิดดูเถิด  คนยืมเงินก็ไม่ใช่เรา  เงินเราก็ไม่ได้เอาไปใช้  เราดันต้องมาร่วมรับผิดด้วยเวลาลูกหนี้หรือคนยืมเงินไม่จ่ายหนี้  ดีไม่ดี  เราจะถูกฟ้องล้มละลาย  ถูกยึดทรัพย์  ทั้งๆที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสัญญานี้เลยสักนิดเดียว
     มันใช่เรื่องมั้ย???

     ถ้าเลี่ยงได้ก็หาทางช่วยอีกฝ่ายด้วยวิธีอื่นดีกว่านะ



     3.  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1366  ได้วางหลักไว้ว่า  เจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ของตนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้  และข้อดีของกฎหมายข้อนี้ก็คือ  มันไม่มีอายุความ

     ดังนี้  หากทรัพย์  หรือภาษาทั่วไปคือ  "ของ"  ของคุณ  ไปอยู่กับคนอื่น  โดยที่คุณไม่ได้ยกให้เขาด้วยความเต็มใจแล้วล่ะก็  คุณมีสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอ  ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม

     อย่างไรก็ดี  แม้กฎหมายเรื่องทรัพย์จะไม่มีอายุความเสียสิทธิ  แต่ทรัพย์มีอายุความได้สิทธินะคะ  หมายความว่า  หากใครก็ตามที่ครอบครองทรัพย์ของคนอื่นไว้แบบเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  ครองไว้ 5 ปี ได้กรรมสิทธิ์  ส่วนอสังหาริมทรัพย์ครองไว้ 10 ปีได้กรรมสิทธิ์

     อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ  ถ้าจู่ๆมีคนมาครองครองของๆคุณไว้  แล้วคุณปล่อยเวลาไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไร
     ถ้าเป็นพวกทรัพย์เคลื่อนที่ได้หลาย  เช่น  แก้วแหวน  เสื้อผ้า  นาฬิกา  เวลาผ่านไปเกิน 5 ปี
     ถ้าเป็นพวกทรัพย์อยู่ถาวรทั้งหลาย  เช่น  ที่ดิน  บ้าน  คอนโด  เวลาผ่านไปเกิน 10 ปี
     อีกฝ่ายอ้างได้ว่าเขาได้ความเป็นเจ้าของตามผลของกฎหมายแล้ว.....นะจ๊ะ

     เว้นแต่เขาได้ทรัพย์ไปโดยกระทำความผิดอาญาต่อคุณ  เช่น  ลัก วิ่ง ชิง ปล้น  ยักยอก  ไรงี้  อายุความ 10 ปี  จะไม่เริ่มนับตั้งแต่ครอบครอง  แต่เริ่มนับตั้งแต่อายุความในการดำเนินคดีความผิดดังกล่าวพ้นไปก่อน

     คำแนะนำแรกคืออย่าพยายามให้ใครมาแสดงความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์เรา  หรือถ้ามันเกิดขึ้นแล้วล่ะก็

     จงรีบฟ้อง/ติดตาม เอาคืน ให้เร็วที่สุด



     4.  ให้คนอื่นยืมเงินแต่ไม่มีหลักฐานเหรอ?

     เขียนจดหมายไปถามเขาสิ  ให้มีเนื้อความว่า  เงินที่ยืมไปเมื่อไหร่จะคืน  บลาๆๆ  ถ้าอีกฝ่ายตอบกลับมาว่า  เงินที่ยืมไปนั้น....  พร้อมกับลงชื่อ  (ปกติจดหมายมันต้องลงชื่ออยู่แล้วถูกป่าว)  นั่นไง  หลักฐาน  เชิญค่ะ

     เพราะกู้ยืมเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ  แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  เพื่อใช้ในการฟ้องคดี  และคำว่า "หลักฐาน"  ที่ว่านี้  ก็มีเนื้อความสำคัญเพียงสองอย่างเท่านั้น  หนึ่งคือมีการยืมเงินกัน  สองคือลายมือชื่อ(ลายเซ็นน่ะแหละ)ผู้กู้

     แค่นั้น  จบ  ฟ้องได้แล้วจ้า

     แถม  ถ้าทำเป็นสัญญาเลยว่ามีการกู้เงินกันเท่านั้นเท่านี้  แล้วลงชื่อสองฝ่ายเลยล่ะก็  ก่อนฟ้อง ต้องติดอากรแสตมป์  ด้วยนะคะ  ไม่งั้นศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานนะ
     ต่อให้กู้จริง  ไม่ติดอากร  เจ้าหนี้จบเห่สถานเดียวค่ะ
   


     5.  ก่อนจะแสดงความคิดเห็น  หรือกล่าวพาดพิงใคร  แล้วเล็งเห็นได้ว่า  ความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นไปในทางลบแล้วล่ะก็  ให้หาก่อนว่าตัวเองมีข้อต่อสู้ข้อใดข้อหนึ่งข้างล่างนี่แล้วหรือยัง

     5.1  ฉันติชมด้วยความสุจริต  ในฐานะเป็นประชาชน นะ  -  โดยมาก  จะอ้างข้อนี้ได้มักเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ  เช่น  การปฏิบัติงานของราชการ  หรือการกระทำใดที่กระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม  เวลาใครแหวกลับมาจะได้อ้างไปว่า  "ติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะประชาชน" ไง

     5.2  ฉันพูดในฐานะที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย นะ  -  ตรงตามตัว  คือ  เรามีส่วนได้เสียในเรื่องที่แสดงความเห็นนั้น  ส่วนได้เสียในที่นี้คือ  มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเองกล่าว  ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์  หรือเป็นผู้เสียประโยชน์  ก็ตาม

     ถ้าใครเคยอ่านบลอกอีกบลอกนึงของเรา  จะเห็นบางบทความที่เราเขียนเตือนนั่นนี่  ว่าจะซื้อของนี้ๆๆ  ให้ระวังด้วย  เพราะเราเคยได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดนั้นมาแล้ว  จึงไม่อยากให้ใครเจอแบบเราอีก  และเราอาจจะวิจารณ์บางสิ่งอย่างกับร้านค้าด้วย  แล้วลงท้ายว่า  "ฉันติชมเพราะมีส่วนได้เสีย  ได้รับยกเว้นความผิดตามกฎหมาย(โว้ย)"
     ถามว่าเรามีส่วนได้เสียยังไง  ว่ากันตามตรงคือ  เราเป็นผู้เสียหายจากความเสียหายที่เราอ้างถึงเหล่านี้ไงล่ะ  เราจึงมาเตือนในฐานะที่เราเคยเจ็บใจกับมันมาก่อน  เราย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

     ถ้าหาเหตุผลเหล่านี้ไม่ได้  จงอย่าแสดงความคิดเห็นให้มันสุดโต่งเกินไปนัก  อีกฝ่ายเจ็บใจ  เรามีสิทธิโดนลากเข้าตะรางในข้อหาหมิ่นประมาทได้

    ปล  อันนี้คือตัวอย่างที่กล่าวถึงค่ะ  https://alwaysfay.blogspot.com/2016/01/blog-post_23.html



    6.  แค้นใครมากจนอยากทำร้ายเหรอ?

     เตรียมเงินในกระเป๋าไว้สักห้าร้อย(หรือพันนึงก็ได้กันเหนียว)  แล้วไปหาคนๆนั้น  แล้วอยากทำอะไรก็ทำ  จากนั้นก็ไปจ่ายค่าปรับ  จบ

     แต่!!  หลักมีอยู่ว่า  ห้ามทำร้ายจนเลือดออก  หรือ  ให้อาการหนักกว่าเลือดออกนะ  ไม่ได้เป็นอันขาด!!!

     เพราะตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วเนี่ย  ถ้าเราทำร้ายแบบไม่แรง  เช่น  ฟกช้ำดำเขียว  หรือ  แดง  อะไรงี้  กฎหมายเขาถือว่าเป็นความผิดอันเป็นอันตรายแก่กาย  ตามมาตรา 391  ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ  แค่จ่ายค่าปรับก็ปิดคดีได้

     แต่  หากกระทบกระทั่งกันจนถึงเลือดตกยางออกขึ้นมาเนี่ย  มันจะไม่ใช่แค่ มาตรา 391  แต่มันจะกระโดดไปเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 หรือถ้าสาหัสก็ 297  ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ลหุโทษแล้ว  ยังเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ด้วยล่ะ
     งานนี้  ขึ้นศาลสถานเดียว  เคราะห์หนักก็ติดคุกล่ะทีนี้

     อย่างไรก็ดี  หากเลือกได้  อย่าทำร้ายกันเลยหนา  ไม่เห็นแก่ตัวเองและคู่กรณีก็เห็นแก่คนอื่นๆบ้าง  ครอบครัวเรา  ครอบครัวอีกฝ่าย  หรือแม้แต่
     ธ  ผู้เป็นที่รักยิ่งซึ่งมองลงมาจากบนฟ้า..

     บ้างเถอะ        




     อะไรอีกล่ะ  นึกไม่ออกล่ะวุ้ย  เอาเป็นว่า  นึกออกจะมาเพิ่มให้ทีหลังเน่อ  ตอนนี้เชิญเอาหลักพวกนี้ไปประยุกต์ใช้กันได้ตามศรัทธา


     รู้กฎหมายแล้วต้องฉลาด

     อย่าลืมนะ!!!

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

english for lawyer 2



     ยังคงวนเวียนอยู่ในเรื่องของคำศัพท์  เผอิญวันนี้เรา(เรียกตัวเองว่าคนเขียนมาหลายบทความติด ชักเริ่มเบื่อ)ทวนภาษาอังกฤษน่ะค่ะ  เลยคิดว่าเอามาจัดระบบไว้ ณ โพสต์นี้น่าจะดี  นอกจากจะง่ายแก่การค้นหาแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ด้วย

     เริ่มกันเลย  (ได้อีกก็จะมาอัพเรื่อยๆนะคะ)



     หมายอาญา

     หมายอาญามีหกชนิด(ถ้าจำไม่ผิด)  หมายเรียก  หมายขัง  หมายค้น  หมายจับ  หมายปล่อย  และหมายจำคุก  เราก็นำศัพท์ที่ตรงกะกริยาที่ออกหมายมาแปะหน้าศัพท์คำว่าหมาย  หรือจะใช้รูป warrant of ... ก็ได้

     หมาย  =  warrants

     หมายเรียก  =  summons  ค่ะ  อันนี้พิเศษหน่อย  มีศัพท์เฉพาะ  ซึ่งคำนี้หากใครเล่นเกม rpg บ่อยๆอาจจะคุุ้น  เวลาที่เราจะกดซื้อมอนส์ใหม่มันต้องใช้คำนี้ใช่ม้า  มันแปลว่าหมายเรียก หรือ การเรียกล่ะ  กฎหมายก็ใช้คำนี้เหมือนกัน

     ขัง  =  detention

     ค้น  =  search

     จับ  =  arrest

     ปล่อย  =  release

     จำคุก  =  imprisonment

ปล.  เพื่อความปลอดภัย  อย่าลืมเขียนตัวใหญ่  (เช่น  Warrants of Arrest)  ด้วยนะคะ

     อ่ะ  ไหนๆก็หมายเหมือนกัน  แถมให้

     Writ  of  execution  =  หมายบังคับคดี




     กระบวนการในศาล

     Preliminary  hearing/examination  =  ไต่สวนมูลฟ้อง

     Brought  to  court  =  ถูกนำตัวมา

     Presumption  of  Innocence  =  สันนิษฐานไว้ก่อนว่า(เป็นผู้)บริสุทธิ์

     Prima Facie case  =  คดีมีมูล

     Count  =  กระทง(ความผิดนะ  ไม่ใช่กระทงในการลอยกระทง)


     The  day  of  taking  evidence  =  วันสืบพยาน
  
     Take  evidence  =  สืบพยาน(ทุกประเภท)

     Hear  witness  =  ฟังพยาน(บุคคล)      
   
     Adduce  evidence  =  นำพยานเข้าสืบ

     Day  of  determination  of   disputed  issues/  Day  of  settlement  of  issues  =  วันชี้สองสถาน


     Accept  =  ยอมรับ

     Make  a  statement  =  ตกลง

     Plead  guilty  =  รับสารภาพ


     Give  judgment  in  accordance  with  the  merit  of  the  case  =  ตัดสินตามรูปคดี

     Dispose  the  case  =  จำหน่ายคดี

     Dismiss  the  case  =  ยกฟ้อง

     Postpone  the  case  =  เลื่อนคดี




     หมวดคำกริยา

     Follow  แบบศัพท์กฎหมาย

     Comply  with  +  noun  =  ปฏิบัติตาม...

     Be  in  accordance  with  +  noun  =  เป็นไปตาม...

     Have  regard  for  +  noun  =  คำนึงถึง...

     Be  consistent  with  +  noun  =  เป็นไปตาม 

     Take  into  account  + ...  =  คำนึงถึง

     Take  into  consideration  =  คำนึงถึง  พิจารณาถึง


     Use

     Exercise  +  noun    ใช้...เช่น อำนาจ  มักใช้กับนามที่เป็นนามธรรม

     Adopt  +  noun

     Utilize  +  noun

     Employ  +  noun                 
 
     ทุกคำแปลว่าใช้ค่ะ


     Help  =  ช่วยเหลือ

     Assist

     Aid

     Facilitate


     Show  =  แสดง

     Display

     Manifest

     Demonstrate

     Exhibit


     Have  มี

     Possess

     Hold

     Enjoy

     Entitled  to  ...  มักใช้เป็นรูป  passive  voice นะ  อารมณ์แบบ  ฉันได้รับสิทธิให้ทำโน่นทำนี่ได้  อะไรงี้

     Render  ส่วนใหญ่จะใช้ในแง่ว่า  มีคำตัดสิน


     Break  =  ละเมิด

     Breach

     Transgress

     Violate

     Contravene


     Do  =  ทำ

     Perform

     Carry  out

     Conduct

     Engage  in  =  แปลว่า  ปฏิบัติหน้าที่  อะไรแบบนี้

     Undertake

     Execute

     Effectuate

     Discharge  from  โดยทั่วไป  คำนี้มักแปลว่า  ปลดจากหน้าที่นะ


     Support  =  ส่งเสริม

     Advocate

     Uphold  =  ดำรงไว้ซึ่ง...

     Promote

     Defend  =  ปกป้อง

     Maintain  =  คงไว้  ดำรงไว้

     Sustain

     Endorse

     Enhance  ตัวนี้แปลว่า  พัฒนาให้ดีขึ้น  ก็ได้นะ

     Respect  and  Protect


     Fight  =  ปราบปราม

     Combat  =  ต่อสู้  สู้รบ (ออกแนวประจัญบาน)

     Tackle  =  ปะทะ  เน้นไปที่การใช้กำลังในการกระทำ

     Suppress  =  ปราบปราม  หยุดยั้ง

     Anti/  Counter  =  ต่อสู้  ต่อต้าน

     Oppose  =  ต่อต้าน

     Curb  =  จำกัด

     Control  =  ควบคุม    


     Amend  =  แก้ไข

     Alter

     Rectify

     Modify

     Revise




     ศัพท์แยกตามหมวด

     การฟ้องคดีทางแพ่ง

     Sue

     Pursue  legal  action

     Bring  a  claim  to  court

     File  a  lawsuit


     การฟ้องคดีอาญา

     Prosecute

     File  charges  against  someone  for  something  =  ฟ้อง  ใครสักคน  ใน  ข้อหา...

     Institute a prosecution  =  ฟ้องคดี


     กฎหมายสารบัญญัติ  =  Substantive  law

     กฎหมายวิธีสบัญญัติ  =  Procedural  law


     ทำคำพิพากษา

     Make                                                                                a  judgment

     Render                                      +                                     a  decision

     Deliver,  Pronounce                                                         a  ruling

     Give

     หรือกริยา  adjudicate


     Convict  มีสองความหมายตามหน้าที่ของคำ

     ถ้าเป็นกริยา  จะแปลว่า  พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความผิด  โดยคำพิพากษา

     ถ้าเป็นคำนาม  จะแปลว่า  ผู้ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด


     คำศัพท์ว่าด้วยการถูกตัดสินว่ามีความผิด

     1.  sentence  +  someone  +  to  +  (โทษที่ลง)

     2.  gave  +  someone  +  a sentence  of  +  (โทษที่ลง)

     3.  passed  +  someone  +  a  sentence  of  +  (โทษที่ลง)

     4.  imposed  a  sentence  of  +  (โทษที่ลง)  +  on  +  someone

     5.  accused  of  +  ข้อหา  =  ถูกกล่าวหาว่า

     6.  charged  with  +  ข้อหา  =  ถูกตั้งข้อหาว่า

     7.  tried  for  +  ข้อหา  =  ถูกดำเนินคดีในข้อหา

     8.  convicted  of  +  ความผิด  =  ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน

     9.  found  guilty  of  +  ความผิด  =  ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน

     10.  sentence  to  +  โทษที่ลง  =  ถูกพิพากษาลงโทษ


     Code  =  ประมวล

     Codify  =  เก็บรวบรวมจัดทำขึ้นเป็นประมวล

     Codification  =  การจัดทำขึ้นเป็นประมวล


     Institute  a  prosecution  +  against  +  someone  =  เริ่มการฟ้องคดี/ฟ้องคดี/สั่งฟ้อง

     Render  a  prosecution  order  =  มีคำสั่งฟ้อง

     Render  a  non-prosecution  order  =  มีคำสั่งไม่ฟ้อง


     เกี่ยวกับ  (About)

     about,  in,  on

     concerns,  concerning

     with  reference  to

     with  respect  to

     in  relation  to/  relating  to

     regarding

     vis-a-vis


เจอเพิ่มจะอัพเพิ่มให้  ตอนนี้เอาเท่านี้ไปก่อนนะ



     การชะลอฟ้อง  มีสองคำ  คือ deferred of prosecution กับ suspension of prosecution

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

english for lawyer



  คนเขียนไปเจอเวบศัพท์กฎหมายมาค่ะ  เลยกะจะมาแปะไว้ที่นี่  เพื่อประโยชน์แก่คนแปะและคนอ่านเอง  เจออีกก็จะอัพเรื่อยๆ  แต่ต้องขออภัยไม่สามารถลงรายละเอียดได้มาก

     พอดีช่วงนี้คนเขียนงานยุ่ง


   1. http://www.lawyerleenont.com/แพ่งและพาณิชย์/ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย.html  อันนี้ศัพท์เยอะมาก


   2. https://www.samuiforsale.com/law-texts/thailand-civil-code-part-1.html#In  อันนี้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ภาคภาษาอังกฤษค่ะ ลองอ่านดูได้นะ