วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การดำเนินคดีอาญา (2) : แจ้งความ




     เอาล่ะ  ในที่สุดเราก็รู้แล้วว่า  เราเป็นผู้เสียหายในทางอาญาจริงๆ  งั้น  เราก็ควรลงมือดำเนินคดีกันได้แล้ว  มัวแต่คอยท่าไป  คดีขาดอายุความขึ้นมา  เราจะหมดสิทธิ์นำตัวคนผิดมาลงโทษ

     ยังไม่อยากฟ้องศาล  งั้นเริ่มที่การแจ้งความละกัน


     คำถามต่อไป  แล้วมันต้องทำยังไงบ้างล่ะ???

     มาว่ากันทีละขั้น



     แจ้งที่ไหนและกับใคร

     คนเรามักเข้าใจว่า  จะแจ้งความต้องไปโรงพัก  หรือชื่อเต็มคือ  สถานีตำรวจ  ซึ่งก็ไม่ผิด  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

     ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 123  บัญญัติว่า  "ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้..."  

     แล้วพนักงานสอบสวนคือใครกันล่ะ?


     นิยามศัพท์ตามมาตรา 1  มีว่า  พนักงานสอบสวนคือ  เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวน
     ...โอเค  ขอบคุณมาก  มึนตึ้บ...

     ในทางปฏิบัติน่ะนะ  ผู้ที่รับการร้องทุกข์หรือการแจ้งความของเราได้เนี่ย  นอกจากตำรวจแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วย  ซึ่งได้แก่  ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
 
     แต่ถ้าหาสำนักงานยุ่งยากนัก  ก็เดินเข้าโรงพักไปเลยก็ได้  ง่ายดี  


     แล้วก็  แม้กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า  ตำรวจชั้นร้อยตำรวจตรีเท่านั้นที่มีอำนาจสอบสวนได้  แต่การแจ้งความไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวน  ดังนั้น  เราสามารถแจ้งความกับตำรวจได้ทุกคนและทุกยศ

     เดินเข้าโรงพักไป  เห็นตำรวจคนไหนว่างก็เดินเข้าไปเลย  ไม่ต้องถามยศหรอก  ยุ่งยาก  


     เกือบลืม  เจ้าหน้าที่อื่นนอกจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจรับแจ้งความนะคะ  อย่าได้ไปแจ้งกับพวกรัฐมนตรีหรือนายกเชียว  ท่านไม่มีอำนาจนั้น
     ไปแจ้งผู้พิพากษาก็ไม่ถือว่าแจ้งความ  ถ้าอยากไปศาลขนาดนั้น  ฟ้องคดีไปเลยเถอะ
   

    สรุปว่าไปแจ้งกับตำรวจที่สถานีตำรวจเนอะ  จะได้ไปหัวข้อต่อไป  



     แจ้งเมื่อไหร่

     สั้นๆนะ  "เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"  

     ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า  การดำเนินคดีทางอาญานั้นมีอายุความในการดำเนินคดีกำกับอยู่  ซึ่งหากเราปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรเลย  จนหมดเวลาฟ้อง/แจ้งความ/ดำเนินคดี

     ต่อให้อีกฝ่ายผิดจริง  หลักฐานครบ  ชั่วช้าแค่ไหน  

     ยังไงก็หลุด...นะคะ  (อายุความเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยในทางอาญาเสียด้วยสิ)

     ในฐานะปุถุชนธรรมดาผู้ยังละกิเลสไม่ได้มากนัก  เราคงไม่ใจดีขนาดปล่อยเวลาล่วงไปเพื่อให้อภัยผู้กระทำผิดหรอกใช่ไหม?

     แล้วอายุความนี่มันมีกำหนดเท่าไหร่บ้างล่ะ


     เอ้ออ  คือมันจะมีอายุความสั้น  กับอายุความยาวนะ  มาเริ่มที่อายุความสั้นกันก่อน  

     1.  ในกรณีความผิดต่อส่วนตัว  หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด  คดีเป็นอันขาดอายุความ  (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96)

     ในกรณีที่ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดส่วนตัว  เราต้องร้องทุกข์หรือแจ้งความ  หรือฟ้องศาลภายใน 3 เดือน  นับแต่เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  และ  รู้ว่าใครเป็นคนทำ  ไม่อย่างนั้น  กฎหมายบัญญัติให้สิทธิในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดสิ้นลงทันทีที่เลยระยะเวลา 3 เดือนที่อาจดำเนินการได้ไปแล้ว  

     ส่วนความผิดต่อส่วนตัวเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้างนั้น..

     เชิญอ่าน  http://tryfaytry.blogspot.com/2016/03/blog-post_23.html  (ความผิดต่อแผ่นดิน กับ ความผิดต่อส่วนตัว)

     แต่หากเป็นความผิดต่อแผ่นดินแล้ว  อายุความจะเป็นไปตามข้อถัดไป  อย่างไรก็ดี  หากไม่แน่ใจว่าตัวเองโดนดีข้อหาอะไรกันแน่  แนะนำว่าวิ่งไปแจ้งความไว้ก่อนเถอะ  ประเดี๋ยวหวยออกเป็นความผิดต่อส่วนตัวมา  จะได้ไม่โดน  technical  knockout  ทางกฎหมาย


     2.  อายุความสำหรับดำเนินคดีทั่วไป

     กรณีนี้จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95  ซึ่งระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับอัตราโทษของความผิด  ดังนี้

     การดำเนินคดีนั้น  จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษภายใน...ปี  มิฉะนั้นถือว่าขาดอายุความ  โดยมีระยะเวลาแปรผันตามอัตราโทษดังนี้

     -  20 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต  หรือระวางโทษจำคุก(ตั้งแต่)ยี่สิบปี(ขึ้นไป)

     -  15 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี

     -  10 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกกว่า 1 ปี แต่ไม่ถึง 7 ปี

     -  5 ปี  สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 1 ปี

     - 1 ปี สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกหนึ่งเดือนลงมา  หรือมีโทษอื่นที่ไม่ใช่จำคุก


     และหากเป็นความผิดต่อส่วนตัว  ท่านจะต้องผ่านข้อ 1 มาแล้ว  นั่นคือ  ต้องมีการแจ้งความหรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน มาก่อนแล้ว  มิเช่นนั้น  หมดสิทธิ์

     ส่วนความผิดต่อแผ่นดินนั้นจะใช้อายุความตามข้อนี้แต่ประการเดียว  เพราะฉะนั้น  อยากเอ้อระเหยลอยชายไปเรื่อยๆแล้วค่อยมาแจ้งความ/ฟ้อง 1 วันก่อนขาดอายุความ  ก็เรื่องของคุณ

     แต่  อย่าลืมนะ  ยิ่งเวลาล่วงไป  คนร้ายยิ่งตามยาก  และหลักฐานก็ยิ่งหายากนะ



     แจ้งยังไง  

     โอ้  ข้อนี้สำคัญ  ถ้าแจ้งไม่ถูกนี่  ไปต่อไม่ได้เลยนะ

     อันที่จริง  ในทางกฎหมายเนี่ย  เราไม่เรียกว่า "แจ้งความ"  หรอกนะ  เราเรียกการกระทำนี้ว่า  "การร้องทุกข์"  ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 1 (7) ว่า

     "คํารองทุกข” หมายความถึงการที่ผูเสียหายไดกลาวหาตอเจาหนาที่ตาม บทบัญญัติแหงประมวลกฎหมายนี้วามีผูกระทําความผิดขึ้น จะรูตัวผูกระทําความผิดหรือไมก็ ตามซึ่งกระทําใหเกิดความเสียหายแกผูเสียหาย และการกลาวหาเชนนั้นไดกลาวโดยมีเจตนาจะให ผูกระทําความผิดไดรับโทษ"

     เป็นผู้เสียหายหรือเปล่าก็กล่าวไปแล้ว  เจ้าหน้าที่คือใครก็อยู่ด้านบน  งั้นมาว่ากันต่อเรื่องลักษณะของคำร้องทุกข์


     "..กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำผิดขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย.."  ก็คือไปเล่า  หรือแจ้งน่ะแหละ  ว่าเกิดอะไรขึ้น  แล้วตัวเองเสียหายอะไร  

     จากนิยามจะเห็นได้ว่า  เราไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่าใครเป็นผู้กระทำผิดก็ได้  แต่ทางที่ดี  ถ้ารู้อะไรเกี่ยวกับคนร้าย  เช่น  รูปพรรณสัณฐาน  ลักษณะ  รถ  ความสูง  อะไรแบบนี้ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ไปให้หมด  เขาจะได้ตามจับคนร้ายได้ง่ายขึ้น


     "..โดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ"  ข้อนี้แหละสำคัญ  อย่าได้พูดเชียวว่า  "มาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเฉยๆ"  "มาแจ้งเพราะกลัวขาดอายุความ"  "ไม่เอาเรื่องหรอกค่ะ  แค่มาแจ้งเฉยๆ"  หรืออะไรแนวๆนี้  เพราะกฎหมายจะถือว่าคุณไม่มีเจตนาจะให้คนทำผิดต้องรับโทษ 

     ส่งผลให้คำร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบตามกฎหมาย

     ผลน่ะเหรอ?  แยกได้เป็น 2 กรณี นะ


     1.  กรณีความผิดต่อแผ่นดิน  :  กรณีนี้ความเสี่ยงจะต่ำหน่อย  โอเค  แม้เราจะร้องทุกข์ไม่ถูก  เราก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีเองได้  และพนักงานสอบสวนก็ยังมีสิทธิ์ทำการสอบสวนได้เช่นกัน  

     แต่  ตามมาตรา 122  นั้น  ได้ให้สิทธิพนักงานสอบสวนที่จะไม่ทำการสอบสวนได้  หากผู้เสียหายไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ  ก็คือไม่ยอมร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

     สมมติถูกจี้ชิงทรัพย์  แล้วไปแจ้งความบอกว่า  "ไม่เอาเรื่องค่ะ"  ตำรวจก็อาจจะ  อ่ะ  งั้นไม่สอบสวนล่ะกัน  พอไม่สอบ  ก็ไม่ส่งให้อัยการฟ้อง  แล้วถ้าคนแจ้งกลับบ้านสบายใจนึกว่าเดี๋ยวอัยการก็ฟ้องให้  ไม่ทำอะไรเลย
     จบเห่ค่ะ  ไม่ต้องเป็นความกันเลย

     คิดจะเอาความก็ทำให้มันสุดๆไปเถ้ออ  อย่าอะไรครึ่งๆกลางๆเลยนะ


     2.  กรณีความผิดต่อส่วนตัว  :  อันนี้สิเสียหายหนัก  ตัดกรณีผู้เสียหายฟ้องเองไปก่อนนะ 

     สมมติถูกหมิ่นประมาท(ใช่ค่ะ  หมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว)  ไปแจ้งแบบ..ข้างบน  ไม่แสดงเจตนาเอาคนร้ายมาลงโทษ  ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบ

     พอร้องทุกข์ไม่ชอบ  ก็เท่ากับไม่มีการร้องทุกข์  

     ตามมาตรา 121  ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัวที่ไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบ
     เมื่อไม่มีการร้องทุกข์  พนักงานสอบสวนก็สอบสวนไม่ได้  

     ถึงดำเนินการสอบสวนไปก็ถือว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ  เท่ากับไม่มีการสอบสวน

     ตามมาตรา 120  ห้ามพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
     ...เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไม่ได้  ก็ส่งอัยการฟ้องไม่ได้
     ...ต่อให้ทำการสอบสวนไปและส่งให้อัยการฟ้องแล้ว  เมื่อศาลพิจารณาพบว่าการร้องทุกข์ไม่ชอบ  ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์  เท่ากับสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์  ขัดต่อกฎหมาย  อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง  
     ยกฟ้อง!  

     แล้วอย่าลืมว่า  เวลามันเดินไปเรื่อยๆ  จะกลับมาร้องทุกข์(แจ้งความ)ใหม่ก็อาจขาดอายุความไปแล้ว


     เสียหายมั้ย...........เสียหายนะ  


   
    จะเห็นได้ว่าการแจ้งความให้ถูกต้องตามกฎหมายมีความสำคัญต่อการดำเนินคดีในทางอาญาอยู่มาก  เพราะมันคือการดำเนินการขั้นแรกที่นำไปสู่การฟ้องคดีต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากต้องการดำเนินคดีโดยรัฐ  หรือให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีให้กับเรา  

    ด้วยเหตุนี้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เสียหายต้องแจ้งความให้ถูกต้องตามกฎหมาย  เพื่อจะได้นำตัวคนผิดมาลงโทษตามหลักกฎหมายต่อไป  

     ปล่อยให้การลดโทษเป็นหน้าที่ของศาลและกระบวนการยุติธรรมเถอะนะ  อย่าใจดีปล่อยคนร้ายไปเองด้วยการแจ้งความที่ไม่สมบูรณ์เลย



     ส่วนขั้นตอนหลังจากแจ้งความนั้นจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล  ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป 


     สวัสดี   
     

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การดำเนินคดีในทางอาญา (1) : ผู้เสียหาย



     หลังจากฟ้องคดีแพ่งกันไปแล้ว  เคราะห์หามยามร้าย  เราอาจต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีในทางอาญา....เพราะถูกละเมิดทางใดทางาหนึ่ง

     ......เอาเฉพาะถูกละเมิดก่อนนะ  ประเภทไปละเมิดเขานี่  ขอติดไว้ก่อนละกันว่าจะเขียนถึงยังไงดี

     จะทราบมาก่อนหรือไม่ทราบมาก่อนก็แล้วแต่  สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะทำ  นั่นคือยึดหลักการฟ้องตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแบบ 100 เปอร์เซนต์

 
     ทำแบบนั้นไม่ได้  มันไม่เหมือนกัน!!!


     แม้หลักการดำเนินคดีอาญาบางอย่างจะนำหลักการของทางแพ่งมาใช้โดยอนุโลม  แต่โดยหลักแล้ว  การดำเนินคดียังคงต้องเดินตามหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่

     แล้วมันทำยังไงล่ะ???

     ไล่ดูตามด้านล่างเอาเลย



     จุดเริ่มต้นแห่งคดีอาญา

     จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดีแพ่ง  มาจากการเกิดข้อโต้แย้งสิทธิหรือความต้องการใช้สิทธิในทางแพ่ง  เช่นเดียวกัน  จุดเริ่มต้นในทางอาญานั้นมาจาก  การมีความผิดในทางอาญาเกิดขึ้น...

     และมีใครสักคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย

     ความมันก็เริ่มตรงนี้แหละ


     ส่วน...ความผิดทางอาญานั้นก็เช่น  ฆ่าคนตาย  ทำร้ายร่างกาย  ลักขโมย  จี้ปล้น  ฉ้อโกง  หมิ่นประมาท  บุกรุก  ฯลฯ
     ตัวอย่างของความผิดทางอาญา  ท่านสามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์ทั่วไปในหน้าอาชญากรรม  หรือไม่ก็หน้าหนึ่งนะคะ



     เอาล่ะ  มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น  และมีใครสักคนหนึ่ง  ต้องเสียหายจากการนี้

     เอาไงต่อดี??


     แจ้งความ....?


     ถูกต้อง  ทางเลือกหนึ่งของการจัดการปัญหา  คือไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า  เกิดอะไรขึ้น  จากนั้นก็ให้ทางการดำเนินการสอบสวนหาตัวคนร้ายมาจัดการ  เอ้อ  มาดำเนินคดีและ/หรือ  ลงโทษกันต่อไป

     อันที่จริง  เราไม่ต้องไปแจ้งความก็ได้นะ  เพราะถ้าเราเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงแล้วล่ะก็  เรามีอำนาจดำเนินคดีได้เอง  นั่นคือ  เราสามารถฟ้องศาลให้ศาลลากตัวคนผิด(แต่ดูเหมือนการลากตัวก็ต้องใช้ตำรวจอยู่ดีแฮะ)มาลงโทษได้เองเลย

     คำถามคือ  แล้วเราเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือเปล่า??


     มีข้อพิจารณาดังนี้



     ผู้เสียหาย

     ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 2(4)  ผู้เสียหาย  หมายถึง  ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งผู้มีอำนาจจัดการแทน...

     นั่นคือนิยามตามกฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  จะเป็นผู้เสียหายได้จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกอย่าง  นั่นคือ  ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย  อันหมายถึง  ไม่มีส่วนร่วมในการการทำความผิดดังกล่าวนั้นด้วย

     มาพิจารณากันทีละข้อ

     1.  จะเป็นผู้เสียหายได้  ต้องมีสภาพบุคคล  :  เพราะตัวบทใช้คำว่า  "ผู้ที่"  ดังนั้นจึงต้องเป็น  "คน"  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ตาม

     บริษัทต่างๆ  นั้นโดนละเมิดกฎหมายได้

     แต่สัตว์และพืชซึ่งไม่มีเจ้าของ  แม้จะโดนฆ่า  โดนตัด  อย่างไร  ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา
     ....แต่จะเอาผิดคนทำได้ไหมต้องดูว่ามีกฎหมายอื่นๆห้ามทำไว้หรือเปล่า


     2.  ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด  :  คือผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงๆ  ไม่ใช่บุคคลอื่น

     ทำร้ายลูก  ลูกเป็นผู้เสียหาย  ส่วนพ่อแม่  แม้จะอ้างว่าเจ็บกว่า  ก็ไม่ถือเป็นผู้เสียหายนะคะ  (เว้นแต่ถูกฟันไปด้วย  ก็อีกเรื่อง)

     และการกระทำหนึ่งๆอาจมีผู้เสียหายคนเดียวก็ได้  หรือมีหลายคนก็ได้  เช่นเรื่องทรัพย์  สมมติเราเช่าหนังสือมาอ่าน  แล้วมีคนมาขโมยหนังสือเล่มนั้น  กรณีนี้จะมีผู้เสียหายสองคน  หนึ่งคือเรา  ผู้เช่าและใช้สอย(อ่าน)หนังสือ  สองคือร้านเช่าหนังสือ  ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
     เพราะตามแนวฎีกา  ผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ถือเป็นผู้เสียหายด้วยในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์


     3.  เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย  :  คือไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด  เช่นพวกโกงน่ะ  แบบมีคนมาหลอกว่าถ้าให้เงินไปจะวิ่งเต้นให้  ต่อมาคนอาสาวิ่งเต้นเชิดเงินหนี  แบบนี้คนให้ไม่เป็นผู้เสียหายนะคะ  ถือว่ารู้เห็นเป็นใจให้มีการวิ่งใต้โต๊ะ

     เห็นชัดกว่านั้นก็พวกนักเรียนนักเลง  ตีกันตรงป้ายรถเมย์  ไรงี้  กรณีนี้ต่างฝ่ายต่างไม่มีสิทธิฟ้องอีกฝ่ายนะ  เพราะสมัครใจทะเลาะวิวาท  ซึ่งถือได้ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย

     เมื่อไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย  จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง


     4.  ผู้มีอำนาจจัดการแทน  มาตรา 2(4)  ได้แจงไว้สามมาตราด้วยกัน

4.1  มาตรา 4  :  "สามีมีสิทธิฟ้องคดีแทนภริยาได้  ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา"

     คาดว่าน่าจะมาจากสมัยโบราณที่สามีเป็นช้างเท้าหน้า  สามารถจัดการอะไรๆแทนคู่ตัวเองได้  แม้สมัยนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิผู้หญิงอีกต่อไป  แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้เป็นสามีได้ทำหน้าที่อยู่เช่นเดิม

     อ่อ  กลับกันไม่ได้นะ  ต่อให้ได้รับอนุญาตชัดแจ้งจากสามี  ภริยาก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีแทน
     ...เว้นแต่มอบอำนาจ...

     เกือบลืม  ความเป็นสามีภริยาต้องชอบด้วยกฎหมายนะคะ  คือต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น


4.2  มาตรา 5  :   แยกเป็นสามอนุด้วยกัน

     (1)  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล  กรณีความผิดอาญาเกิดแก่ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ  :  ท่าทางต้องอธิบายกันยาว....

     ผู้แทนโดยชอบธรรม  :  โดยทั่วไป  คือแม่  และพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายค่ะ(พ่อที่จดทะเบียนสมรสกับแม่  หรือรับรองบุตรแล้วตามกฎหมาย)  เว้นแต่กรณีไม่มีพ่อแม่  ผู้แทนโดยชอบธรรมกรณีนี้อาจเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้ดูแลผู้เยาว์แทน  ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้
    ...และเผื่อใครสงสัย  บุคคลผู้เบ่งท้องคลอดเด็กออกมาถือเป็นบุพการีโดยชอบด้วยกฎหมายเสมอ

     ผู้เยาว์  :  คือผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  หรือคือบุคคลที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์

     ผู้ไร้ความสามารถ  :  คือผู้ซึ่งไม่สามารถดูและตัวเองได้  และ  ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถแล้ว  (ต้องศาลสั่งเท่านั้น)
     เช่น  ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่จำอะไรไม่ได้เลย  คนพิการ  หรือผู้ประสบเหตุเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนิทราทั้งหลาย  และ  เอ้อ  คนบ้า  ก็รวมด้วย  แต่ศาลต้องสั่งให้เขาเป็นบุคคลไร้ความสามารถก่อนเท่านั้น

     ผู้อนุบาล  :  (ตั้งใจอธิบายผู้ไร้ฯก่อน  เกรงว่าขึ้นผู้อนุบาลเลยจะงง)  คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้ดูแลและทำการแทนผู้ไร้ความสามารถ

     บุคคลผู้จัดการแทนเหล่านี้จัดการแทนได้ทุกความผิดที่เกิดแก่ผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ  โดยมีข้อแม้ประการเดียวคือ  ตัวผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถต้องยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ถ้าตายแล้วจะไม่เข้ากรณีที่ 1 นี้


     (2)  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้  :  เริ่มอธิบายศัพท์ก่อนเลย

     ผู้บุพการี  :  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ทวด(พ่อแม่ของปู่ย่าตายาย)  คือ  เข้าใจอารมณ์ป่ะ  สายของผู้ให้กำเนิดไล่ขึ้นไปอ่ะ
     ....และในกรณีที่สองนี้ถือสายเลือดกันตามความเป็นจริง....

     ผู้สืบสันดาน  :  ลูก  หลาน  เหลน  ลื่อ  ตรงข้ามกับบุพการี  อันนี้ไล่ลง  และถือตามความเป็นจริงเช่นกัน

     สามีหรือภริยา  :  พูดง่ายๆคือ  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือที่จดทะเบียนสมรสโดยชอบแล้ว

     กรณีนี้เป็นการจัดการทางคดีแทนบุคคลซึ่งถูกละเมิดทางอาญาจนไม่สามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้  และจำกัดสิทธิเฉพาะความผิดทางอาญาที่ทำให้ตัวผู้เสียหายไม่สามารถจัดการได้เองเท่านั้น

     เช่น  ลูกถูกฆ่าตาย  พ่อแม่แจ้งความ  ฟ้องศาล  ดำเนินคดีแทนลูกในความผิดฐานฆ่า(ลูกตัวเอง)ได้เลย

     แต่  ถ้าลูกข่มขืน  แล้วฆ่าตัวตายเอง  อันนี้พ่อแม่ฟ้องฐานข่มขืนแทนลูกไม่ได้นะ  เพราะลูกไม่ได้ตายด้วยเหตุถูกข่มขืน

     หรือ  ลูกถูกโกง  กำลังจะไปแจ้งความดันถูกรถชนตาย  อันนี้พ่อแม่จะดำเนินคดีแทนลูกฐานฉ้อโกงก็ไม่ได้เช่นกัน
     (มีใครโมโหกับช่องว่างของกฎหมายที่สามารถปล่อยคนร้ายลอยนวลได้ง่ายๆแบบคนเขียนมั้ย?)


     (3)  ผู้จัดการแทนนิติบุคคล  สำหรับความผิดที่กระทำต่อนิติบุคคล  :  ตัวอย่างง่ายๆเช่น  มีพนักงานโกงเงินของบริษัทไป  ตอนนี้บริษัทเป็นผู้เสียหายที่ถูกโกงเงินละ  แต่นิติบุคคลไม่ใช่คนธรรมดาที่สามารถทำโน่นทำนี่ได้เองแบบคนทั่วไปถูกไหม  แล้วทำไง

     คำตอบคือ  ก็ให้ผู้แทนหรือตัวแทนของนิติบุคคล  เช่นกรรมการ  หรือเจ้าของบริษัทอาจจะไปจ้างทนายเข้ามา  เพื่อดำเนินคดีนี้แทน  ก็ได้  จบ


4.3  มาตรา 6  :  ผู้แทนเฉพาะคดี  กรณีที่ความผิดเกิดแก่  ผู้เยาว์(1)  บุคคลวิกลจริต(2)  หรือผู้ไร้ความสามารถ(3)  แต่บุคคลเหล่านี้ไม่มีผู้จัดการแทน  หรือมี  แต่ผู้จัดการแทนดังกล่าวไม่สามารถจัดการแทนได้  ด้วยเหตุต่างๆ  เช่น  ไม่รู้หายหัวไปไหน  หรือผลประโยชน์ขัดกัน  กรณีนี้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องของผู้เสียหายสามารถร้องขอต่อศาลให้เขาหรือใครก็ตามเป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายได้

      เช่น  พ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยง  หากแม่หลงหรือกลัวสามีมากจนไม่กล้าทำอะไร  ยายอาจร้องต่อศาลให้ตั้งตัวเองดำเนินการฟ้องพ่อเลี้ยงแทนตัวแม่ก็ได้

     ข้อแม้ประการเดียวของมาตรานี้คือ  ตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถต้องยังมีชีวิตอยู่  เพราะถือว่าอำนาจตรงนี้อิงกับตัวผู้เสียหายโดยตรง  หากผู้เสียหายตายอำนาจจัดการแทนย่อมหมดไปด้วย


     นั่นคือข้อพิจารณาคร่าวๆว่า  เราเป็นผู้เสียหายและมีสิทธิดำเนินคดีนี้หรือไม่  หากพิจารณาแล้วพบว่าคุณสมบัติครบ  ก็เดินหน้าข้อต่อไปได้เลย...



     ชักจะยาว  ต่อตอนหน้าละกันนะคะ...

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รู้กฎหมายแล้วต้องฉลาด



     ต่อไปนี้คือกลเม็ดเคล็ดลับที่เด็กนิติได้รับการถ่ายทอดกันมา ไม่ว่าจะโดยตรงหรือจากฎีกา  พร้อมคำกำชับว่า  "เรียนกฎหมายแล้วต้องฉลาด นะ  ลูก นะ"



     1.  สิ่งที่เซ่อซ่าที่สุดที่คุณไม่ควรจะทำคือ  การเซ็นชื่อลงกระดาษเปล่า  แล้วมอบให้ผู้อื่นไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ห้ามมอบให้พร้อมกับเอกสารสำคัญ  เช่น  สำเนาบัตรประชาชน  สำเนาทะเบียนบ้าน  หรือโฉนดที่ดิน  โดยไม่ได้ระบุให้ละเอียดว่าจะใช้ทำอะไร  เพราะนั่นเป็นการที่คุณบอกคนทั่วไปว่า  "เชิญเลยจ๊ะ  เชิญเอาเอกสารนี้ไปใช้เพื่อโกงฉันได้เลย"

     สาเหตุก็เพราะผู้รับสามารถนำกระดาษเปล่านั้นที่ลงชื่อคุณไปกรอกอะไรก็ได้  จะกรอกว่า  คุณยืมเงินเขาเท่านั้นเท่านี้  คุณอนุญาตให้เขาขายทรัพย์สินของคุณได้  โน่นนี่นั่น

     ที่เจ็บคืออะไรทราบไหมคะ  คือ  หากเจ้าคนกลางเอาเอกสารนี้ไป  แล้วกรอกว่าคุณอนุญาตให้เขาขายทรัพย์สินให้คนภายนอก  หรือคนอื่น  ซึ่งเจ้า  "คนอื่น"  เนี่ย  ไม่รู้เลยว่าขายได้เพราะความสะเพร่าของคุณ  หากคุณฟ้องเรียกคืน  คุณแพ้  เพราะศาลถือว่า  คุณประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  เมื่อฝ่ายที่สามไม่รู้  เขาถือว่าฝ่ายที่สามสุจริต  เขาคุ้มครองฝ่ายที่สามค่ะ

     เพราะฉะนั้น  อย่าทำ!


   
    2.  "อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า  อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน"  คำนี้ยังใช้ได้เสมอ  เด็กนิติทั่วไปที่เรียนวิชากฎหมายค้ำประกันจะได้รับการสั่งสอนว่า  "หากไม่จำเป็น  อย่าไปค้ำประกันให้ใครเป็นอันขาด"  เพราะมันเป็นการ  "เนื้อไม่ได้กิน  หนังไม่ได้รองนั่ง  เอากระดูกมาแขวนคอ"  ที่สุดอย่างหนึ่ง

     คิดดูเถิด  คนยืมเงินก็ไม่ใช่เรา  เงินเราก็ไม่ได้เอาไปใช้  เราดันต้องมาร่วมรับผิดด้วยเวลาลูกหนี้หรือคนยืมเงินไม่จ่ายหนี้  ดีไม่ดี  เราจะถูกฟ้องล้มละลาย  ถูกยึดทรัพย์  ทั้งๆที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสัญญานี้เลยสักนิดเดียว
     มันใช่เรื่องมั้ย???

     ถ้าเลี่ยงได้ก็หาทางช่วยอีกฝ่ายด้วยวิธีอื่นดีกว่านะ



     3.  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1366  ได้วางหลักไว้ว่า  เจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ของตนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้  และข้อดีของกฎหมายข้อนี้ก็คือ  มันไม่มีอายุความ

     ดังนี้  หากทรัพย์  หรือภาษาทั่วไปคือ  "ของ"  ของคุณ  ไปอยู่กับคนอื่น  โดยที่คุณไม่ได้ยกให้เขาด้วยความเต็มใจแล้วล่ะก็  คุณมีสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอ  ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม

     อย่างไรก็ดี  แม้กฎหมายเรื่องทรัพย์จะไม่มีอายุความเสียสิทธิ  แต่ทรัพย์มีอายุความได้สิทธินะคะ  หมายความว่า  หากใครก็ตามที่ครอบครองทรัพย์ของคนอื่นไว้แบบเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  ครองไว้ 5 ปี ได้กรรมสิทธิ์  ส่วนอสังหาริมทรัพย์ครองไว้ 10 ปีได้กรรมสิทธิ์

     อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ  ถ้าจู่ๆมีคนมาครองครองของๆคุณไว้  แล้วคุณปล่อยเวลาไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไร
     ถ้าเป็นพวกทรัพย์เคลื่อนที่ได้หลาย  เช่น  แก้วแหวน  เสื้อผ้า  นาฬิกา  เวลาผ่านไปเกิน 5 ปี
     ถ้าเป็นพวกทรัพย์อยู่ถาวรทั้งหลาย  เช่น  ที่ดิน  บ้าน  คอนโด  เวลาผ่านไปเกิน 10 ปี
     อีกฝ่ายอ้างได้ว่าเขาได้ความเป็นเจ้าของตามผลของกฎหมายแล้ว.....นะจ๊ะ

     เว้นแต่เขาได้ทรัพย์ไปโดยกระทำความผิดอาญาต่อคุณ  เช่น  ลัก วิ่ง ชิง ปล้น  ยักยอก  ไรงี้  อายุความ 10 ปี  จะไม่เริ่มนับตั้งแต่ครอบครอง  แต่เริ่มนับตั้งแต่อายุความในการดำเนินคดีความผิดดังกล่าวพ้นไปก่อน

     คำแนะนำแรกคืออย่าพยายามให้ใครมาแสดงความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์เรา  หรือถ้ามันเกิดขึ้นแล้วล่ะก็

     จงรีบฟ้อง/ติดตาม เอาคืน ให้เร็วที่สุด



     4.  ให้คนอื่นยืมเงินแต่ไม่มีหลักฐานเหรอ?

     เขียนจดหมายไปถามเขาสิ  ให้มีเนื้อความว่า  เงินที่ยืมไปเมื่อไหร่จะคืน  บลาๆๆ  ถ้าอีกฝ่ายตอบกลับมาว่า  เงินที่ยืมไปนั้น....  พร้อมกับลงชื่อ  (ปกติจดหมายมันต้องลงชื่ออยู่แล้วถูกป่าว)  นั่นไง  หลักฐาน  เชิญค่ะ

     เพราะกู้ยืมเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ  แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  เพื่อใช้ในการฟ้องคดี  และคำว่า "หลักฐาน"  ที่ว่านี้  ก็มีเนื้อความสำคัญเพียงสองอย่างเท่านั้น  หนึ่งคือมีการยืมเงินกัน  สองคือลายมือชื่อ(ลายเซ็นน่ะแหละ)ผู้กู้

     แค่นั้น  จบ  ฟ้องได้แล้วจ้า

     แถม  ถ้าทำเป็นสัญญาเลยว่ามีการกู้เงินกันเท่านั้นเท่านี้  แล้วลงชื่อสองฝ่ายเลยล่ะก็  ก่อนฟ้อง ต้องติดอากรแสตมป์  ด้วยนะคะ  ไม่งั้นศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานนะ
     ต่อให้กู้จริง  ไม่ติดอากร  เจ้าหนี้จบเห่สถานเดียวค่ะ
   


     5.  ก่อนจะแสดงความคิดเห็น  หรือกล่าวพาดพิงใคร  แล้วเล็งเห็นได้ว่า  ความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นไปในทางลบแล้วล่ะก็  ให้หาก่อนว่าตัวเองมีข้อต่อสู้ข้อใดข้อหนึ่งข้างล่างนี่แล้วหรือยัง

     5.1  ฉันติชมด้วยความสุจริต  ในฐานะเป็นประชาชน นะ  -  โดยมาก  จะอ้างข้อนี้ได้มักเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ  เช่น  การปฏิบัติงานของราชการ  หรือการกระทำใดที่กระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม  เวลาใครแหวกลับมาจะได้อ้างไปว่า  "ติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะประชาชน" ไง

     5.2  ฉันพูดในฐานะที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย นะ  -  ตรงตามตัว  คือ  เรามีส่วนได้เสียในเรื่องที่แสดงความเห็นนั้น  ส่วนได้เสียในที่นี้คือ  มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเองกล่าว  ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์  หรือเป็นผู้เสียประโยชน์  ก็ตาม

     ถ้าใครเคยอ่านบลอกอีกบลอกนึงของเรา  จะเห็นบางบทความที่เราเขียนเตือนนั่นนี่  ว่าจะซื้อของนี้ๆๆ  ให้ระวังด้วย  เพราะเราเคยได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดนั้นมาแล้ว  จึงไม่อยากให้ใครเจอแบบเราอีก  และเราอาจจะวิจารณ์บางสิ่งอย่างกับร้านค้าด้วย  แล้วลงท้ายว่า  "ฉันติชมเพราะมีส่วนได้เสีย  ได้รับยกเว้นความผิดตามกฎหมาย(โว้ย)"
     ถามว่าเรามีส่วนได้เสียยังไง  ว่ากันตามตรงคือ  เราเป็นผู้เสียหายจากความเสียหายที่เราอ้างถึงเหล่านี้ไงล่ะ  เราจึงมาเตือนในฐานะที่เราเคยเจ็บใจกับมันมาก่อน  เราย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

     ถ้าหาเหตุผลเหล่านี้ไม่ได้  จงอย่าแสดงความคิดเห็นให้มันสุดโต่งเกินไปนัก  อีกฝ่ายเจ็บใจ  เรามีสิทธิโดนลากเข้าตะรางในข้อหาหมิ่นประมาทได้

    ปล  อันนี้คือตัวอย่างที่กล่าวถึงค่ะ  https://alwaysfay.blogspot.com/2016/01/blog-post_23.html



    6.  แค้นใครมากจนอยากทำร้ายเหรอ?

     เตรียมเงินในกระเป๋าไว้สักห้าร้อย(หรือพันนึงก็ได้กันเหนียว)  แล้วไปหาคนๆนั้น  แล้วอยากทำอะไรก็ทำ  จากนั้นก็ไปจ่ายค่าปรับ  จบ

     แต่!!  หลักมีอยู่ว่า  ห้ามทำร้ายจนเลือดออก  หรือ  ให้อาการหนักกว่าเลือดออกนะ  ไม่ได้เป็นอันขาด!!!

     เพราะตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วเนี่ย  ถ้าเราทำร้ายแบบไม่แรง  เช่น  ฟกช้ำดำเขียว  หรือ  แดง  อะไรงี้  กฎหมายเขาถือว่าเป็นความผิดอันเป็นอันตรายแก่กาย  ตามมาตรา 391  ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ  แค่จ่ายค่าปรับก็ปิดคดีได้

     แต่  หากกระทบกระทั่งกันจนถึงเลือดตกยางออกขึ้นมาเนี่ย  มันจะไม่ใช่แค่ มาตรา 391  แต่มันจะกระโดดไปเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 หรือถ้าสาหัสก็ 297  ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ลหุโทษแล้ว  ยังเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ด้วยล่ะ
     งานนี้  ขึ้นศาลสถานเดียว  เคราะห์หนักก็ติดคุกล่ะทีนี้

     อย่างไรก็ดี  หากเลือกได้  อย่าทำร้ายกันเลยหนา  ไม่เห็นแก่ตัวเองและคู่กรณีก็เห็นแก่คนอื่นๆบ้าง  ครอบครัวเรา  ครอบครัวอีกฝ่าย  หรือแม้แต่
     ธ  ผู้เป็นที่รักยิ่งซึ่งมองลงมาจากบนฟ้า..

     บ้างเถอะ        




     อะไรอีกล่ะ  นึกไม่ออกล่ะวุ้ย  เอาเป็นว่า  นึกออกจะมาเพิ่มให้ทีหลังเน่อ  ตอนนี้เชิญเอาหลักพวกนี้ไปประยุกต์ใช้กันได้ตามศรัทธา


     รู้กฎหมายแล้วต้องฉลาด

     อย่าลืมนะ!!!

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

english for lawyer 2



     ยังคงวนเวียนอยู่ในเรื่องของคำศัพท์  เผอิญวันนี้เรา(เรียกตัวเองว่าคนเขียนมาหลายบทความติด ชักเริ่มเบื่อ)ทวนภาษาอังกฤษน่ะค่ะ  เลยคิดว่าเอามาจัดระบบไว้ ณ โพสต์นี้น่าจะดี  นอกจากจะง่ายแก่การค้นหาแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ด้วย

     เริ่มกันเลย  (ได้อีกก็จะมาอัพเรื่อยๆนะคะ)



     หมายอาญา

     หมายอาญามีหกชนิด(ถ้าจำไม่ผิด)  หมายเรียก  หมายขัง  หมายค้น  หมายจับ  หมายปล่อย  และหมายจำคุก  เราก็นำศัพท์ที่ตรงกะกริยาที่ออกหมายมาแปะหน้าศัพท์คำว่าหมาย  หรือจะใช้รูป warrant of ... ก็ได้

     หมาย  =  warrants

     หมายเรียก  =  summons  ค่ะ  อันนี้พิเศษหน่อย  มีศัพท์เฉพาะ  ซึ่งคำนี้หากใครเล่นเกม rpg บ่อยๆอาจจะคุุ้น  เวลาที่เราจะกดซื้อมอนส์ใหม่มันต้องใช้คำนี้ใช่ม้า  มันแปลว่าหมายเรียก หรือ การเรียกล่ะ  กฎหมายก็ใช้คำนี้เหมือนกัน

     ขัง  =  detention

     ค้น  =  search

     จับ  =  arrest

     ปล่อย  =  release

     จำคุก  =  imprisonment

ปล.  เพื่อความปลอดภัย  อย่าลืมเขียนตัวใหญ่  (เช่น  Warrants of Arrest)  ด้วยนะคะ

     อ่ะ  ไหนๆก็หมายเหมือนกัน  แถมให้

     Writ  of  execution  =  หมายบังคับคดี




     กระบวนการในศาล

     Preliminary  hearing/examination  =  ไต่สวนมูลฟ้อง

     Brought  to  court  =  ถูกนำตัวมา

     Presumption  of  Innocence  =  สันนิษฐานไว้ก่อนว่า(เป็นผู้)บริสุทธิ์

     Prima Facie case  =  คดีมีมูล

     Count  =  กระทง(ความผิดนะ  ไม่ใช่กระทงในการลอยกระทง)


     The  day  of  taking  evidence  =  วันสืบพยาน
  
     Take  evidence  =  สืบพยาน(ทุกประเภท)

     Hear  witness  =  ฟังพยาน(บุคคล)      
   
     Adduce  evidence  =  นำพยานเข้าสืบ

     Day  of  determination  of   disputed  issues/  Day  of  settlement  of  issues  =  วันชี้สองสถาน


     Accept  =  ยอมรับ

     Make  a  statement  =  ตกลง

     Plead  guilty  =  รับสารภาพ


     Give  judgment  in  accordance  with  the  merit  of  the  case  =  ตัดสินตามรูปคดี

     Dispose  the  case  =  จำหน่ายคดี

     Dismiss  the  case  =  ยกฟ้อง

     Postpone  the  case  =  เลื่อนคดี




     หมวดคำกริยา

     Follow  แบบศัพท์กฎหมาย

     Comply  with  +  noun  =  ปฏิบัติตาม...

     Be  in  accordance  with  +  noun  =  เป็นไปตาม...

     Have  regard  for  +  noun  =  คำนึงถึง...

     Be  consistent  with  +  noun  =  เป็นไปตาม 

     Take  into  account  + ...  =  คำนึงถึง

     Take  into  consideration  =  คำนึงถึง  พิจารณาถึง


     Use

     Exercise  +  noun    ใช้...เช่น อำนาจ  มักใช้กับนามที่เป็นนามธรรม

     Adopt  +  noun

     Utilize  +  noun

     Employ  +  noun                 
 
     ทุกคำแปลว่าใช้ค่ะ


     Help  =  ช่วยเหลือ

     Assist

     Aid

     Facilitate


     Show  =  แสดง

     Display

     Manifest

     Demonstrate

     Exhibit


     Have  มี

     Possess

     Hold

     Enjoy

     Entitled  to  ...  มักใช้เป็นรูป  passive  voice นะ  อารมณ์แบบ  ฉันได้รับสิทธิให้ทำโน่นทำนี่ได้  อะไรงี้

     Render  ส่วนใหญ่จะใช้ในแง่ว่า  มีคำตัดสิน


     Break  =  ละเมิด

     Breach

     Transgress

     Violate

     Contravene


     Do  =  ทำ

     Perform

     Carry  out

     Conduct

     Engage  in  =  แปลว่า  ปฏิบัติหน้าที่  อะไรแบบนี้

     Undertake

     Execute

     Effectuate

     Discharge  from  โดยทั่วไป  คำนี้มักแปลว่า  ปลดจากหน้าที่นะ


     Support  =  ส่งเสริม

     Advocate

     Uphold  =  ดำรงไว้ซึ่ง...

     Promote

     Defend  =  ปกป้อง

     Maintain  =  คงไว้  ดำรงไว้

     Sustain

     Endorse

     Enhance  ตัวนี้แปลว่า  พัฒนาให้ดีขึ้น  ก็ได้นะ

     Respect  and  Protect


     Fight  =  ปราบปราม

     Combat  =  ต่อสู้  สู้รบ (ออกแนวประจัญบาน)

     Tackle  =  ปะทะ  เน้นไปที่การใช้กำลังในการกระทำ

     Suppress  =  ปราบปราม  หยุดยั้ง

     Anti/  Counter  =  ต่อสู้  ต่อต้าน

     Oppose  =  ต่อต้าน

     Curb  =  จำกัด

     Control  =  ควบคุม    


     Amend  =  แก้ไข

     Alter

     Rectify

     Modify

     Revise




     ศัพท์แยกตามหมวด

     การฟ้องคดีทางแพ่ง

     Sue

     Pursue  legal  action

     Bring  a  claim  to  court

     File  a  lawsuit


     การฟ้องคดีอาญา

     Prosecute

     File  charges  against  someone  for  something  =  ฟ้อง  ใครสักคน  ใน  ข้อหา...

     Institute a prosecution  =  ฟ้องคดี


     กฎหมายสารบัญญัติ  =  Substantive  law

     กฎหมายวิธีสบัญญัติ  =  Procedural  law


     ทำคำพิพากษา

     Make                                                                                a  judgment

     Render                                      +                                     a  decision

     Deliver,  Pronounce                                                         a  ruling

     Give

     หรือกริยา  adjudicate


     Convict  มีสองความหมายตามหน้าที่ของคำ

     ถ้าเป็นกริยา  จะแปลว่า  พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความผิด  โดยคำพิพากษา

     ถ้าเป็นคำนาม  จะแปลว่า  ผู้ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด


     คำศัพท์ว่าด้วยการถูกตัดสินว่ามีความผิด

     1.  sentence  +  someone  +  to  +  (โทษที่ลง)

     2.  gave  +  someone  +  a sentence  of  +  (โทษที่ลง)

     3.  passed  +  someone  +  a  sentence  of  +  (โทษที่ลง)

     4.  imposed  a  sentence  of  +  (โทษที่ลง)  +  on  +  someone

     5.  accused  of  +  ข้อหา  =  ถูกกล่าวหาว่า

     6.  charged  with  +  ข้อหา  =  ถูกตั้งข้อหาว่า

     7.  tried  for  +  ข้อหา  =  ถูกดำเนินคดีในข้อหา

     8.  convicted  of  +  ความผิด  =  ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน

     9.  found  guilty  of  +  ความผิด  =  ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน

     10.  sentence  to  +  โทษที่ลง  =  ถูกพิพากษาลงโทษ


     Code  =  ประมวล

     Codify  =  เก็บรวบรวมจัดทำขึ้นเป็นประมวล

     Codification  =  การจัดทำขึ้นเป็นประมวล


     Institute  a  prosecution  +  against  +  someone  =  เริ่มการฟ้องคดี/ฟ้องคดี/สั่งฟ้อง

     Render  a  prosecution  order  =  มีคำสั่งฟ้อง

     Render  a  non-prosecution  order  =  มีคำสั่งไม่ฟ้อง


     เกี่ยวกับ  (About)

     about,  in,  on

     concerns,  concerning

     with  reference  to

     with  respect  to

     in  relation  to/  relating  to

     regarding

     vis-a-vis


เจอเพิ่มจะอัพเพิ่มให้  ตอนนี้เอาเท่านี้ไปก่อนนะ



     การชะลอฟ้อง  มีสองคำ  คือ deferred of prosecution กับ suspension of prosecution

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

english for lawyer



  คนเขียนไปเจอเวบศัพท์กฎหมายมาค่ะ  เลยกะจะมาแปะไว้ที่นี่  เพื่อประโยชน์แก่คนแปะและคนอ่านเอง  เจออีกก็จะอัพเรื่อยๆ  แต่ต้องขออภัยไม่สามารถลงรายละเอียดได้มาก

     พอดีช่วงนี้คนเขียนงานยุ่ง


   1. http://www.lawyerleenont.com/แพ่งและพาณิชย์/ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย.html  อันนี้ศัพท์เยอะมาก


   2. https://www.samuiforsale.com/law-texts/thailand-civil-code-part-1.html#In  อันนี้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ภาคภาษาอังกฤษค่ะ ลองอ่านดูได้นะ

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ศัพท์กฎหมาย : สัญญาต่างประเทศประเภทต่างๆ



     ตามหัวข้อเลยค่ะ พอดีอ่านเจอเลยคิดว่าควรแบ่งปัน  เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาและ/หรือต้องใช้ในการสอบ

     เริ่มเลย  ความสำคัญจากมากไปน้อยนะ


 
     สนธิสัญญา     =     Treaty

     สนธิสัญญาทวิภาคี     =     Bilateral  Treaties

     สนธิสัญญาพหุภาคี     =     Multilateral  Treaties

     อนุสัญญา     =     Convention

     พิธีสาร     =     Protocol

     ความตกลง     =     Agreement

     ข้อตกลง     =     Arrangement

     กติกา     =     Pact

     กฎบัตร     =     Charter

     ปฏิญญา     =     Declaration

     ธรรมนูญ     =     Statute

     กรรมสาร     =     Act

     บันทึกความเข้าใจ     =     Memorandum  of  Understanding


      เจอศัพท์เกี่ยวกับเรื่องนี้จะเอามาเพิ่มให้ทีหลังนะคะ  สวัสดีค่ะ



   

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

คดีผู้บริโภค




     ประมาณแปดปีที่แล้ว(ปี 2551)ได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับสินค้าและบริการได้รับความคุ้มครอง  ซึ่งทางภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวกับกฎหมายก็ได้มีการตอบรับกฎหมายนี้ด้วย  เช่น  บรรจุเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัย(มหาฯลัยผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น)

     นอกจากในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว  ทางอัยการและผู้พิพากษาก็ให้การตอบรับเช่นกัน  ในปัจจุบันนี้  วิชานี้ได้กลายเป็นวิชาเลือกหนึ่งในการสอบคัดเลือกเป็นผู้ช่วยอัยการและผู้ช่วยผู้พิพากษาด้วย

     ด้วยเหตุนี้  ผู้เขียนจึงนั่งสรุปหลักวิชานี้ขึ้นมาตอนเตรียมสอบอัยการ  และคิดว่าอาจเป็นประโยชน์อยู่บ้างหากจะนำมาเผยแพร่ในบล็อกด้วย  เหมือนเช่นเคย  เรื่องนี้เขียนขึ้นจากโน้ตย่ออ่านเองนะคะ  โปรดอย่าคาดหวังว่ามันจะสมบูรณ์แบบอะไร  ผู้เขียนก็สรุปได้เท่าที่ตัวเองเข้าใจน่ะแหละ



          วิ.คุ้มครองผู้บริโภค

     ขอบเขต  :  ครอบคลุมข้อพิพาทเกี่ยวกับสินค้าและบริการ  ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ  กับ  ผู้บริโภค

     วันบังคับใช้  :  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่  23 สิงหาคม 2551



              ผู้บริโภค (end-users)

     1. คือ  ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการไปเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว  ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  end-users

     2. คำว่า  "ซื้อ"  รวมถึงการได้รับแจกด้วย  คือเป็นการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเสียค่าตอบแทนหรือไม่

     3.  "ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ"  หมายถึง  เพื่อใช้เอง  ไม่ใช่การทำตัวเป็นคนกลางนำสินค้าหรือบริการนั้นไปให้ผู้อื่นใช้อีกทอดหนึ่ง

     4.  รวมสัญญาประกันภัย  ถือว่าบริษัทประกันภัยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ  และผู้ซื้อประกันภัยเป็นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

     5.  ความคุ้มครองครอบไปถึงผู้บริโภคจากพระราชบัญญัติสินค้าไม่ปลอดภัยด้วย



              ผู้ประกอบธุรกิจ (Business Operators)

     1. คือ  ผู้ขาย  หรือผู้ให้บริการใดๆในทางการค้า  เป็นปกติธุระ  เช่น  ผู้ผลิต  ผู้ผลิตเพื่อขาย  ผู้นำเข้า  ผู้ขาย  ผู้ใช้ชื่อทางการค้าแก่สินค้าหรือบริการนั้นๆ

     2. ต้องมีอาชีพหรือประกอบกิจการนั้นเป็นปกติ  ถ้าทำชั่วคราว  หรือทำไม่กี่ครั้ง  ไม่ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ

     3. รวมการให้บริการทางการแพทย์ด้วย



              คดีผู้บริโภคคือ  

     1. คดีแพ่งที่พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าและบริการ  เช่น  ไปนวดหน้าแล้วสิวเห่อกว่าเดิม  แบบนี้ผู้รับบริการฟ้องผู้นวดหน้าได้ตามกฎหมายนี้  
    
     2. คดีแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย  เช่น  ซื้ออาหารมารับประทานแล้วท้องเสีย  หากพิสูจน์ได้ว่าเกิดเพราะอาหารดังกล่าว  ผู้ซื้อก็สามารถฟ้องผู้ขายตามกฎหมายนี้ได้  

     3. คดีอันเกี่ยวพันกับคดีตามข้อ 1 หรือ 2  เช่นตามตัวอย่างข้างต้น  ถ้าตัวผู้ประกอบการมีการทำประกันสินค้าไว้  และผู้ซื้อรู้  ผู้ซื้อฟ้องผู้รับประกันสินค้าดังกล่าวในคดีนี้ด้วยได้เลย

     4. คดีซึ่งเป็นคดีผู้บริโภคตามความหมายนี้เช่นกันซึ่งดูผิวเผินอาจนึกไม่ถึงนั่นคือ  คดีซึ่งผู้ให้บริการสินเชื่อหรือบัตรเครดิตฟ้องลูกหนี้บัตรเครดิต(ซึ่งก็คือลูกค้าตัวเอง)ให้ชำระเงินที่ค้างจ่าย  นี่ถือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสินค้าและบริการเช่นกัน
     ........เยอะด้วยนะ  จะบอกให้  คดีพวกนี้น่ะ  

     5. ข้อพิพาทดังกล่าวต้องปรากฎว่า  ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภค  และอีกฝ่ายเป็นผู้ประกอบการ  ถ้าสืบไปๆแล้วพบว่า  เป็นผู้บริโภคทั้งคู่  เป็นผู้ประกอบการทั้งคู่  อะไรแบบนี้  ไม่ถือเป็นคดีผู้บริโภค

     6. ต้องเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องหรือเกิดจากตัวสินค้าและบริการโดยตรง  ไม่ใช่เกิดจากเหตุละเมิดอย่างอื่น  เช่น  ซื้อรถมาแล้วจู่ๆรถเสียเอง  อันนี้เอากลับไปเคลมได้  หรือฟ้องได้
          แต่ถ้าเสียเพราะมีคนมาชน  แบบนี้ต้องฟ้องคนชนนะค้าาา  ไม่เป็นคดีผู้บริโภค



            ลักษณะพิเศษของการดำเนินคดีผู้บริโภค

     โดยหลักแล้ว  คดีผู้บริโภคนั้นคือคดีแพ่งนี่แหละ  แต่มีลักษณะพิเศษดังต่อไปนี้ 

     1. ลักษณะคดี  คดีผู้บริโภคเป็นคดีระบบไต่สวนที่ผู้พิพากษามีอำนาจดำเนินการหาความจริงได้เต็มที่

     2. การฟ้อง  สามารถยื่นฟ้องด้วยวาจาหรือจะฟ้องเป็นหนังสือก็ได้

     3. ว่าด้วยเรื่องเขตอำนาจ  หากเป็นกรณีผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคแล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจสามารถฟ้องได้ที่เดียวเท่านั้นคือ  ภูมิลำเนาของผู้บริโภค  จะฟ้องศาลในเขตอำนาจอื่นไม่ได้  
         ส่วนกรณีผู้บริโภคฟ้องผู้ผลิตนั้นใช้หลักตาม ปวิพ มาตรา ๔ ปกติ

     4. ว่าด้วยเรื่องค่าธรรมเนียม  ผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการดำเนินคดี  แต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมที่ต้องรับผิดในชั้นที่สุด
          เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้บริโภคไม่สุจริต  เรียกร้องมากเกินไป  ประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในศาล  หรือกรณีอื่นๆตามที่เห็นสมควร

     5. การพิจารณา  ให้ศาลกำหนดวันนัดไม่เกิน 30 วันนับแต่รับฟ้อง  โดยเริ่มคดีจากการนัดมาไกล่เกลี่ยก่อน(และถือว่าวันนี้คือวันสืบพยานวันแรกที่คู่ความต้องมาศาล)  ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็จบ  ถ้าไม่จบจะให้จำเลยให้การ  และเริ่มสืบพยานต่อไป

     6. ในส่วนของพยาน  กฎหมายผู้บริโภคให้ถือว่าใบปลิว  โบรชัว  หรือสิ่งต่างๆที่มีคำโฆษณาของสินค้าหรือบริการนั้นๆเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ผู้บริโภคสามารถนำมาอ้างได้หากที่โฆษณากับที่ได้รับไม่ตรงกัน
          จะซื้ออะไรก็เก็บแผ่นปลิวดีดีนะ  หลักฐานในการดำเนินคดีชั้นเลิศนะน่ะ

     7. เมื่อใดก็ตามที่มีการเริ่มเจรจากันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ  ให้อายุความในการดำเนินคดีสะดุดหยุดอยู่จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีการบอกเลิกการเจรจา
         อายุสะดุดหยุดอยู่นั้นคล้ายกับการกด pause ในเครื่องเล่นต่างๆค่ะ  ไม่เหมือนสะดุดหยุดลงที่ต้องเริ่มนับใหม่  เอ้อ  ต้องบอกว่า  สะดุดหยุดลงนั้นเหมือนกดปุ่ม restart สินะ อิอิ (เผื่อใครไม่อยากกลับไปอ่านเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงใหม่  เราจะย่อให้เข้าใจง่าย 555)   

     8. อายุความ  ในกรณีฟ้องว่าสินค้าหรือบริการที่รับนั้นเป็นพิษต่อร่างกาย  ให้ฟ้องภายในสามปีนับแต่อาการนั้นแสดงผล  แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่รู้ถึงความเสียหาย
         คือให้ดูกันยาวๆนั่นเองว่าไอ้ที่กินเข้าไปน่ะ  ค้างและทำอันตรายได้เมื่อไหร่แค่ไหน....

     9. หากผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิด  ศาลสามารถพิพากษาให้ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนต้องร่วมรับผิดกับตัวผู้ประกอบธุรกิจ(ซึ่งหลายครั้งเป็นพวกบริษัทหรือที่เรียกว่า นิติบุคคล)ได้  หากปรากฎว่านิติบุคคลดังกล่าวจัดตั้ง  ดำเนินการไม่สุจริตมาแต่ต้น  หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปเป็นประโยชน์แก่บุคคลใดจนไม่พอชำระหนี้

     10. ในการรับผิด  โทษที่เพิ่มเข้ามาซึ่งพิเศษกว่าคดีแพ่งทั่วไป

     10.1 ศาลมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการให้แก้ไข  ซ่อมแซม  ตัวสินค้าได้  แต่หากแก้ไม่ได้หรือแก้ไปก็เป็นอันตราย  ศาลมีอำนาจสั่งให้เปลี่ยนสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้
     10.2 ศาลมีอำนาจสั่งให้เรียกสินค้ากลับคืน  ห้ามผลิตสินค้าเพื่อนำเข้าหรือจำหน่าย  และสั่งให้ประกาศเตือนอันตรายแก่ผู้บริโภคได้

     10.3 ศาลมีอำนาจเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages)  จากผู้ประกอบการได้หากพบว่าผู้ประกอบการไม่สุจริตหรือมีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  โดยถืออัตราดังนี้

               หากค่าเสียหายไม่เกิน 5 หมื่นบาท  :  เรียกได้ไม่เกิน 5 เท่าของความเสียหายที่แท้จริง
               หากค่าเสียหายเกิน 5 หมื่นบาท  :  เรียกได้ไม่เกิน 2 เท่าของความเสียหายที่แท้จริง



  นี่คือหลักคร่าวๆของคดีผู้บริโภคที่ทำให้คดีผู้บริโภคแตกต่างจากคดีทั่วไปค่ะ  หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ สวัสดีค่ะ
               

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความผิดต่อแผ่นดิน กับ ความผิดต่อส่วนตัว




     เมื่อเช้าดูข่าวเกี่ยวกับการลักทรัพย์  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  "สุดท้ายยอมความกันไปแล้ว"  แล้วรู้สึกไม่สบอารมณ์  อยากเดินไปสะกิดบอกว่า  "คุณขา  หากผิดลักทรัพย์จริงยอมความไม่ได้นะคะ  ลักทรัพย์เป็นความผิดอาญาแผ่นดินค่ะ  ต่อให้เจ้าทรัพย์ได้ทรัพย์คืนไม่เอาเรื่องแล้วก็เถอะ...
      ....เว้นแต่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว  อัยการเห็นว่าฟ้องไปไม่เป็นประโยชน์  จะไม่สั่งฟ้อง  หรือสั่งยุติการดำเนินคดี  นั่นก็อีกเรื่อง,,,"

     คิดๆไปเลยจะสรุปเรื่อง  ความผิดอาญาแผ่นดิน  กับ  ความผิดต่อส่วนตัวไว้  ณ  ตรงนี้  เลยดีกว่า



     นอกจากสามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะความผิดแล้ว  ในทางปฏิบัติ  การกระทำที่มีโทษอาญาสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท

          1.  ความผิดต่อแผ่นดิน  หรือ  ความผิดอันยอมความไม่ได้  ได้แก่  ความผิดที่มีโทษทางอาญาทุกชนิดที่ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่า  "เป็นความผิดอันยอมความได้"
                เป็นความผิดต่อแผ่นดินทั้งหมด

          2.  ความผิดต่อส่วนตัว  หรือ  ความผิดอันยอมความได้  ได้แก่  ความผิดที่มีกฎหมายระบุไว้ว่า  "ยอมความได้"  หากพิจารณาเฉพาะจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว  มีดังนี้

          2.1  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ได้แก่  ข่มขืน  ทำอนาจาร  ในกรณีที่กระทำต่อบุคคลที่มีอายุมากกว่า 15 ปี,  กระทำโดยไม่มีอาวุธ,  ไม่มีลักษณะเป็นการโทรมหญิง  ,เหยื่อไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย  กรณีเหล่านี้ยอมความได้

           2.2  บังคับให้ผู้อื่นทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง(มาตรา 309)  กักขังหน่วงเหนี่ยวให้ปราศจากเสรีภาพ(มาตรา 310)  หรือทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยประมาท(มาตรา 311)  ยอมความได้
                  เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำไม่ใช้อาวุธ  หรือผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัส  หรือถึงแก่ความตาย  เท่านั้นนะ  ที่ยอมความได้
                  เมื่อใดก็ตามที่เหยื่อได้รับอันตรายสาหัส  หรือถึงตาย  ยังไงก็ยอมความไม่ได้ค่ะ  จำง่ายๆ

          2.3  ความผิดฐานเปิดเผยความลับ  (มาตรา 322-325)

          2.4  ความผิดฐานหมิ่นประมาท

          2.5  ความผิดฐานฉ้อโกง  เว้นแต่ฉ้อโกงประชาชน

          2.6  ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          2.7  ความผิดฐานยักยอก

          2.8  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  เฉพาะกรณีทำต่อทรัพย์ของเอกชน(คือของประชาชนทั่วๆไป)  หรือทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นสาธารณสมบัติ

          2.9  ความผิดฐานบุกรุก  เฉพาะกรณีบุกรุกตอนกลางวัน  บุกรุกคนเดียว  บุกรุกโดยไม่มีอาวุธ  หรือไม่มีการประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้าย

         ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานอกจากที่กล่าวมานี้  เป็นความผิดต่อแผ่นดิน



          ความผิดต่างประเภทกันมีผลในทางปฏิบัติต่างกันอย่างไรบ้าง

     ในทางปฏิบัติ  ความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัวมีผลต่อการดำเนินคดีดังนี้


  1.  การยอมความ  :  หากเป็นความผิดต่อแผ่นดินจะไม่สามารถยอมความได้  หรืออีกนัยหนึ่ง  ไม่สามารถยุติคดีได้ด้วยการที่สองฝ่ายมาเจรจาผ่อนปรนต่อกัน  ไม่ว่าผู้เสียหายจะว่าอย่างไร  ก็ต้องมีการสอบสวนเพื่อส่งให้อัยการฟ้องคดี  หรือหากผู้เสียหายจะฟ้องคดีเองก็สามารถดำเนินการได้เต็มที่

       ส่วนความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้นั้น  เมื่อใดก็ตามได้ความว่ามีการยอมความกันแล้ว  ผู้เสียหายไม่เอาเรื่องแล้ว  อำนาจในการสอบสวน  สิทธิในการดำเนินคดีของผู้เสียหายและอัยการหมดทันที

        หมดแล้วหมดเลยด้วย  ไม่มีสิทธิย้อนกลับ


  2.  อายุความ  :  คดีอาญาแทบทุกประเภทล้วนมีอายุความในการดำเนินคดีแตกต่างกันโดยยึดตามอัตราโทษอย่างสูงของความผิดนั้นเป็นสำคัญ  แต่หากเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้วล่ะก็  จะมีอายุความเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอายุความ  ตามปอ.มาตรา 96  ซึ่งวางหลักไว้ว่า  ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือดำเนินคดี(ดำเนินคดีนี่แนวฎีกา)ภายในสามเดือน  นับแต่รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด  คดีเป็นอันขาดอายุความ

       ดังนั้นแล้ว  หากไม่แน่ใจว่าท่านโดนกระทำอะไรกันแน่  กรุณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง  จะฟ้องคดีหรือจะร้องทุกข์ก็เลือกเอา  ภายในสามเดือนไว้ก่อน  เกิดหวยไปออกว่าคดีเรายอมความได้ขึ้นมา  จะได้ไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความในทางกฎหมายอาญาถือเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ  มีประเด็นขึ้นมาศาลยกฟ้องสถานเดียว

       คนเรียนเองยอมรับว่าอ่านแล้วขัดอกขัดใจไม่น้อยที่เห็นคนไม่ดีหลุดคดีด้วยเหตุนี้  แต่กฎมันเป็นอย่างนี้ก็ต้องว่าตามกันไป...


  3.  การร้องทุกข์  :  ในความผิดต่อแผ่นดิน  พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องได้รับคำร้องทุกข์  เพียงสงสัยหรือมีการกล่าวโทษก็สามารถทำการสอบสวนได้  แต่ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  หากไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบ  พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน  ส่งผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีตามไปด้วย

     เช่น  หากมีเหตุฆ่าคนตาย  ถ้าญาติคนตายมาแจ้งความ  ดังนี้ตำรวจซึ่งมีอำนาจสอบสวนสามารถสอบสวนเอาผิดกับคนฆ่าได้  หรือต่อให้ตำรวจเห็นเอง  หรือได้ยินใครร้องโหวกเหวกว่ามีคนตาย  แค่นี้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีได้แล้ว  เพราะความผิดฐานฆ่าคนตายเป็นอาญาแผ่นดิน  พนักงานสอบสวนสามารถสอบสวนดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์
             แต่หากเป็นกรณีความผิดยอมความได้  เช่น  ผู้หญิงถูกข่มขืน  ถ้าเจ้าทุกข์เองไม่มาแจ้งความ  หรือไม่มอบอำนาจให้ใครมาแจ้งความเอาผิดกับจำเลยแล้วล่ะก็  ตำรวจไม่มีอำนาจทำคดี  เพราะข่มขืนเป็นความผิดอันยอมความได้
             อ่อ  อย่าลืมแจ้งภายในสามเดือนด้วยล่ะ  เดี๋ยวขาดอายุความขึ้นมาจะยุ่งอีก


   สามเรื่องนี้เป็นสามเรื่องใหญ่ๆที่นึกออกอันเป็นผลโดยตรงมาจากข้อแตกต่างระหว่างคดีความผิดต่อแผ่นดินและความผิดอันยอมความได้  นอกจากนี้ก็เช่น  ในคดีความผิดต่อส่วนตัว  ถ้าเจ้าทุกข์ยื่นฟ้องแล้วถอนฟ้องไป  อัยการฟ้องใหม่ไม่ได้  อะไรแบบนี้



      คราวหน้าเจอใครบอกว่าลักทรัพย์ยอมความกันไปแล้ว  ก็เถียงเขาไปเลย


      ลักทรัพย์เป็นความผิดต่อแผ่นดิน  ยอมความไม่ได้จ้าาา



       สวัสดี...



 ปล.  ส่วนคดีข้างต้นน่ะ  เราว่าเพราะดูแล้วมันเป็นเรื่องตั้งใจจะซื้อของแต่ยังไม่จ่ายตังค์  ซึ่งหากเป็นกรณีนี้จะเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งธรรมดา  เสียมากกว่า  เรื่องมันเลยจบไปได้

     เพราะฉะนั้น  หากคุณมีเจตนาจะซื้อของจริง  เพียงแต่ยังไม่แน่ว่าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่  คุณแค่ผิดสัญญาซื้อขาย  ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง  ตำรวจไม่มีสิทธิจับคุณ
      มีอะไรก็เข้าศาลแพ่งไปละกัน  แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จ่ายๆไปเถ้ออ

     แต่  ถ้าตั้งใจจะเอาของเขาโดยไม่มีเจตนาจะจ่างสตางค์เลยล่ะก็....

     คุก....นะจ๊ะ            

   
   

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความรับผิดในทางอาญา (1) update !



   ขอออกตัวก่อนนะว่าอันนี้มาจากที่ตัวเองสรุป  ไม่ได้อิงหนังสือเล่มไหนทั้งสิ้น  ดังนั้นหลักการที่ได้อาจไม่ได้ตรงกับตำรา  คนทำเน้นแค่ว่าตัวเองอ่านรู้เรื่องเท่านั้นพอ




                 ความรับผิดในทางอาญา

     มีหลัก 2 ประการ

             1.  ต้องรับผิด  ตามมาตรา ๕๙ วรรค ๑, ๒, ๔, ๕,  มาตรา ๖๐,  มาตรา ๖๑,  มาตรา ๖๒ วรรคท้าย,  มาตรา ๖๓,  มาตรา ๖๔  และมาตรา ๖๖

             2.  ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนโทษ

                      -  ด้วยความบกพร่องด้านองค์ประกอบความผิด  ตามมาตรา ๕๙ วรรค ๓,  มาตรา ๖๒,  มาตรา ๖๔,  มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖

                      -  เลวเพราะถูกกระทำ  ตามมาตรา ๖๗,  มาตรา ๖๘,  มาตรา ๖๙  และมาตรา ๗๒

                      -  กรณีพิเศษตามมาตร ๗๐ และมาตรา ๗๑

                      -  ได้รับการลดหย่อนโทษเพราะอายุ  ตามมาตรา ๗๓ - ๗๗

                      -  การบรรเทาโทษ  ตามมาตรา ๗๘ และมาตรา ๗๙



                1.  ต้องรับผิด

          ตามมาตรา ๕๙

     มาตรา ๕๙ วรรค ๑  บัญญัติว่า  "บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา"

       วรรค ๒  "กระทำโดยเจตนา  ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น"

       วรรค ๔  "กระทำโดยประมาท  ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

       วรรค ๕  "การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"


        สรุป

     (1)  องค์ประกอบความรับผิดทางอาญามีสององค์ประกอบ  หนึ่งคือองค์ประกอบภายนอก  ซึ่งคือเกิดผลของความผิดทางอาญาขึ้น  สองคือองค์ประกอบภายในคือเจตนาจะกระทำผิด  เว้นแต่ได้กระทำโดยประมาทในฐานความผิดซึ่ง  แม้ประมาทก็ผิด
            ส่วนกรณีไม่เจตนา  ไม่ประมาท  แค่ผลเกิดก็ผิดนั้น  ได้แก่พวกความผิดลหุโทษทั้งหลาย  ยกเว้นกรณีทำร้ายตามม. ๓๙๑

     (2)  กระทำโดยเจตนา  คือ  รู้  ว่าตัวเองกำลังอะไร  และ  รู้  หรือ  คาด  ได้ว่า  หลังจากทำแล้ว  อะไรจะเกิดขึ้น
            เช่น  ยกปืนเล็งและยิงไปยังคนตรงหน้า  ดังนี้  รู้  ว่าตัวเองกำลังยิง  รู้  ว่าที่จะถูกยิงคือคน  และ  รู้  ว่ายิงแล้วเขาต้องตายหรือบาดเจ็บ  ดังนี้เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  หรือพยายาม  แล้วแต่ว่าตายมั้ย  ซึ่งกรณีนี้ภาษากฎหมายเรียกว่า  เจตนาโดยประสงค์ต่อผล(ผลคือความตายหรือบาดเจ็บ)
            แต่ถ้าเล็งปืนไปยังกลุ่มคน  กรณีนี้แม้จะ  รู้  ว่าตัวเองกำลังจะยิงคน  แต่ก็ยัง  ไม่แน่  ว่าจะโดนใคร  แต่คือ  คาดเห็น  ได้แน่ว่า  ยิงไปแล้วโดนแน่  กรณีนี้ถือว่าเป็นการฆ่าคนโดยเจตนาเช่นกัน  แต่เป็นเจตนาโดย  ย่อมเล็งเห็นผล

     (3)  ประมาท  คือ  ไม่ใช้ความระมัดระวังให้ควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น  โดยอิงตามวิสัยหรือตามความคาดเห็นของวิญญูชน  หรือคนทั่วๆไป  เช่น  ขับรถเร็วในเขตชุมชนหรือทางแยก  ขับรถไปคุยโทรศัพท์ไป  ดังนี้ถือว่าประมาท
            ตามฎีกาใหม่  การเข้าไปแย่งปืนจากคนเมาซึ่งรู้อยู่แล้วว่าแค่เอามาถือเฉยๆไม่ยิง  จนเป็นเหตุให้กระสุนลั่นโดนคนเมาตาย  ดังนี้ถือว่าคนแย่งปืนประมาท(ฎีกาที่ 9210/2556 อย่างไรก็ดี  ฎีกานี้ออกผู้ช่วยรอบที่แล้วไปแล้วค่ะ  ไม่รู้จะออกอีกมั้ย)

     (4)  กรณีตามวรรคท้าย  การกระทำโดยงดเว้น  โดยปกติคนจะผิดได้ต้องมีการกระทำและผลเกิดขึ้น  แต่วรรคนี้บัญญัติว่า  หากอยู่เฉยๆแล้วปล่อยให้ผลเกิดขึ้นก็เป็นความผิดเหมือนกัน  แต่จะผิดตามนี้ได้ต้องได้ความว่า  ผู้กระทำโดยงดเว้นมีหน้าที่ป้องกันผลที่เกิดขึ้น  โดยหน้าที่ดังกล่าวมาจากหนึ่งในสี่ประการต่อไปนี้

             4.1  ผู้งดเว้นมีหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้รับผลร้าย  เช่น  บิดามารดากับบุตร  สามีภริยาตามกฎหมาย  มีหน้าที่ดูแลกัน  ถ้าพ่อแม่ปล่อยลูกคลานตกตึก  ถ้าลูกปล่อยพ่อแม่อดข้าวตาย  ถ้าใครเห็นคู่สมรสของตนตกน้ำอยู่แล้วไม่ช่วย  ดังนี้ถ้ามีการตายเกิดขึ้น  บุคคลที่ว่าจะผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  เพราะผิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้ตาย

             4.2  ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากการยอมรับเฉพาะเจาะจง  เช่น  หน้าที่ตามสัญญา  จ้างคนมาเป็นการ์ด  การ์ดดันปล่อยให้คนมายิงนาย  ดังนี้การ์ดผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยการงดเว้น(ต่อหน้าที่ของตน)

             4.3  ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อนๆของตน  เช่น  อาสาพาคนตาบอดข้ามถนน  พาข้ามไปได้ครึ่งถนนแล้วทิ้งให้ยืนอยู่กลางถนน  ถ้ามีรถมาชนคนตาบอดตาย  คนพาข้ามผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยงดเว้น

             4.4  ผู้งดเว้นมีหน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง  เช่น  ญาติรับดูแลเด็กในความเป็นจริง  ญาติไม่ใช่พ่อแม่ก็จริง  แต่ถ้าดูแลอยู่ตลอดแล้วจู่ๆปล่อยเด็กตาย  ดังนี้ญาติก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้นะ


          มาตรา ๖๐

     มาตรา ๖๐มีหลักอยู่ว่า  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลไปเกิดกับอีกคนหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาต่อผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น

   -  มาตรานี้ต้องการคุ้มครองผู้เคราะห์ร้ายเพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดอ้างว่า  ตนไม่ได้ตั้งใจทำคนๆนี้  เพราะงั้นตนไม่ผิด  คือถ้าตั้งใจจะทำแล้วเกิดผล  ไม่ว่าใครโดนถือว่าผิดทั้งนั้น  มักเรียกกันว่า  "เจตนาโอน"  คือโอนเจตนาตั้งต้นที่จะทำต่อคนหนึ่งไปยังคนที่โดน  ถือว่าเจตนากระทำต่อคนที่โดน

   -  นอกจากนี้  กรณีที่เป้าหมายถูก  คือตั้งใจจะยิง ก แล้ว ก ถูกยิง  แต่กระสุนพลาดไปโดน ข ด้วย  ถือเป็นตามมาตรานี้เช่นกัน  ต้องถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาทั้งต่อ ก (ตามม ๕๙) และ ข (ม ๖๐)

   -  วรรคท้ายของมาตรานี้อยู่ภายใต้หลัก "รู้"  คือรู้เท่าใดมีเจตนาเท่านั้น  เช่น  ตั้งใจจะฆ่าเพื่อน  แต่ยิงแล้วดันไปโดนแม่ตัวเองตาย  ดังนี้ถือว่าฆ่าแม่โดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา ๖๐  แต่ไม่ถือว่าเป็นบทหนักให้ต้องประหารชีวิตตามมาตรา ๒๘๙(๒)  เพราะเจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจจะยิง "แม่" ตัวเองมาแต่แรก
       แต่  ถ้าตั้งใจฆ่าพ่อแต่ไปโดนแม่  แบบนี้โอนหมด  ถือเป็นเหตุฉกรรจ์  "ฆ่าบุพการี"  โทษประหารนะ

   -  ต้องเป็นการกระทำโดย "เจตนา"  ทั้งนี้รวมกรณี  "ป้องกัน"  และ  "จำเป็น"  ด้วย

   -  ต้องได้ความว่าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำต่อผู้โดนลูกหลง  หรือผู้เคราะห์ร้ายมาแต่ต้น  ถ้าเจตนาจะทำด้วย  เป็น ๕๙ ธรรมดา

   -  มาตรานี้ใช้กรณีผู้เคราะห์ร้ายกับเป้าหมายมีสถานะเดียวกัน  คือ  คนเหมือนกัน  ทรัพย์สินเหมือนกัน  จะทำคนดันไปโดนของ  จะเตะของดันไปถูกคน  ไม่ใช้มาตรานี้

   -  รวมการกระทำขั้น "พยายาม" ด้วย    


          มาตรา ๖๑

  หลัก  ผู้ใดเจตนาจะทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด  ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

   -  หลักเหมือนกับมาตรา ๖๐  แต่มาตรานี้เป็นกรณี  "สำคัญผิด"  ไม่ใช่  "พลาด"  เช่นว่า  จะฆ่า ก  แต่ดันไปยิง ข  ซึ่งเป็นคู่แฝดของ ก แทน  อะไรแบบนี้



          มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓

  ทั้งสองมาตรานี้เป็นมาตราที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นเมื่อกระทำความผิด  โดยหลักตามมาตรา ๖๒  คือ  ถ้าบุคคลจะต้องรับผิดมากขึ้นเพราะข้อเท็จจริงใด  บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ถึงข้อเท็จจริงนั้นด้วย  ตัวอย่างเช่น  สมมติ ก  จะฆ่า  ข  คู่อริ  ก ไปดักซุ่มรอตรงมุมตึกที่ ข ผ่านประจำ  เมื่อมีคนเดินมา ก ก็ยิงปืนไปทันที  ปรากฎว่าคนที่ถูกยิงคือ ค  ซึ่งเป็นพ่อของ ก เอง  ดังนี้  ถือว่า ก ต้องรับผิดแค่ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตาม ๒๘๘ เท่านั้น  ไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการี  เพราะ ก ไม่รู้ว่าคนที่มาให้ตัวเองยิงจะเป็นพ่อของตัวเอง

  ส่วนมาตรา ๖๓ นั้น  วางหลักว่า  ถ้าผลใดทำให้บุคคลต้องรับโทษหนักขึ้น  ผลนั้นต้องเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้  กล่าวคือ  เมื่อกระทำความผิดไปแล้วเกิดผลร้ายอะไรสักอย่าง  หากผลนั้นพอคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด  ดังนี้บุคคลนั้นต้องรับผิดหากผลเกิด  แต่หากผลเกินเลยไป  ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนั้น

  ตัวอย่างเช่น  ดำใช้มีดดาบฟันขาแดงไป 1 ครั้ง  ดังนี้  ดำผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ถ้าแผลดังกล่าวติดเชื้อเพราะหมอรักษาไม่ดีต้องตัดขา  ดังนี้ดำต้องรับผิดฐานทำร้ายแดงจนเสียอวัยวะด้วย  เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่ไกลกว่าเหตุเท่าใดนัก
   แต่  จากตัวอย่างข้างต้น  ถ้าดำฟันขาแดงทีเดียวแล้วหนีไปเลย  แดงล้มทุลักทุเลอยู่ตรงนั้น  ต่อมาขาวเดินมาเห็นแดงบาดเจ็บอยู่  ขาวจำได้ว่าแดงเป็นศัตรูเลยใช้ปืนยิงแดงตาย  ดังนี้  ดำไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าแดงหรือทำให้แดงตาย  เพราะดำมีแค่เจตนาทำร้าย  ดำไม่ได้คาดเห็นว่าแดงจะมีศัตรูมาทำร้ายต่อแบบนั้น  ตามมาตรา ๖๓
  ..............เว้นแต่ดำตั้งใจฟันขาแดงเพื่อให้ขาวมายิง  หรือเรียกขาวมายิงหลังแดงล้มลง  อันนั้นผิดแน่  ผิดฐานตัวการร่วมด้วย  ต้องดูเป็นกรณีๆไป



            มาตรา ๖๔  และ  มาตรา ๖๖

  มาตรา ๖๔  บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิดไม่ได้  คือกฎหมายถือว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย  จะอ้างความไม่รู้ไม่ได้  เว้นแต่กรณีบางกรณีจริงๆ

  มาตรา ๖๖  บุคคลจะอ้างความมึนเมาเพราะเสพของมึนเมามาเป็นเหตุยกเว้นความผิดไม่ได้  เช่นกัน  กฎหมายถือว่า  เมื่อแกเสพ/ดื่ม  เอง  แกต้องรับผิดชอบผลด้วย  เว้นแต่เป็นกรณีถูกบังคับเสพ  หรือไปดื่มอะไรโดยไม่รู้ว่าทำให้เมาได้  แต่ต้องพิสูจน์กันหนักอยู่ไม่น้อย




   เหตุยกเว้นต่อตอนหน้าเนาะ

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

การลงโทษในทางอาญา



     กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายมหาชนอันมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม  ตลอดจนป้องปรามการกระทำผิดต่างๆ  ดังนั้น  กฎหมายอาญาจึงบัญญัติถึงโทษไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืน  หลักในการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามีดังนี้



   1.  โทษทางอาญามีห้าประการ  คือ  ประหารชีวิต  จำคุก  กักขัง  ปรับ  และริบทรัพย์สิน  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘


   2.  ตามมาตรา ๑๘ วรรคท้าย  ห้ามนำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กับผู้ซึ่งกระทำความผิดขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี  หากโทษที่ผู้กระทำเหล่านี้มีโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต  ให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี

      .............อันที่จริงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดโทษหรอก(เป็นสายเหยี่ยว)  แต่กฎหมายเขาว่างี้ก็ว่าตามกันไป........


   3.  สำหรับโทษประหารชีวิต  ให้ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย  ตามปอมาตรา ๑๙


   4.  กรณีจำคุก  บทบัญญัติเกี่ยวกับการจำคุกมีดังนี้

       4.1  กรณีความผิดที่กฎหมายให้ทั้งจำคุกและปรับ  ศาลจะลงจำคุกอย่างเดียวก็ได้  แต่จะปรับอย่างเดียวโดยไม่จำคุกไม่ได้
              เว้นแต่โทษตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติว่าต้องลงทั้งจำทั้งปรับเสมอ  เช่น  โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดฯ
              ในทางปฏิบัติ  หากลงโทษจำคุก  ศาลจะไม่ปรับ  แต่หากรอลงอาญา  ศาลจะปรับ

       4.2  การคำนวนระยะเวลาจำคุก  ให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกทั้งหมดด้วย  เช่น  หากศาลพิพากษาให้จำคุก 1 ปี  แต่จำเลยถูกขังมาแล้วก่อนศาลมีคำพิพากษา 1 เดือน  ดังนั้น  ต้องนำระยะเวลา 1 เดือน  มาหักออกจากโทษทั้งหมดด้วย  รวมแล้วจำเลยต้องถูกจำคุกต่อไปอีก 11 เดือน  เป็นต้น

       4.3  การนับระยะเวลาให้ใช้หลัก 30 วัน  เป็น 1 เดือน  ดังนั้น  อย่าแปลกใจเวลาเห็นข่าวว่าคนนั้นคนนี้ถูกจำคุกเท่านั้นเท่านี้เดือน  เช่น  16 เดือน  เพราะหากตั้งต้นที่เดือนแล้วล่ะก็เวลาจะไม่เท่ากับปีปกติ  เนื่องจากหนึ่งเดือนตามการลงโทษจำคุกจะเท่ากับ 30 วัน  เสมอ  นั่นเอง
              ส่วนปี  คำนวณตามปีปฏิทินปกติ

       4.4 หากโทษสุทธิที่เหลือหลังจากคำนวณแล้วไม่เกินสามเดือน  และข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษมาก่อน  หรือเคยได้รับโทษมาก่อนแต่เป็นโทษที่เกิดจากความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ  ศาลจะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนก็ได้  ตามปอมาตรา ๒๓


   5.  การกักขัง  ให้คุมตัวไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งมิใช่เรือนจำ   หรือที่บ้านของผู้ถูกกักขังก็ได้

        คล้ายๆจำคุก(หรือติดคุกในภาษาชาวบ้าน)  แต่จะหย่อนกว่า  และความจริงมีอยู่ว่า  แทบไม่เคยถูกพูดถึงเท่าใดนัก


   6.  ปรับ  เมื่อได้รับโทษปรับให้ชำระตามที่กำหนด  หากไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน  ศาลมีอำนาจสั่งกักขังแทนค่าปรับได้  ในอัตรา 200 บาท  ต่อหนึ่งวัน  แต่รวมแล้วต้องกักขังไม่เกิน 1 ปี  เว้นแต่กรณีอัตราค่าปรับสูงเกิน 80,000 บาท  ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี  แต่ห้ามเกิน 2 ปี

        ดังนี้  การจะกักขังแทนค่าปรับนั้นต้องได้ความว่ามีการลงโทษปรับเกิน 200 บาท

        หากกักขังครบจำนวนค่าปรับ  หรือมีการนำค่าปรับมาชำระครบถ้วน  ให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที


   7.  การริบทรัพย์สิน  มีหลักดังนี้

       7.1  ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้  มีสามประเภท

          (1)  ต้องริบเสมอ  ตามปอมาตรา ๓๒  ซึ่งวางหลักว่า  ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น  ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด  หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่  กรณีนี้พิจารณาที่ตัว "ทรัพย์"  เป็นหลัก  ว่าโดยสภาพของทรัพย์นั้น  ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือไม่  เช่น  ยาเสพติด  ปืนเถื่อน(ทางปฏิบัติ  สองอย่างนี่แหละเยอะสุด)  หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์  ถ้าเป็นทรัพย์ประเภทนี้  ริบสถานเดียว

          (2)  เป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้  ทรัพย์สินประเภทนี้ได้แก่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อกระทำความผิด  หรือได้มาจากการกระทำความผิด  โดยทั่วไปแล้ว  ทรัพย์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย  เพียงแต่ถูกใช้เพื่อกระทำผิดกฎหมาย  หรือได้มาโดยมิชอบ  เช่น  เอาปืนมีทะเบียนไปลักทรัพย์  หรือเงินจากธนาคารที่ปล้นมาได้  เป็นต้น

                อย่างไรก็ดี  หากพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์เหล่านี้เป็นของผู้ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเลย  ศาลจะไม่ริบก็ได้  เช่น  ทรัพย์ของเหยื่อ(กรณีปล้นมา)  หรือมาพิสูจน์ได้ว่าตอนที่ให้ยืมปืนเนี่ยไม่รู้จริงๆนะว่าคนยืมมันจะเอาไปฆ่าคน  ไรงี้

       (3)  ลูกผสม  ตามหลักคือต้องริบ  เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของผู้ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย  ซึ่งกรณีนี้จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าพนักงาน  หรือการให้รางวัลจูงใจให้มีการกระทำความผิด  ปกติเงินส่วนนี้ต้องริบเสมอ  เว้นแต่มีผู้มาอ้างว่าเงินจำนวนนี้เป็นของตนซึ่งตนไม่รู้จริงๆว่ามีการให้สินบนกัน
             ...........ความเห็นส่วนตัว - ท่าทางจะพิสูจน์ยาก

       7.2  การขอคืนของกลาง  จะเห็นได้ว่าจากข้อ 7.1  กรณีที่สองและสามนั้น  เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงสามารถขอให้ปล่อยของกลางหรือขอคืนของกลางได้  โดยหลักการคือต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายใน 1 ปี  นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  โดยต้องกล่าวอ้างและนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อให้ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนจริงๆ  ไม่ใช่ของผู้กระทำความผิด  และตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยเลยกับการกระทำผิดนั้น  เช่น  ไม่รู้จริงๆว่าทรัพย์ตนจะถูกใช้ในการกระทำความผิด  หรือเก็บทรัพย์ไว้ดีแล้วแต่ผู้กระทำความผิดมาหยิบไปเอง

             ข้อควรระวัง  การแค่เตือนเฉยๆและไม่เก็บให้ดี  ปล่อยให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ไปกระทำความผิด  เคยมีคำพิพากษามาแล้วว่า  ถือว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด


       7.3  การริบทรัพย์  กรณีศาลสั่งริบทรัพย์แล้วไม่ส่งทรัพย์ที่สั่งริบ  ศาลมีอำนาจสั่งยึด  ให้ใช้ราคาเท่ากับทรัพย์นั้น  หรือกักขังผู้ถูกสั่งริบทรัพย์ได้


   8.  สุดท้ายและท้ายสุด  โทษทางอาญาเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด

        อย่างไรก็ดี  กรณีริบทรัพย์สิน  แม้ผู้กระทำผิดตายก็ต้องริบ  เว้นแต่จะได้ความว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ตามมาตรา ๓๓ (ข้อ 7.1 (2))  ซึ่งตกทอดแก่ทายาทผู้ไม่ได้รู้เห็นด้วยในการกระทำความผิด

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กฎหมายอาญาภาคทั่วไป ว่าด้วยเรื่องการใช้กฎหมายอาญา



    คุยกับน้องสาวคนสนิทแล้วรับปากว่า  นั่งสรุปอาญาเสร็จเมื่อไหร่จะให้อ่าน  แต่เห็นลายมือตัวเองแล้ว  ละเหี่ยใจ  เอาแบบนี้ก็แล้วกัน  จะได้ทวนตัวเองอีกรอบ  แถมยังอ่านรู้เรื่องกว่าด้วย
    แต่อย่าคาดหวังอะไรมาก  คนเขียนก็ไม่ได้เก่งอะไร  แค่สรุปไว้อ่านเอง  อาจมีศัพท์ไม่ค่อยวิชาการเท่าใดนักโผล่มาบ้างไม่มากก็น้อย


   

             กฎหมายอาญา


    กฎหมายอาญาแบ่งออกเป็นสามภาค  ภาคทั่วไป  ภาคความผิด  และภาคลหุโทษ  มาว่ากันตั้งแต่ต้นเลยดีกว่า


    มาตรา ๑  เป็นบทนิยามศัพท์  และเรื่องอันจะออกสอบหัวข้อแรกเริ่มกันที่มาตรา ๒




         การใช้กฎหมายอาญา

    หมวดนี้เป็นหลักที่ว่า  การกระทำจะต้องรับผิดเมื่อใดบ้าง  หลักการมีอยู่ว่า


  1.  ตามมาตรา ๒  บัญญัติว่า  "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำในสิ่งที่กฎหมายขณะนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิด  และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น  ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย..."

     ส่วนวรรคสองจะมีใจความสำคัญคือ  ถ้าภายหลังมีกฎหมายยกเว้น(คือทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป)  ให้ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด  (ศาลต้องยกฟ้องตามปวิอ.มาตรา ๑๘๕)  ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ  ให้ถือว่าไม่เคยต้องโทษ  ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้โทษสิ้นสุด(คือต้องปล่อย)
  
    สรุปคือ  ถ้าสิ่งที่ทำมีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  ก็ต้องรับโทษ  จนกว่าจะมีกฎหมายออกมาบอกว่า  ไม่ผิดอีกต่อไป  
    ......จบ


  2.  หลักตามมาตรา ๓  "กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษไม่ได้.."  แต่ย้อนหลังเป็นคุณได้  กล่าวคือ  หากมีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วกำหนดโทษใหม่หนักกว่าโทษเดิม  ดังนี้จะนำโทษใหม่ไปเพิ่มโทษให้ผู้กระทำผิดก่อนวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับไม่ได้  เช่น  ไปทำร้ายร่างกายคนเมื่อ 1 มค 59  ศาลลงโทษจำคุกสองปี(ตามปอ.ม ๒๙๕  ทำร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย  จำคุกไม่เกินสองปี)  ต่อมาสมมติมีกฎหมายใหม่เพิ่งบังคับเมื่อวานบอกว่า  ให้การทำร้ายแบบนี้ต้องมีโทษอย่างสูงไม่เกินสามปี  ดังนี้จะไปเพิ่มโทษจำเลยเป็นสามปีไม่ได้  ประเด็นสำคัญอื่นๆเช่น

  -  เฉพาะการเพิกถอนหรือบังคับกฎหมาย  ไม่รวมการเพิกถอนหรือกฎการเลือกตั้ง

  -  เฉพาะกฎหมายอาญา  หรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น

  -  หลักคือ  ไม่ว่าจะใหม่หรือจะเก่า  หากเลือกได้  ต้องใช้ฉบับที่เป็นคุณมากกว่า  เช่น  โทษเบากว่า  อายุความสั้นกว่า  ลงแก่ผู้กระทำผิด    



         ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา  

    หลัก  -  โดยหลักแล้ว  ศาลไทยจะลงโทษเหตุที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทยไม่ได้  เว้นแต่เป็นกรณีที่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างใดอย่างหนึ่งกับราชอาณาจักรไทย  ดังนี้


     1.  หลักเขตแดน

   1.1  ผู้ใดกระทำผิดในราชอาณาจักรไทย  ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย  ตามมาตรา ๔ วรรค ๑

   1.2  การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยาน(เครื่องบิน)ไทย  ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย  ตามมาตรา ๔ วรรค ๒
          เรือไทยหรืออากาศยานไทยในที่นี้  หมายถึง  เรือหรือเครื่องบินซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย  พูดอีกนัยหนึ่งคือ  จดทะเบียนมีสัญชาติไทย

   1.3  ส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย  

     (1)  มองที่การกระทำ  -  มีการตระเตรียมการ(กรณีกฎหมายบัญญัติว่าการตระเตรียมเป็นความผิด)  การพยายาม  การลงมือ  หรือผล  แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือมากกว่า  เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย  ตามมาตรา ๕

     (2)  มองที่ตัวบุคคล  -  มีผู้ใช้  ตัวการ  หรือผู้สนับสนุน  ในการกระทำผิดในราชอาณาจักร  หรือถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร  แม้จะใช้  ร่วมมือ  หรือสนับสนุนอยู่นอกราชอาณาจักร  ก็ให้ถือว่าอยู่ในราชอาณาจักร  ตามมาตรา ๖


     2.  หลักบุคคล  

   2.1  ตามมาตรา ๘  กรณีความผิดเกิดนอกราชอาณาจักร  แต่ผู้กระทำความผิด  หรือ  ผู้เสียหาย  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย  และฝ่ายที่เป็นผู้เสียหายหรือประเทศของผู้เสียหายขอให้ไทยลงโทษ  ก็ลงโทษในประเทศไทยได้  

   ถามว่าความผิดใดบ้างที่ลงโทษในกรณีนี้ได้  คำตอบคือแทบทุกอย่าง  ยกเว้น  

  -  ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

  -  พวกความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  แขกบ้านเมือง  ก่อการร้าย  หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือต่อเจ้าพนักงาน  ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ - ๒๑๖

  -  ความผิดฐานทำแท้ง  

  -  ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

  -  ความผิดฐานบุกรุก  

  -  ความผิดเกี่ยวกับศพ

  -  ความผิดลหุโทษ

   2.2  ตามมาตรา ๙  กรณีเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๔๗ - ๑๖๖  และมาตรา ๒๐๐ - ๒๐๕  นอกราชอาณาจักร  ต้องรับโทษในราชอาณาจักร


     3.  ข้อยกเว้น

  ตามมาตรา ๗  ความผิดบางประการ  แม้ไม่เกิดในราชอาณาจักร  แม้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย  ศาลไทยก็สามารถลงโทษได้  หรืออีกนัยหนึ่งคือ   ความผิดที่แม้กระทำนอกราชอาณาจักร  ก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร  มีดังต่อไปนี้

   3.1  ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร  ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ - ๒๑๖  รวมไปถึงความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามมาตรา  ๑๓๕/๑ - ๑๓๕/๔

   3.2  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงเงินตรา  แสตมป์รัฐบาล  ตั๋วเงิน  และใบหุ้น  ตามมาตรา ๒๔๐ - ๒๔๙,  ๒๕๔,  ๒๕๖,  ๒๕๗  และ  ๒๖๖(๓)  และ (๔)

   3.3  ความผิดด้านการค้ามนุษย์เพื่อการอนาจาร  พูดง่ายๆคือ  ความผิดเกี่ยวกับการค้าโสเภณี  ตามมาตรา ๒๘๒  และ  ๒๘๓

   3.4  ความผิดฐานปล้นทรัพย์และชิงทรัพย์ในทะเลหลวง


แถม  :  ความผิดต่อไปนี้หากเกิดนอกราชอาณาจักร  จะลงโทษในราชอาณาจักรไม่ได้เลย  เนื่องจากไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา  ๗ ถึง ๙ เลย  นั่นคือ  ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม(มาตรา ๑๖๗ ถึง ๑๙๙)  ความผิดเกี่ยวกับศาสนา(มาตรา ๒๐๖ ถึง ๒๐๘)  ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน(มาตรา ๒๐๙ ถึง ๒๑๖)  ความผิดเกี่ยวกับการทำแท้ง(มาตรา ๓๐๑ ถึง ๓๐๕)  และความผิดฐานบุกรุก(มาตรา ๓๖๒ ถึง ๓๖๖)  



         หลักการลงโทษ

   กฎหมายอาญามีหลักอยู่หลักหนึ่งที่ว่า  "บุคคลไม่ต้องรับผิดซ้ำสองในการกระทำครั้งเดียวของตน"  และหลักนี้ได้รับการนำมาใช้ในหมวดว่าด้วยการใช้กฎหมายอาญาเช่นกัน  กล่าวคือ  กรณีซึ่งบุคคลได้กระทำผิดและถูกลงโทษหรือพิพากษาว่าไม่มีความผิดจากการกระทำใดการกระทำหนึ่งของตนมาแล้ว  ศาลอีกประเทศหนึ่งจะมาลงโทษผู้นั้นหรือตัดสินเป็นอื่น(จากพยานและหลักฐานเดียวกัน)เพื่อเอาผิดบุคคลนั้นอีกไม่ได้  

   หลักการดังกล่าวได้แตกออกเป็นสองกรณี  ตามมาตรา ๑๐  และ ๑๑  โดยตามมาตรา ๑๐  นั้นเป็นกรณีของผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักร  ได้รับโทษนอกราชอาณาจักร  ต่อมาเข้ามาในราชอาณาจักร  ส่วนกรณีตามมาตรา ๑๑  นั้นเป็นกรณีของผู้กระทำผิดในราชอาณาจักรแต่รับโทษนอกราชอาณาจักร  ต่อมาเข้ามาในราชอาณาจักร

    อย่างไรก็ดี  หลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นเช่นกัน  ข้อยกเว้นแรกคือ  กรณีซึ่งผู้กระทำผิดถูกพิพากษาให้ลงโทษแล้ว  แต่ยังไม่พ้นโทษ  หรือยังรับโทษไม่ครบ  แล้วเข้ามาในอีกประเทศหนึ่ง  ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้  หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  

    ข้อยกเว้นที่สองของมาตรา ๑๐  และ ๑๑  คือ  ความผิดอันบัญญัติไว้ในมาตรา ๗  อันเป็นความผิดซึ่งแม้ทำนอกราชอาณาจักรก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร  ความผิดเหล่านี้นอกจากจะสามารถพิพากษาลงโทษได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องมีจุดเกาะเกี่ยวแล้ว  ยังสามารถพิพากษาลงโทษซ้ำสองในความผิดครั้งเดียวได้อีกด้วย  




  เฮ้ออ  จบเสียที  สำหรับเรื่องใหญ่เรื่องแรกซึ่งสามารถออกสอบได้

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

การดำเนินคดีแพ่ง : เมื่อท่านถูกฟ้องคดี


    กล่าวถึงฟากโจทก์ไปแล้ว  มากล่าวถึงฟากจำเลยกันบ้าง..

 
    เมื่อเคราะห์หามยามไม่ค่อยจะดีมาถึง  จะมีพนักงานไปรษณีย์หรือพนักงานศาลมากดกริ่งหน้าบ้านท่าน  พร้อมเอกสารชุดหนึ่ง  มีใจความว่า

    "มีผู้ฟ้องท่านเป็นจำเลยในคดีแพ่งค่ะ"

    ช็อค !  โอเค  อนุญาตให้ช็อคได้  แต่อย่าตกใจนาน  เรามีเรื่องให้ดำเนินการกันอีกมาก  เริ่มกันเลย




 1.  ลำดับแรก  ตรวจดูสำเนาคำฟ้องและเอกสารประกอบเสียก่อน(โดยมากจะเป็นสำเนาพยานเอกสารต่างๆที่สำคัญ)  เพื่อดูว่าใครฟ้องเรา  ฟ้องเรื่องอะไร  มีเหตุผลใดประกอบบ้าง  เพื่อที่ว่าเราจะได้หยิบประเด็นที่เขาว่ามานั้นน่ะ  มาทำคำให้การตอบกลับไป

      หากไม่มั่นใจจะวิ่งไปหาทนายที่ใดก็ได้  แต่หากคิดว่าอยากเตรียมตัวเองไว้ก่อนบ้าง  ขอเชิญอ่านข้อต่อไป



 2.  ทำคำให้การ  คำให้การคือกระบวนพิจารณาใดๆซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง  ซึ่งในที่นี้ก็คือ  เอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเราต้องทำเพื่อโต้แย้งคำฟ้องที่มีผู้ฟ้องเรามา

      แล้วต้องทำอย่างไร?  ประการแรก  ควรทำเป็นหนังสือ  แม้จะมีบางคดีที่สามารถโต้แย้งด้วยวาจาได้ก็ตาม  เพื่อความปลอดภัยในการสู้คดี  ควรทำเป็นหนังสือจะดีกว่า  จะได้มีหลักฐานเก็บไว้ด้วย  ก่อนอื่น  คำให้การต้องใช้แบบฟอร์มของศาล  จะดาวโหลดจากอินเตอร์เนตหรือไปขอที่ศาลก็ได้  เมื่อได้เอกสารมาแล้ว  มาเริ่มกรอกกันเลย  ในส่วนชื่อที่อยู่หรือข้อมูลส่วนตัวคงไม่ต้องแนะนำกระมัง  คงจะกรอกกันได้โดยสวัสดิภาพ

     มาว่ากันต่อเรื่องเนื้อหาของคำให้การกันบ้าง  มีหลักกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งเขียนไว้ว่า  "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า  จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้อหาของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน  รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น"  ซึ่งหมายถึง  ให้เรากล่าวไปในคำให้การว่า  สำหรับข้อหาซึ่งมีผู้ฟ้องมานั้น เรายอมรับหรือไม่ว่ามันจริง  เพราะเหตุใด  แล้วมีข้อโต้แย้งใดใดหรือไม่  มีอะไรบ้าง  หรือเราจะปฏิเสธก็ได้ว่าสิ่งที่เขาฟ้องมานั้นไม่จริง  พร้อมเหตุผลว่าทำไมไม่จริง
     อาจไม่จำเป็นต้องสำนวนเป๊ะแบบกฎหมาย  แต่อ่านแล้วต้องรู้เรื่องว่า  เขียนว่าอะไร  เถียงว่าอะไร  เหตุผลคืออะไร

   เช่น  เขาฟ้องเรามาว่า  เราติดหนี้เขา 300,000 บาทนะ  ชำระเงินต้นบวกดอกเบี้ยมาเสียดีดี
   ...........เราอาจตอบไปว่า  เออ  เราเป็นหนี้จริง  เราจะชำระให้
   ...........หรือเราอาจตอบว่า  เรากู้จริง  แต่เราจ่ายไปครึ่งหนึ่งแล้วนะ  ดูเอกสารสิ...  
   ...........หรือเราอาจเถียงว่า  ฉันไม่ได้กู้  แกปลอมลายเซนฉันลงในสัญญา  บลาๆๆ

     ก็ว่ากันไป


     นอกจากจะยอมรับหรือปฏิเสธแล้ว  กฎหมายยังให้สิทธิเราฟ้องกลับโจทก์ด้วย  ว่าในมูลเหตุที่แกฟ้องฉันมาเนี่ยนะ  แกเองก็ต้องรับผิดต่อฉันเช่นกัน  จะมาเรียกร้องฝ่ายเดียวไม่ได้นะเฟ้ย  ประเด็นสำคัญของหลักนี้มีอยู่ว่า  สิ่งที่จะฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาชี้ขาดไปได้ในคราวเดียวกัน  หาไม่แล้ว  หากฟ้องไปศาลจะบังคับให้เราไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่ง

    เช่น  โจทก์ฟ้องมาว่า  แกซื้อของไม่จ่ายเงิน  จ่ายเงินมาเดี๋ยวนี้  เราอาจเถียงไปว่า  แล้วที่ฉันให้แกเอาของกลับไปเปลี่ยนอะไหล่แกยังไม่ทำเลย  เงินยังไม่ให้เว้ย  เป็นต้น  แบบนี้ฟ้องกลับได้
             แต่ถ้าจะฟ้องกลับว่า  แล้วที่วันก่อนรถแกขับมาชนรั้วบ้านฉันน่ะ  จ่ายค่าเสียหายมา  อันนี้ไม่ได้  ถือว่าไม่เกี่ยวกัน  ไปฟ้องใหม่เถอะ

    ทั้งคำให้การและฟ้องแย้ง  หากมีเอกสารอะไรก็เตรียมไว้ด้วยเน่อ  จะได้ยื่นพร้อมคำให้การไปเลย  มารอยื่นทีหลัง  ประเดี๋ยวศาลตรวจเอกสารแล้วหาอะไรไม่เจอจะยุ่ง  play safe  ไว้ก่อนดีกว่า


     สิ่งที่พึงจำอีกอย่างหนึ่งคือ  คำให้การต้องยื่นภายใน 15 วัน  นับแต่ได้รับหมายสำเนาคำฟ้อง  หรือหากกรณีพิเศษที่ปิดหมายโดยคำสั่งศาล  ก็มีเวลา 30 วัน  ทางที่ดีควรทำให้เสร็จภายในกำหนดดีกว่า  และวิธียื่นคือ  ให้ไปยื่นที่ศาลโดยตรง  ห้ามส่งไปรษณีย์  ดูว่าคำฟ้องมาจากศาลไหนเป็นผู้ส่งก็ไปส่งศาลนั้น

     เพราะหากเราไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด  ศาลจะถือว่าเราขาดนัดยื่นคำให้การ  ซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีด้วยเหตุขาดนัดยื่นคำให้การได้  จะแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชกเลยนะ

     เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ  สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้  โดยหากขอก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การ  ต้องอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การได้  ส่วนหากขอหลังสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การให้อ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การได้
     หลักสำคัญคือ  ต้องเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ  และต้องไม่ได้เกิดเพราะความผิด  ความไม่ใส่ใจ  หรือความหลงลืมของฝ่ายผู้ยื่นเอง  มิฉะนั้นศาลจะไม่อนุญาต



 3.  เมื่อยื่นคำให้การแล้ว  หากในคำให้การเรามีฟ้องแย้งด้วย  และศาลเห็นว่าฟ้องแย้งเราชอบด้วยกฎหมายสามารถกระทำได้  ศาลจะให้สำเนาคำให้การและฟ้องแย้งส่งให้แก่โจทก์
      แนะนำว่าก่อนยื่นฟ้องให้สำเนาหรือซีร็อกเผื่อไปก่อนเลย  จะได้ไม่ต้องไปเตรียมต่อหน้าศาลให้วุ่นวาย

      ลำดับแรก  จงไปเสียค่านำหมายให้เจ้าหน้าที่ศาลซะ  เขาไม่ทำให้จะเสียหายมากกว่าค่าส่งหมาย  เว้นแต่ศาลสั่งให้เราส่งด้วยตัวเอง

      หลังจากนั้น  จนกว่าจะแน่ใจว่าเอกสารไปถึงมือโจทก์  ควรไปเยี่ยมศาลอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานศาลส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งของเราแก่โจทก์หรือยัง  ถ้าส่งไม่ได้เราจะได้เตรียมแถลงเพื่อให้ศาลสั่งอย่างอื่นต่อไป
      ถ้าไม่ทำแล้วเจ้าพนักงานส่งไม่ได้  ศาลจะถือว่าเราเพิกเฉยไม่ดำเนินการในส่วนฟ้องแย้ง  และจำหน่ายฟ้องแย้งของเราเสียจากสารบบความ

     เมื่อส่งสำเนาแก่โจทก์แล้ว  ศาลจะให้เวลาโจทก์ในการยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง 15-30 วัน  แล้วแต่ว่าส่งในรูปแบบไหน  เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว  ให้กลับไปตรวจว่าโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหรือยัง

     หากครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วโจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง  ให้เรามีคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ(แก้ฟ้องแย้ง)ของโจทก์
      คดีหลักจะชนะรึเปล่าไม่รู้  แต่คดีรองนี่  หากเป็นแบบนี้ก็มีโอกาสชนะสูงล่ะ
      แต่ถ้าไม่ยื่นขอ....ศาลอาจจำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งได้  ตามกฎหมายว่าด้วยการขาดนัด

    เกือบลืม  ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง  จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลด้วย  อัตราเดียวกับที่เคยเขียนในส่วนโจทก์  คือ  ไม่มีทุนทรัพย์ - 200 บาท,  ทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสน - ไม่เกิน 2000 บาท,  ไม่เกินห้าสิบล้าน - 2% แต่ไม่เกินสองแสน

    เมื่อสิ้นกระบวนการนี้จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาต่อไป



 4.  จากนั้น  ศาลอาจนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีกี่ประเด็น  และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบในประเด็นใดบ้าง  โดยหากศาลกำหนดวันนัดชี้สองสถานศาลจะแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

      วันชี้สองสถาน  เช่นเดียวกับที่แนะนะฝ่ายโจทก์คือ  ควรมาศาล  เพราะจะได้ทราบว่าใครจะต้องนำสืบเรื่องใด  ฝ่ายใดเป็นผู้นำสืบก่อน  ทั้งยังได้ทราบว่าวันใดใครสืบอะไรบ้าง  จะได้มาฟังมาค้านให้ถูกวัน

       นอกจากนี้  การมาศาลวันนัดชี้สองสถานยังให้ประโยชน์ในกรณีที่  หากศาลกำหนดประเด็นเราไม่ครบถ้วน  เราจะได้ใช้สิทธิโต้แย้งไว้ได้  หากศาลไม่เห็นด้วยอีก  เราก็โต้แย้งอีกเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้  หากไม่มีศาลจะแทบไม่มีสิทธิในส่วนนี้เลย  เพราะกฎหมายจะถือว่าเราทราบแล้วและไม่คัดค้าน  เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ  หรือเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น  เราจึงจะมีสิทธิโต้แย้งได้
        มีสิทธิเสียเปรียบได้นะ



 5.  เมื่อกำหนดวันพิจารณาและสืบพยานแล้ว  ไม่ว่าวันนัดสืบพยานนัดแรกนั้นฝ่ายที่ต้องสืบจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลย(คือฝ่ายเรา)ก็ตาม  ต้องมาศาล  มิเช่นนั้นจะถือว่าขาดนัดพิจารณา

      หากโจทก์ก็ขาดนัดพิจารณาด้วย  ศาลจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ก็รอดไปเปลาะนึงแต่ไม่เด็ดขาด  เพราะการจำหน่ายคดีไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่  ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความ

      หากเราขาดนัดพิจารณาอยู่ฝ่ายเดียว  ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วตัดสินชี้ขาด  ซึ่งโดยมากน่ะ  หากอีกฝ่ายเล่นเกมเป็น  เขาจะสืบให้เสร็จภายในวันเดียวโดยสืบให้ตัวเองมีทางชนะ  แล้วให้ศาลพิพากษาเลย
      จำเลยแพ้แน่

      ถ้าเรามาแต่โจทก์ขาดนัด  ศาลอาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  เว้นแต่ฝ่ายจำเลยขอให้พิจารณาคดีต่อ
      จงทำแบบย่อหน้าที่แล้ว  คือขอให้พิจารณาคดีต่อ  เช่น  ขอสืบพยาน  ขอให้ยกฟ้อง  แล้วนำสืบให้ตัวเองมีทางชนะให้เสร็จภายในวันเดียว  แล้วให้ศาลพิพากษาเลย
      โอกาสชนะมาถึงแล้ว

      อ่อ  กรณีฝ่ายโจทก์ขาดนัด  หากเราฟ้องแย้งไว้ด้วยก็ดำเนินคดีไปรูปแบบเดียวกัน  เพียงแต่ถือว่าเราเป็นฝ่ายโจทก์ในฟ้องแย้ง  และโจทก์ฟ้องแย้งเป็นจำเลย  ก็เท่านั้น



 6.  เมื่อสองฝ่ายมาศาลนัดแรกครบถ้วน  การพิจารณาก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ  จนแต่ละฝ่ายแถลงหมดพยาน  หรือศาลเห็นว่าพอพิพากษาได้แล้ว  สั่งงดสืบพยานและฟังคำพิพากษา

      ถ้าโจทก์ชนะ  เราก็ต้องจ่ายหรือทำอะไรสักอย่างตามที่โจทก์ขอ  เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีต่อไป

      หากเราไม่พอใจ  ก็อุทธรณ์ได้  หลักเดียวกับโจทก์คือดูทุนทรัพย์เป็นหลัก  ถ้าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน 50,000 ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
      ถ้าเป็นคดีฟ้องขับไล่  หากค่าเช่าไม่เกิน 4,000 ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
      คดีไม่มีทุนทรัพย์ประเภทอื่นๆ  อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้เสมอ

      ถ้าเราชนะ  เราก็หลุดพ้น  แต่เชื่อเถอะว่าโจทก์อุทธรณ์แน่  อย่างไรก็ดี  ชั้นอุทธรณ์เราจะไม่ถูกบังคับให้ยื่นคำให้การแล้ว  รอฟังผลไปอย่างเดียวแล้วกัน





      ขอให้โชคดี...